วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

4 โรคร้ายในหน้าร้อน

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เดือนเมษายนเป็นเดือนที่อากาศร้อนจัดที่สุดของปีสำหรับประเทศไทย ร้อนขนาดที่หลายๆ คนอาจจะเกิดอาการคลุ้มคลั่งได้ นอกจากอากาศที่ร้อนแล้ว โรคที่มากับความร้อนก็ยังมีได้เช่นกัน และมักจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ อยู่เสมอ เพื่อเตรียมความพร้อม เรามาทำความรู้จักกับ 4 โรคร้ายในหน้าร้อนกันดีกว่า

สำหรับโรคที่มากับฤดูร้อนที่มักจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ โรคที่เกี่ยวกับอาหารและน้ำดื่ม เนื่องจากอากาศร้อนทำให้ของเสียได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลาอาหาร ผลไม้ แม้แต่น้ำดื่มเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ล้วนชื่นชอบอากาศที่ร้อนชื้น ทำให้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จึงอยากเตือนพ่อแม่ให้รู้ทัน 4 โรคร้ายในหน้าร้อนเสียแต่เนิ่นๆ มาดูว่าโรคต่างๆ เหล่านี้มีอะไรบ้างและจะมีวิธีป้องกันอย่างไร?….



1. อาหารเป็นพิษ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยมากเนื่องจากการมีสารพิษ (toxin) ที่สร้างจากแบคทีเรียตกค้างอยู่ในอาหาร ทำให้เกิดปัญหาท้องเสียได้ส่วนใหญ่แล้วจะถ่ายเป็นน้ำ ไม่มีมูกเลือด ไม่มีไข้ มักจะหายได้เองหากเป็นไม่มากหากเป็นมากก็อาจต้องได้รับน้ำเกลือเสริมซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการชงดื่ม (น้ำเกลือแห้ง) หรือการให้ทางหลอดเลือดดำแล้วแต่ความรุนแรง แต่โดยทั่วไปโรคลักษณะนี้ไม่ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ เพียงแต่รักษาแบบประคับประคอง ไม่ให้ภาวะน้ำเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติเสียสมดุลเท่านั้น

2. อหิวาตกโรค ซึ่งในสมัยก่อนบ้านเราเรียกว่า “โรคห่า” หากพลิกพงศาวดารดูจะเห็นว่าเคยมีการระบาดหลายครั้งในอดีต และการระบาดแต่ละครั้งทำให้เกิดผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากได้ โดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้ออหิวาต์จะไม่มีอาการ หรืออาการไม่มาก แต่ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงกหลังจากเกิดอาการเนื่องจากมีการสูญเสียของน้ำและเกลือแร่ในปริมาณที่มากทางอุจจาระ มีส่วนน้อยที่เสียไปทางการอาเจียน

เชื้อที่เป็นสาเหตุคือ เชื้อ Vibrio Cholerae ชนิด O:1 หรือ O:139 การติดต่อเป็นได้ทั้งโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่เชื้อดังกล่าวเข้าไป หรืออาจจะมีการปนเปื้อนของอุจจาระ อาหารที่อาเจียนออกมาของผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคอยู่แล้ว เชื้อดังกล่าวเจริญเติบโตได้ดีในอาหารบางชนิด เช่น ข้าว แต่จะโตได้ไม่ดีในอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นกรด และจะถูกฆ่าได้ด้วยความร้อน

สำหรับการดูแลรักษาคือการทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับการถ่ายอุจจาระและอาเจียน อาจให้ได้โดยการดื่ม น้ำเกลือ แต่หากเป็นรุนแรง ต้องให้ทางหลอดเลือดดำ การใช้ยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่แล้วให้ในกลุ่มของเตรทต้าไซคลิน ซึ่งจะทำให้ลดระยะเวลาของอาการให้สั้นลงได้นอกจากนี้ จะทำให้การแพร่เชื้อลดลงด้วย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง การป้องกันอาจจะใช้การฉีดวัคซีนช่วย อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในขณะที่ระยะเวลาที่ป้องกันได้ก็มีเพียงเวลาหนึ่งเท่านั้น

