วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่ สำหรับการตั้งครรภ์เดือนที่ 7

                 อาการท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหารมาก และท้องผูกยังคงเป็นอาการที่รบกวนคุณแม่อยู่ ขนาดของมดลูกที่โตขึ้นจะดันกระเพาะอาหารขึ้นไป หากคุณแม่รับประทานอาหารแล้วแน่นท้องมาก ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆอีกครั้ง


                 ในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์นี้ อาการบวมตามมือและเท้าเกิดขึ้นเป็นปกติ เพราะร่างกายสะสมน้ำไว้มาก อาจจะสังเกตได้จากแหวนที่คับมากขึ้น

                   ผิวหนังของคุณแม่จะแพ้ง่ายมากในช่วงนี้ อาจมีผื่นขึ้น หรือเป็นสิว ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าหากเป็นมากควรไปปรึกษาแพทย์ผิวหนัง

                  อัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้น เพราะหัวใจต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี่ยงร่างกาย รก และทารก ดังนั้นอัตราการเต้นของหัวใจของคุณแม่มักจะสูงกว่าปกติประมาณ 10 – 15 ครั้งต่อนาที คุณแม่บางท่านอาจถูกตรวจพบว่ามีเสียงผิดปกติของการเต้นของหัวใจ แต่มันจะหายไปเมื่อคลอดแล้ว

                 เต้านมของคุณแม่ยังขยายต่อไปอีก รวมถึงต่อมผลิตน้ำนมก็มีความพร้อมแล้วที่จะผลิตน้ำนมออกมาเลี้ยงทารก ในไตรมาสสุดท้ายนี้คุณแม่อาจมีน้ำนมสีเหลืองไหลออกมาเล็กน้อย เป็นเรื่องปกติ ข้อควรระวังก็คือระวังการกระตุ้นที่บริเวณนมเพราะจะทำให้มดลูกบีบตัวและเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้

                 อาการปวดหลังของคุณแม่จะเป็นมากขึ้นและบางทีส่งผ่านลงไปที่ขาทั้งสองข้าง ครึ่งหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์มีอาการปวดหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินเข้าสู่ไตรมาสที่สาม อาการเจ็บที่หลังและส่งผ่านลงไปที่ขาอาจเกิดขึ้นได้จากการที่กระดูกสันหลังส่วนล่างนูนออก จากการที่ถูกมดลูกที่มีขนาดโตขึ้นดัน ทำให้เส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บ หรือถูกกด หรือบางทีการที่คุณแม่ก้มยกของโดยท่าทางไม่ถูกต้อง หรือบิดตัวเร็วเกินไป อาจเป็นสาเหตุให้ปวดหลัง และบางครั้งอาการปวดหลังก็หายไปเมื่อทารกเปลี่ยนท่า

                 หากคุณแม่นอนเอนหลังลงไปแล้วทำให้ไม่สุขสบาย นั่นเกิดจากการที่มดลูกที่มีขนาดใหญ่ลงไปกดอวัยวะต่างๆตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้เลือดที่ไปหัวใจมีปริมาณน้อยลง ลองนอนตะแคงจะช่วยให้รู้สึกสบายมากขึ้น

                  คุณแม่จะเริ่มลุกจากเตียงลำบากขึ้น ให้นอนตะแคงก่อนแล้วใช้มือช่วยดันตัวขึ้นมาหากคุณแม่มีอาชีพที่จำเป็นต้องยืนนานๆ อาจขอถุงเท้าที่ช่วยพยุงขาจากคุณหมอ หรือพยาบาล เนื่องจากอาการของเส้นเลือดขอดอาจเป็นมากขึ้น

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

ทิพย์ตั้งครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 7 แล้วครับ ( สัปดาห์นี้ก็สัปดาห์ที่ 27 )

           สัปดาห์ในเป็นสัปดาห์ที่ 27  แล้วของการตั้งครรภ์ของทิพย์  ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าที่คุณแม่ไม่สบาย ต้องเข้ารับการรักษาอาการไข้หวัด  ไอ  เจ็บคอ ตอนนี้อาการของไข้หวัดหายแล้วครับเหลือแต่อาการไอเล็กน้อย เมื่อวันพุธที่ผ่านมาหมอก็เลยจับตรวจดูสุขภาพทารกในครรภ์ของว่าที่คุณแม่หลังจากไม่สบาย ทุกอย่างปกติก็เลยโล่งครั้ง ตอนนี้กลับมาดิ้นเหมือนเดิม ช่วงที่คุณแม่เป็นไข้ดิ้นน้อยมาก ทำให้ว่าที่คุณแม่กังวล อาจเป็นเพราะฤทธิ์ยาที่คุณแม่ทานลงไม่ ครับ ทั้งแก้อักเสบ ยาต้านไวรัส  และยาสามัญประจำตัวหญิงตั้งครรภ์ ยาพารา เวลาปวดเป็นไข้  สัปดาห์นี้ผมต้องให้ว่าที่คุณแม่โด๊ปหนัก ๆ ขอให้ทานนมให้วันละ 1 ลิตร ชดเชยช่วงที่ป่วย

