วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคหยุดหนูร้อง(ลูกร้อง) ....ตอนกลางคืน

คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเคยประสบปัญหาเจ้าตัวเล็กไม่ยอมนอน ร้องไห้งอแงตลอดทั้งคืน จนคุณพ่อคุณแม่ต้องตื่นมาผลัดกันอุ้มลูกน้อย และไม่รู้จะทำยังไงกับเจ้าตัวเล็กนี้ดีเพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กทารกแรกเกิด หรือแม้กระทั่งเด็ก 5 เดือนอย่างน้องแพรวาลองปฏิบัติกันดู สำหรับผมแล้วต้องใช้หลายเทคนิค ส่วนมากที่ผมใช้จะเล่นกับเขาก่อนนอนจนเขาเริ่มเพลีย เช็ดตัวทาแป้งก่อนนอน ตามด้วยนิทานสักเรื่อง แล้วดูดนมประมาณ 2 ออนน์ก่อนหลับ ส่วนมากได้ผลนะ แต่ก็มีบางครั้งไม่เอาอะไรตามขั้นตอนแบบนั้นก็มี ยิ่ง 5 เดือนเริ่มโกรธเป็น แสดงสีหน้าไม่พอใจได้ ยิ่งสุด ๆ ขึ้นเรื่อย ๆแต่ท่านกุมารแพทย์ก็มีข้อแนะนำนะครับ



กุมารแพทย์ฮาร์วีย์ คาร์ป (Harvey Karp) แนะนำว่า การจะทำให้เจ้าตัวเล็กหยุดร้องไห้ตอนกลางคืนให้ได้ผลนั้นต้องใช้หลัก 5 s ซึ่งเป็นหลักที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมากในแวดวงฮอลลีวู้ด ในหมู่ดารานักแสดงที่มีเจ้าตัวเล็กคอยร้องขับกล่อมยามค่ำคืน พวกเค้าได้หยิบยืมหลักการเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงเพียร์ส บรอสนันด์,คุณป้ามาดอนนา และคุณน้าฮันเตอร์ ไทโล เป็นต้น ซึ่งต้องพบกับความแปลกใจ "โอ้...พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก"



5 วิธีหยุดหนูร้องไห้ตอนกลางคืน

1. ห่อหนูให้กระชับ (Swaddle)

แค่คุณแม่เอาผ้าห่มห่อตัวหนูให้อุ่น หนูก็หยุดร้องแล้ว พูดจริงๆ นะคะ อย่าลืมว่าหนูเคยอยู่ในท้องคุณแม่ และชินกับที่แคบๆ มานานหลายเดือน จู่ๆ จะให้หนูมานอนอ้างว้างข้างนอก หนูจึงยังไม่คุ้นเคย อีกทั้งตอนนี้มือเท้าของหนูก็ขยับไปมาได้แบบฟรีสไตล์แล้ว หนูจึงหวาดผวามากขึ้น แต่ถ้าคุณแม่ช่วยห่อตัวให้หนู หนูจะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเหมือนกำลังอยู่ในรกของคุณแม่ไงล่ะ แต่อ๊ะ...อ๊ะ ระวังอย่าห่อหนูจนแน่นเกินไปล่ะ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าคุณแม่ร้องไห้แทนหนูไม่รู้นา



2. ให้หนูนอนตะแคงหรือนอนคว่ำ (Side / Stomach)

เวลาคุณพ่อคุณแม่อุ้มหนู ควรอุ้มให้อกหนูแนบเข้าหาตัวคุณพ่อคุณแม่ เพราะจะทำให้หนูรู้สึกสบายและอบอุ่นใจ อย่าอุ้มหนูแบบนอนหงายนะ ไม่งั้นหนูจะร้อง เพราะไม่มีอะไรอุ่นๆมาอยู่ตรงอกของหนู มันทำให้หนูรู้สึกไม่อบอุ่นและปลอดภัยเลย หรือหากคุณพ่อคุณแม่เมื่อยแขนแล้ว ก็ให้หนูนอนตะแคงก็ได้นะ และควรให้หนูกอดหมอนข้างด้วย เวลาหนูผวาก็ยังมีหมอนข้างอุ่นๆ อยู่ตรงอก เสมือนหนูมีอะไรกอดอยู่ตลอดเวลา มันทำให้หนูนอนสบายมากขึ้นค่ะ



3. กระซิบ ซือ.. ซือ.. เบาๆ ข้างๆ หูหนู (Sibilant)