3. ไข้ไทฟอยด์ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในหน้าร้อนเช่นกัน เนื่องจากการติดต่อมักจะเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่มซึ่งไข้ไทฟอยด์มักจะมีอาการแบบเฉียบพลัน สำหรับในรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงกับเสียชีวิตได้สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อ Samonella typhi ซึ่งอาการของโรคจะมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ อาจมีหัวใจเต้นช้าลง (โดยทั่วไปแล้วเวลามีไข้หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น) หากให้แพทย์ตรวจอาจพบมีม้ามโตบริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย ต้องใช้การตรวจเลือดยืนยันเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นโรคนี้จริง การรักษาจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม การป้องกันสามารถทำได้โดยการใช้วัคซีนซึ่งมีทั้งในรูปของการรับประทานหรือฉีด แต่การป้องกันอาจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และที่ควรต้องระลึกไว้เสมอว่า การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัด ปลอดภัย ไม่เปลืองสตางค์ ไม่ต้องเสียเวลาไปพบแพทย์ และไม่ต้องเจ็บตัวด้วย

4. โรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ โดยทั่วไปจะติดต่อผ่านทางคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง โดยการปนเปื้อนไปกับน้ำ, น้ำแข็ง, ผลไม้, หรืออาหารที่รับประทานโดยไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน โดยทั่วไปอาการที่เกิดขึ้นคือ จะมีปวดเนื้อ ปวดตัว ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดไม่สบายภายในท้อง จากนั้นสองสามวันก็จะมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองตามมา คนที่เป็นโรคอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเป็นเวลา 1-2 อาทิตย์ หรือในกรณีที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการหลายเดือนได้

เชื้อไวรัสตับอักเสบเอนี้จะตายเมื่อโดนความร้อนโดยการต้มหรือหุง ที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส (185 องศาฟาเรนไฮน์) เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งนาทีอาหารหรือน้ำที่ผ่านความร้อนดังกล่าวจะไม่มีการติดเชื้อนี้ยกเว้นเชื้อจะปนเปื้อนภายหลังที่หุงต้มแล้ว การป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุดยังคงเป็นการระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม

5 วิธีกินอาหารและน้ำดื่มในหน้าร้อนให้ปลอดภัย
1. ไม่ควรรับประทานของหวาน หรือน้ำดื่มที่มีน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำแข็งที่อาจไม่ผ่านกระบวนการกรองเชื้อโรคที่ถูกต้องในขั้นตอนการผลิต

2. ไม่ควรซื้ออาหารตามหาบเร่หรือแผงลอยรับประทาน ถ้าหากไม่แน่ใจในความสะอาด ไม่เห็นว่าอาหารได้ถูกปรุงเสร็จใหม่ๆ

3. ดื่มน้ำดื่มที่ต้มแล้ว หรือผ่านขบวนการกรองหรือฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง

4. ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร

5. ไม่รับประทานผลไม้ที่ปอกทิ้งไว้ วางขายตามท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีแมลงวันบินวนเวียนอยู่มากมาย สรุปคือควรรับประทานอาหารที่สุก สะอาด หากเป็นผลไม้ควรต้องเป็นผลไม้ที่ลงมือปอกเอง


คนไทยมักจะซื้ออาหารรับประทานกันตามสะดวก โอกาสที่จะเกิดปัญหาจึงมีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและคนชรา หรือในคนที่อ่อนแอมีโรคประจำตัวที่มีภูมิต้านทานผิดปกติหรือรับประทานยากดภูมิต้านทาน ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ในผู้ใหญ่ที่แข็งแรงอาจเกิดปัญหาแค่ท้องร่วง หรือมีไข้ไม่กี่วัน แต่ในกลุ่มคนที่อ่อนแอหรือกลุ่มเด็กๆ อาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต้องให้น้ำเกลือ ต้องฉีดยาปฏิชีวนะ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกเท่าไหร่ เรียกว่าวุ่นวายกันทั้งบ้านเลยทีเดียว



(update 11 มิถุนายน 2007)
[ ที่มา.. นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.165 April 2007]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น