         ในเดือนที่เจ็ดนี้ทารกมีน้ำหนักประมาณ 1.1 กิโลกรัม และยาวประมาณ 26 เซนติเมตรแล้ว ส่วนยอดของมดลูกอยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างสะดือกับใต้อก ตอนนี้ทารกมีไขมันมาสะสมตามร่างกายมากขึ้น ผิวหนังถูกปกคลุมด้วยไขสีขาวที่ช่วยปกป้องผิวหนังจากน้ำคร่ำ หากคลอดทารกในตอนนี้ ทารกยังมีโอกาสรอดชีวิตได้สูงภายใต้การดูแลพิเศษในโรงพยาบาล


            สมองได้มีการพัฒนาขนาดโตขึ้นมาก และมีชั้นไขมันที่ปกคลุมเส้นประสาททั้งหมดเอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการรับส่งกระแสประสาทได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทารกสามารถเรียนรู้ได้ สมองมีการพัฒนาส่วนที่จะใช้คิดคำนวณ และตอนนี้ทารกสามารถรู้สึกเจ็บ ร้องไห้ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเสียง หรือแสง ทารกจะตอบสนองโดยการลืมตา จะเห็นว่าทารกมีพฤติกรรมเกือบจะเหมือนกับทารกที่ครบกำหนดแล้ว

              เสียงดังจากภายนอกมีผลต่อทารกในครรภ์ ทารกจะได้ยินเสียงนั้น และมีรายงานการวิจัยซึ่งพบว่าเสียงดังทำให้ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น แม้แต่เสียงเพลงที่ดังเกินไปก็ตาม ดังนั้นคุณแม่ที่ทำงานในโรงงานที่มีเสียงเครื่องจักรดังๆ ควรปรึกษากับหัวหน้าเพื่อย้ายไปทำงานในจุดอื่นซึ่งเงียบสงบระหว่างการตั้งครรภ์ หรือการขอลาพัก

             ตอนนี้ทารกขดตัวอยู่ในท้องคุณแม่เนื่องจากตัวเริ่มโตขึ้นและยาวขึ้น ทำให้พื้นที่มีจำกัด อย่างไรก็ตามทารกยังสามารถที่จะเปลี่ยนท่าได้ในขณะที่ทารกกำลังเคลื่อนไหว เนื่องจากปริมาณน้ำคร่ำน้อยลง คุณแม่จึงสามารถรู้สึกได้จากการเคลื่อนไหวของทารกได้อย่างชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนั้นขึ้นอยู่กับว่า ทารกอยู่ในท่าใด ตำแหน่งของรก และโครงสร้างร่างกายของคุณแม่เองบางครั้งชัดเจนมากจนสามารถมองเห็นจากผนังหน้าท้องของคุณแม่ได้เลย ลองให้คุณพ่อวางมือลงบนหน้าท้องในช่วงเวลาเย็นที่คาดว่าทารกจะมีการเคลื่อนไหวมากที่สุด บางทีคุณพ่ออาจสามารถรับรู้ได้ถึงการเคลื่อนไหวของทารกจากโลกภายนอก

             ทารกสามารถรับรู้รสชาติได้ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าปุ่มรับรสของทารกที่อยู่ในครรภ์สามารถรับรู้รสได้ดีกว่าตอนที่อยู่ในโลกภายนอกเสียอีก

             สารหล่อลื่นภายในปอดของทารกหรือ Surfactant ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทารกสามารถหายใจในโลกภายนอกได้ โดยที่สารหล่อลื่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ถุงลมเล็กๆนั้นแฟบติดกัน แต่สารหล่อลื่นนี้จะมีปริมาณมากพอก็ต่อเมื่อทารกมีอายุครบกำหนดแล้ว หากทารกคลอดก่อนกำหนด อาจเกิดภาวะหายใจลำบากขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคลอดเร็วก่อนกำหนดมากๆ การตั้งครรภ์โดยมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องคลอดก่อนกำหนด เช่น มารดามีภาวะความดันโลหิตสูง มีทารกในครรภ์มากกว่าสองคน แพทย์อาจให้ยาฉีดแก่แม่เพื่อช่วยเพิ่มระดับของ Surfactant ในปอดของทารกในครรภ์ได้ แต่ถ้าหากถุงน้ำแตกก่อนกำหนด หรือคลอดก่อนกำหนดโดยที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน กุมารแพทย์อาจพิจารณาให้ surfactant สังเคราะห์แก่ทารกเมื่อหลังคลอดทันทีเพื่อป้องกันการแฟบติดกันของถุงลมทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก