วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

'ดนตรี' ทำให้ลูกคุณฉลาดได้จริงหรือ?





...ที่ว่ากันว่าให้ลูกฟังเพลงตั้งแต่อยู่ในท้อง ทำให้ลูกฉลาดขึ้นเรื่องจริงเป็นอย่างไร? กับทฤษฎี 'โมสาร์ท เอฟเฟค' ได้ผลแค่ไหน? ลองมาฟังคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ

เรื่องของดนตรีกับการพัฒนาสติปัญญาและความสามารถของทารกและเด็ก ดูจะได้รับการกล่าวถึงมาหลายครั้งแล้ว แม้แต่ทารกในครรภ์มารดาผู้เชี่ยวชาญเองก็ยอมรับว่าการให้ดนตรีตั้งแต่อยู่ในท้องจะช่วยเรื่องของพัฒนาการได้มาก



'มติชนออนไลน์' จึงได้ไปสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ นักวิชาการการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย และผู้เขียนหนังสือ 99 วิธีบอกรักลูก และ ดร.แพง ชินพงศ์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จบปริญญาเอกจากสหรัฐ ด้านดนตรีศึกษา สองนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเด็กและดนตรี โดยล่าสุดทางกระทรวงศึกษาธิการ นำเพลงที่อาจารย์ทั้งสองท่านแต่ง ได้แก่ เพลงตึ๊ด..ตี๊ด.. ไปศึกษากับทารกว่ามีส่วนช่วยในเรื่องของพัฒนาการต่างๆ หรือไม่



ดร.สุพาพร กล่าวว่า ดนตรีสามารถให้ทารกฟังได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง เริ่มได้ตอนอายุครรภ์ประมาณ 5 เดือนก็สามารถเปิดเพลงให้ลูกฟังได้แล้ว โดยเพลงที่ควรจะเปิดนั้นจะต้องเป็นเพลงเบาๆ ฟังแล้วผ่อนคลาย เนื่องจากว่าขณะที่ตั้งครรภ์นั้นคุณแม่อาจจะรู้สึกเครียด ทั้งจากการทำงาน ปัญหาภายในบ้าน หรือความกังวลในเรื่องลูก เพลงจะช่วยไม่ให้เกิดความเครียด นอกจากนี้ หากฟังแล้วรู้สึกดี มีความสุข ก็จะช่วยให้หลั่งสารความสุขที่เรียกว่า เอ็นโดฟีน ออกมาด้วย จะส่งผลให้ทารกเป็นเด็กอารมณ์ดี เลี้ยงง่าย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ยังไม่มีผลงานวิจัยชิ้นใดออกมายืนยันได้ชัด แต่สิ่งที่ดีคือการทำให้แม่ท้องรู้สึกมีความสุขนั้นเป็นจุดสำคัญมากกว่า



ดร.แพง กล่าวเสริมว่า แต่มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า เด็กที่อายุครรภ์ 5 เดือนได้ฟังเพลงตั้งแต่อยู่ในท้อง เมื่อคลอดออกมาดูโลกแล้ว ในการศึกษาพบว่าทารกสามารถจดจำเพลงนั้นๆ ที่เคยฟังตั้งแต่อยู่ในท้องได้ หรือแม้แต่เวลาที่คุณพ่อ คุณแม่คุยกับเขาตอนที่อยู่ในท้อง ก็พบว่าเด็กจะหันตามเสียงเรียกนั้นๆ ดนตรีก็เช่นกันเด็กจะมีปฏิกริยาจดจำเพลงที่เคยได้ยินทันที แม้ว่าดนตรีจะตอบสนองต่อการจดจำของทารกและเด็ก แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยออกมายืนยันว่าจะทำให้เด็กฉลาดกว่าเด็กคนอื่นที่ไม่ได้ฟัง เพียงแต่ว่าอาจจะช่วยในเรื่องของการพัฒนาความพร้อมต่างๆ ได้เร็วกว่าเด็กคนอื่นเท่านั้น



