วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เพศสัมพันธ์ กับการตั้งครรภ์

บางคนอาจจะอายที่จะพูดถึงเรื่องนี้นะครับ ผมมีข้อมูลจาก คุณหมอท่านหนึ่ง ชื่อ นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ บทความจาก E-Lib Online มาฝากครับ

แม้จะมีบทเรียนที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "เพศศาสตร์ศึกษา" อยู่ในหลักสูตรการศึกษาในหลายๆ ระดับ แต่ก็ไม่ทำให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะวัยรุ่นมีความรู้ลึกซึ้งเพียงพอ เกี่ยวกับอวัยวะเพศของตนเอง ความรู้เรื่องอวัยวะเพศของเพศตรงข้าม ยิ่งกว่านั้นความรู้เรื่องการร่วมเพศ การคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ ยังไม่เพียงพอที่จะมีผลในเชิงปฏิบัติในชีวิตจริง จึงเกิดผลเสีย ต่อสังคมโดยรวมมากมายหลายประการ รวมไปถึงเรื่องของการ ขาดความสุขในครอบครัว เนื่องจากคู่สมรสหรือสามีภรรยาไม่สามารถ มีความสุขหรือหาความสุขในชีวิตคู่ระหว่างกันได้

จากการสัมภาษณ์สูติแพทย์อาวุโสท่านหนึ่งคือ นายแพทย์อุดมศักดิ์ ศรีแสนงาม เพื่อขอความรู้จากประสบการณ์ที่ปฏิบัติงานด้านสูตินรีแพทย์ มายาวนานว่า
"ความสำคัญของความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา มีมากน้อยเพียงใด"

นายแพทย์อุดมศักดิ์ ศรีแสนงาม ตอบทันทีว่า
มีความสำคัญมาก แม้แต่เรื่องเล็กๆ คือ "การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์" ที่หลายคนมองข้าม ก็อาจเป็นปัญหาได้

พร้อมยกตัวอย่าง ผู้ที่เคยมาขอคำปรึกษาโดยตั้งนามสมมติว่า เป็นคุณสิวิกา วัย 23 ปี ที่กำลังจะเป็นคุณแม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2000 ตอนนี้ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 20 สัปดาห์แล้ว 5 เดือนที่ผ่านมา เธอมีอาการแพ้ท้อง (MORNING SICKESS) ชนิดรุนแรงมาก ชาวตะวันตกส่วนมากจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มักจะเกิดขึ้นในเวลาเช้าๆ แต่สำหรับสาวชาวไทยปรากฏว่า ไม่จำกัดเวลา มักสำแดงอาการ "ฟ้องชาวบ้าน" ได้ตลอดวันไม่มีเลือกกาลเทศะ บางคนเป็นตลอดวัน วันละหลายๆ ครั้ง เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่มีกำหนดแน่นอน โอ๊กๆ อ๊ากๆ คลื่นเหียนอาเจียนเป็นอาชีพเลย เห็นแล้วน่าสงสารมาก

นายแพทย์อุดมศักดิ์ ศรีแสนงาม เล่าต่อว่า เมื่อคุณสีวิกาตั้งครรภ์ ใกล้ครบ 6 เดือน ได้มาปรึกษาเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ควรจะต้องปฏิบัติอย่างไร เพราะตลอดเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา ที่คุณสีวิกาไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์กับสามีมาตลอด จนเธอเกรงไปว่า อาจจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างตัวเธอเองกับสามี เพราะถ้าปล่อยให้อยู่ในสภาพคล้าย "ปิดเทอม" อย่างนี้ต่อไป สามีอาจจะไปหาโรงเรียนใหม่ หรือบ้านใหม่แล้วหรือไม่

นายแพทย์อุมดศักดิ์ ศรีแสนงาม ยังได้เล่าถึง ความรู้สึกต้องการทางเพศของคุณสีวิกาเองว่า โดยความเป็นจริงแล้ว คุณสีวิกามีความรู้สึกต้องการมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น แต่ก็วิตกกังวลว่า จะมีอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ และโดยเฉพาะในช่วงที่เธอ ่มีอาการแพ้ท้อง คุณสีวิภาก็มีไฟปรารถนาเช่นเดียวกัน ซึ่งโดยหลักสรีรวิทยาแล้ว การตั้งครรภ์ทำให้เกิดการคั่งเลือดของอวัยวะเพศ หมายถึง มีเลือดมาหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ย่อมมีความต้องการทางเพศ เพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา การร่วมเพศในระหว่างตั้งครรภ์ จึงไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด เพียงแต่ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ต้องเข้าใจร่วมกันว่า การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้จะต้องปราศจาก ความรุนแรงโดยสิ้นเชิง

นายแพทย์อุดมศักดิ์ ศรีแสนงาม ให้ความรู้อันเป็นประโยชน์ แก่สตรีตั้งครรภ์โดยทั่วไปเพิ่มเติมอีกว่า การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ควรมีข้อพึงระมัดระวัง 7 ประการคือ

1. ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ในสองช่วงเวลา ระยะที่หนึ่งคือ ช่วงเวลาระหว่างการตั้งครรภ์ได้ 1-3 เดือนแรก เพราะการปฏิสนธิกำลังเริ่มต้นก่อตัวและยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ การร่วมเพศในระยะนี้เป็นสิ่งที่ควรละเว้นเสีย เพื่อหลีกเลี่ยงการแท้ง
ระยะที่สองคือ หนึ่งเดือนก่อนครบกำหนดคลอดเพราะระยะนี้ ปากมดลูกอ่อนตัวมาก และมักเปิดได้บ้างเล็กน้อยในรายที่เคยมีบุตรแล้ว หากมีการร่วมเพศอาจไปกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดจริงได้ เพราะฉะนั้น จึงควรงดการร่วมเพศเพียงถนอมสุขภาพมารดา และทารกในครรภ์

2. ควรระมัดระวังเรื่องความสะอาด เพราะอวัยวะเพศชาย มีเชื้อนานาชนิด อาจถูกปล่อยไว้ในช่องคลอดทำให้เกิดอันตรายได้ ภายหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันคือ การทำความสะอาดก่อน แต่ถ้ากลัวมากแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ส่วนการทำความสะอาดของฝ่ายหญิงไม่จำเป็นต้องสวนยา หรือสวนน้ำเข้าไปภายในช่องคลอดเพราะอาจเกิดอันตราย คือ การติดเชื้อโรคลุกลามเข้าไปสู่ทารกในครรภ์ได้ เพียงทำความสะอาด ภายนอกก็เพียงพอแล้ว

3. ในช่วงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ฝ่ายชายสามารถลูบไล้หรือจับต้องฝ่ายหญิงได้ทั่วร่างกาย แต่ไม่ควรจับต้องอวัยวะเพศฝ่ายหญิง และการจับต้องลูบไล้นั้น ควรเป็นการสัมผัสโดยเบาๆ ด้วยมือเท่านั้น สำหรับสตรีที่มีหัวนมบอด ฝ่ายชายอาจกระตุ้นโดยการดูดหัวนทเบาๆ จะทำให้หัวนมยืดออกได้ เท่ากับเป็นการเตรียมหัวนมให้ลูกดูดได้ต่อไปด้วย และขอย้ำว่า การลูบการสัมผัส การดูดหัวนม ต้องทำด้วยความละมุนละไม ปราศจากความรุนแรงโดยสิ้นเชิง

4. ข้อควรระวังระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ก็คือ ฝ่ายชายจะต้องไม่ทิ้งน้ำหนักตัว กดทับลงบนหน้าท้องของภรรยา เพราะอาจจะเกิดการกระทบกระเทือนต่อมดลูกและทารกในครรภ์ได้ จะต้องใช้ความละมุนละไมโดยปราศจากความรุนแรงโดยสิ้นเชิงเช่นกัน และสูติแพทย์ประจำตัวของสตรีที่ตั้งครรภ์หลายท่านน่าจะสามารถ ให้คำแนะนำโดยละเอียดในท่วงท่าที่เหมาะสมในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้ ขอเพียงให้สามีและภรรยาที่ตั้งครรภ์มีความกล้าพอ ที่จะปรึกษาหารือในเรื่องนี้เท่านั้น

5. การมีเพศสัมพันธ์ควรมีกำหนดหรือข้อจำกัดอย่างไร คำตอบคือ ขณะตั้งครรภ์อายุ 3-6 เดือน ควรมีไม่เกินสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง พออายุครรภ์ได้ 5-8 เดือน ไม่ควรเกินเดือนละ 3 ครั้ง ต่อไปพออายุครรภ์ เดือนที่ 9 หรือเดือนสุดท้ายก่อนถึงกำหนดคลอด ไม่ควรเกิน 2 ครั้ง

6. ข้อกำหนดหรือข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้นนั้น อาจไม่เพียงพอสำหรับความต้องการมีเพศสัมพันธ์สำหรับบางคู่สามีภรรยา ในกรณีเช่นนั้นสามีภรรยาน่าจะมีความเห็นใจ เข้าใจ และมีวิธีการ ที่จะช่วยเหลือปลดเปลื้องความต้องการเพศสัมพันธ์โดยวิธีอื่นๆ ซึ่ง นายแพทย์อุดมศักดิ์ ศรีแสนงาม ยินดีที่จะให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัว เพราะไม่บังควรที่จะบรรยายเรื่องรวมเหล่านี้ลงในบทความวิชาการ

7. ในช่วงหลังคลอดจะต้องทิ้งระยะเวลา ให้มดลูกมีการหดตัวเล็กลง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "รอให้มดลูกเข้าอู่" (INVOLUTION) คือ มดลูกหดเล็ก เข้าสู่อุ้งเชิงกราน ซึ่งจะใช้เวลาในระยะแรก 14 วัน แต่ถ้าจะหมายถึงกลับเข้าสู่สภาพเดิมอย่างแท้จริงก็จะใช้เวลา นานถึง 6 สัปดาห์ ดังจะเห็นว่าหลังคลอด สภาพร่างกายของสตรี ยังอยู่ในภาวะอ่อนแอกว่าปกติ จึงไม่ควรถูกรบกวนให้กระทบกระเทือน จากการมีเพศสัมพันธ์ และเพื่อความปลอดภัยของภรรยา สามีที่ดีควรจะอดมนรอให้พ้นระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่ว่านี้ไปก่อน จึงจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้ปลอดภัย การมีเพศสัมพันธ์ก่อนกำหนด อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพของมดลูกของฝ่ายหญิงได้ การมีเพศสัมพันะก่อนเวลาอันควรอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ในภายหลัง

จะต้องไม่ลืมว่า ตามหลักการของ มาสเตอร์และจอห์นสัน ที่กล่าวไว้ว่า
"ถ้าคู่สมรสไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ในเรื่องเพศแล้ว เรื่องอื่นๆ ในชีวิตสมรสก็อาจจะทำความเข้าใจกันไม่ได้เช่นกัน"

ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาที่ดีจึงสำคัญมาก คือ สามีภรรยาควรมีทัศนคติที่ดีต่อกันตั้งใจร่วมกันที่จะปฏิบัติหน้าที่ สามีภรรยาและหน้าที่บิดามารดาให้สมบูรณ์ มีความตั้งใจ และต้องการให้มีความสุขในเรื่องเพศ สามารถปรับความเข้าใจ ในเรื่องความต้องการทางเพศ ไม่นำโรคภัยมาสู่คู่ของตน รับผิดชอบต่อบุตรเมื่อพร้อมที่จะมีรวมทั้งรู้การคุมกำเนิด และการวางแผนครอบครัวเพื่อพัฒนาครอบครัวให้เจริญต่อไป

ข้อแนะนำสำหรับว่าที่คุณพ่อคุณแม่

1. หาความรู้เพื่อเกิดความเข้าใจกระบวนการตั้งครรภ์ การคลอด การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการดูแลสุขภาพของคุณแม่ กับลูกเกิดใหม่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรจะเรียนรู้ด้วยกัน ปรึกษาหารือกัน และหากเป็นไปได้ก็ควรสมัครเข้ารับการฝึกอบรมเตรียมคลอด และการเลี้ยงดูลูก ซึ่งจะทำให้มีโอกาสฝึกซ้อม รู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง และซักถามสิ่งที่ข้องใจกับแพทย์พยาบาลหรือผู้รู้อื่นๆ ให้คลายกังวล และมั่นใจมากขึ้น

2. สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับคุณหมอและสถานพยาบาล ที่จะเลือกไปฝากครรภ์และคลอด โดยคำนึงถึง
2.1 ความรู้ ความสามารถ ผลงานซึ่งรู้ได้จากผู้เคยได้รับการดูแล และวุฒิของคุณหมอ
2.2 ความเอาใจใส่ การให้การดูแลและความเต็มใจ ที่จะให้คำการปรึกษาแนะนำ ซึ่งจะรู้ได้จากประสบการณ์ การไปขอรับการตรวจ และหรือข้อมูลจากคนไข้เก่าของคุณหมอ
2.3 ความพร้อมของสถานพยาบาล ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือความสะอาดและความสะดวก ซึ่งเห็นได้ไม่ยาก เวลาไปเยี่ยมญาติหรือเพื่อนที่ไปคลอด และคำนึงถึงความสะดวก ในการเดินทางด้วย

3. หาข้อมูลและเตรียมเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งมักจะไม่สามารถกำหนด แน่นอนได้ เพราะการคลอดแต่ละครั้งอาจมีเหตุการณ์ หรือความจำเป็นต่างๆ ที่แตกต่างกัน

4. หลังจากตัดสินใจไปฝากครรภ์กับสูติแพทย์แล้ว ควรไปรับการตรวจและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ควรรู้วิธีสังเกตอาการของตนเองและปรึกษาคุณหมอ เกี่ยวกับการฝึกหายใจ เตรียมคลอด เตรียมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตลอดจนการนัดหมายเพื่อเข้าโรงพยาบาลเวลาเจ็บครรภ์คลอด

5. ควรปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการคลอด การใช้ยา โอกาสที่จะให้คุณพ่อ มีส่วนร่วมในกระบวนการคลอด และการดูแลลูกแรกเกิดด้วยตนเอง ให้มากที่สุด ตามความตกลงใจของคุณพ่อ คุณแม่ มิฉะนั้น คุณหมอคุณพยาบาลอาจมีความเข้าใจผิด คิดว่า คุณไม่ต้องการดูแลลูก เพราะเจ็บหรือเหนื่อยเกินไป จึง "ช่วย" ให้ยาระงับปวด ยาชา เพื่อลดความเจ็บปวดซึ่งมักทำให้ง่วง "ช่วย" พาลูกเกิดใหม่ไปเลี้ยงแทน ซึ่งเป็นความปรารถนาดีแต่อาจเป็นสิ่งที่คุณไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ได้ เพราะหลายท่านอาจจะต้องการหลีกเลี่ยงยาระงับปวด อาจต้องการพบลูกเร็วที่สุด และต้องการฝึกดูแลให้นมลูกอย่างถูกวิธีตั้งแต่แรก ในเรื่องเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนคุณหมอคุณพยาบาลได้ เพื่อให้ประสบการณ์คลอดบุตรมีแต่สิ่งที่น่ายินดี และเป็นการวางรากฐานที่ดี ของชีวิตสำหรับสมาชิกครอบครัวคนใหม่ "ลูกคนแรก"

บทความ จาก http://www.elib-online.com หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

2 ความคิดเห็น:

  1. ยาวจังเลย.....555
    บทความนะ
    แต่มีประโยชน์มากเลย
    ว่างๆจะหัดเีขียน blog บ้าง
    เดี๋ยวมีแล้วจะบอกอย่าลืมไปดูของเราบ้างนะ

    ตอบลบ
  2. ทักทาย...ของจริงเลยนะเนี่ย

    เริ่มเขียนนะครับ ...จะได้แบ่งกันอ่าน เขียนไว้ที่ไหนแจ้งผมด้วยนะ จะตามไป

    ตอบลบ