ดร.แพง ยังกล่าวถึง 'K448' ซิมโฟนีเลื่องชื่อของ 'โมสาร์ท' ที่ว่ากันว่าทำให้เด็กปราดเปรื่อง ตามทฤษี 'โมสาร์ท เอฟเฟค' ว่า เรื่องนี้ตัวเจ้าของทฤษฎี ดร.ฟรานซิส เราส์เชอร์ เองก็ออกมาแก้ข่าวแล้วว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพียงแต่สื่อเอาไปพาดหัวตีความเอง ความจริงแล้ว ในการศึกษาดร.ฟรานซิส ให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งฟังเพลงของโมสาร์ท เพื่อวัดระดับสติปัญญาของนักศึกษากลุ่มนี้ และก็พบว่าเพลงเปียโน โซนาต้า ในกุญแจดีเมเจอร์ K448 ทำให้ระดับความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ของกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จนเรียกงานวิจัยของตนเองว่า 'โมสาร์ท เอฟเฟค' และยังไม่ได้ทำการทดลองกับเพลงอื่นๆ ดูว่าแตกต่างกันหรือไม่ รวมทั้งกลุ่มตัวอย่างอื่นๆ ด้วย จึงยังสรุปไม่ได้ว่าทำให้คนเราฉลาดขึ้นจริง



'จึงไม่ได้หมายความว่า เราต้องฟังแต่เพลงของโมสาร์ท หรือฟัง 'K448' เท่านั้น เพลงไทยเดิมของเราก็สามารถฟังได้ และเพิ่มระดับสมาธิให้เราได้ เช่น เพลงค้างคาวกินกล้วย ซึ่งล่าสุดทางกระทรวงศึกษาธิการได้นำเพลงนี้ไปทดสองดูกับเด็กนักเรียนว่าจะส่งผลต่อพัฒนาการและระดับสติปัญญาหรือไม่ หรือเพลงอย่าง อัศวลีลา หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปคือ เพลงแก้วหน้าม้า ก็เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองที่ไพเราะ และมีความซับซ้อนของเสียง ซึ่งคล้ายกับ 'K448' อย่างมาก และหากฟังให้ดีจะพบว่า 'K448' ก็คล้ายกับการตีระนาดทุ้ม และระนาดเอกควบคู่กันไป' ดร.แพง กล่าว



ส่วนในการบำบัดเด็กพิเศษนั้น ดร.แพง แนะนำว่า เราเคยศึกษากับเด็กดาวน์ซินโดรมพบว่า การให้ฟังดนตรีจะช่วยเพิ่มสมาธิ และพัฒนาการได้มากขึ้น แม้ในช่วงแรกจะนับว่าช้าอยู่ แต่เมื่อฝึกบ่อยเขาก็จะสามารถฮัมเพลงนั้นๆ ได้ รวมไปถึงเด็กออทิสติก พบว่าดนตรีช่วยเพิ่มสมาธิและความสามารถได้อย่างยอดเยี่ยม เด็กออทิสติกบางคนเพียงแค่ได้ยินเสียง ก็สามารถกดคีย์โน้ตเพลงตามได้แล้ว ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นเราพบว่า 90% สามารถเล่นเพลงยากๆ ที่เด็กปกติเล่นไม่ได้อีกด้วย ที่สำคัญคือดนตรียังช่วยในการเข้าสังคมให้กับเด็กพิเศษเหล่านี้



สุดท้ายนี้ สิ่งที่ดร.สุพาพร อยากจะกล่าวเสริมคือ ดนตรีมีความสำคัญมาก เป็นเสมือนทางลัด หรือทางด่วนของการเรียนรู้ ซึ่งสอดแทรกสาระ และวิชาการลงไป เช่น วิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ที่สำคัญคือควรใช้ดนตรีในการส่งเสริมคุณธรรมด้วย เพราะดนตรีตอบสนองธรรมชาติของเด็กได้อย่างดี



ขณะที่ ดร.แพง กล่าวว่า นอกจากดนตรีจะช่วยเด็กและเยาวชนแล้ว อยากให้มีการนำดนตรีมาช่วยบำบัดสังคมด้วย เช่น ช่วยเหลือชุมชน ดึงเยาาวชนให้เล่นดนตรีแทนการติดการพนันหรือยาเสพติด ช่วยบำบัดคนแก่ หรือคนป่วย เพราะเชื่อว่าดนตรีให้อะไรมากกว่าที่เราคิด



ข้อมูลข่าวโดยมติชนรายวันออนไลน์ วันที่ 8 เมษายน 2551

ข้อมูลจาก http://www.dmh.go.th/sty_libnews/news/view.asp?id=9074

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น