ซือ.. ซือ..เป็นเสียงคล้ายๆ ตอนที่หนูอยู่ในท้องของคุณแม่ หนูจะได้ยินเสียงแบบนี้ ซึ่งทำให้หนูรู้สึกปลอดภัยคล้ายได้อยู่ในที่ที่เคยอยู่ กุมารแพทย์คาร์ปบอกไว้ว่า มันเป็นวิธีการที่ดีกว่าอุ้มหนูแบบเงียบๆ หรือเอาแต่ปลอบหนูไปเรื่อยๆ และหากคุณพ่อคุณแม่ทำเสียงไม่ได้ ก็ให้หนูฟังเสียงเครื่องดูดฝุ่นหรือเสียงเครื่องเป่าผมแทนก็ได้นะ แต่อย่าเป่ามาที่ตัวหนูล่ะ เพราะจะทำให้หนูรู้สึกร้อนจนร้องไห้มากขึ้น



4. แกว่งหนูไปมาสิ (Swinging)

คุณพ่อคุณแม่ลองอุ้มหนูแล้วแกว่งไปมาสิ พร้อมทั้งเอามือลูบหรือตบเบาๆ แล้วอย่าลืมเวลาอุ้มหนูจับคอหนูให้มั่นคงด้วยนะ เพราะคอหนูยังไม่แข็งเลย การอุ้มหนูอย่างรักใคร่ อบอุ่น มั่นคงทำให้หนูรู้สึกปลอดภัย สบายใจ หลับได้ง่าย ไม่ร้องไห้โยเย ขอแค่อย่าแกว่งหนูแรงมาก หรือหมุนตัว เพราะจะทำให้หนูเวียนหัว เลยร้องไห้ไปกันใหญ่



5. ให้หนูดูดนมแม่ด้วยก็ดีนะ (Sucking)

เมื่อหนูอยู่ในผ้าอ้อมหรือผ้าห่มที่ห่อตัวหนูเอาไว้ แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ทำตามวิธีการถัดมาดังที่กล่าวไว้แล้ว ไม่ว่าจะขั้นตอนใดก่อนหรือหลังก็ตามจนหนูสงบลง ไม่ร้องไห้โยเย ก็อาจจะให้หนูดูดนมคุณแม่ หรือใช้หัวนมปลอมสะอาดๆ ให้หนูดูดก็ได้ แต่จะให้ดีที่สุดก็ต้องเป็นนมของคุณแม่ เพราะท่าที่คุณแม่กอดหนูแนบอก หนูจะรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในรกที่โอบอุ้มหนูไว้ ยิ่งได้เห็นหน้าของคุณแม่ หรือมือน้อยๆ ของหนูสามารถจับหน้าอกแม่ หรือลูบตัวแม่ได้ หนูจะยิ่งสงบลงได้เร็ว



หลักปฏิบัติข้างต้นนี้ช่วยให้หนูสงบลงได้ แถมยังทำให้คุณพ่อคุณแม่มีเวลาพักผ่อนมากขึ้นอีกด้วย จะได้ไม่กระทบกับการทำงานของคุณพ่อคุณแม่ไงครับ

จากนิตยสาร http://www.motherandcare.in.th

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ภัยจากรถหัดเดิน

รถหัดเดินเสริมหรือทำลายพัฒนาการกันแน่

รถหัดเดินเด็ก” หรือ “Baby Walker”


รถหัดเดินเด็ก” หรือ “Baby Walker” เรียกได้ว่า เป็นของเล่นเด็กอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทยค่อนข้างมาก ทั้งนี้ก็เพราะคนไทยได้สืบทอดความเข้าใจจากอดีตที่ว่า “รถหัดเดินเด็ก” เป็นของเล่นที่จะช่วยเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยเดินได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้คุณแม่มีเวลาที่จะจัดการกับธุระคั่งค้างอยู่ได้สะดวกขึ้น

แต่หากจะกล่าวกันตามหลักพัฒนาการของเด็กแล้ว “รถหัดเดินเด็ก” นอกจากจะไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยเสริมพัฒนาการในการเดินให้กับเด็กแล้ว ยังเป็นตัวทำลายพัฒนาการและก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างรุนแรงมากอีกด้วย

เพราะการที่เด็กจะเดินได้หรือไม่ได้นั้น กล้ามเนื้อหลักคือ กล้ามเนื้อสะโพกและกล้ามเนื้อต้นขา แต่การใช้รถหัดเดินนั้น หากสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่าขณะที่เด็กนั่งในรถหัดเดินนั้น เท้าเด็กจะไม่ถึงพื้นเต็มเท้า การเดินไปข้างหน้าจะเป็นไปในลักษณะของการเขย่งเท้าไปข้างหน้า ซึ่งการที่เด็กจะต้องเขย่งเท้าอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูงเดินมากนัก นั้นคือกล้ามเนื้อที่ต้องทำงานอย่างหนักคือกล้ามเนื้อน่อง ผลที่ตามมาก็คือเกิดอาการเกร็งและเมื่อยล้าที่น่อง แต่กล้ามเนื้อน่องหรือขาช่วงล่างไม่ใช่กล้ามเนื้อหลักที่จะทำให้เด็กเดินได้ อีกทั้งเมื่อเด็กกลุ่มนี้เริ่มเดินได้เอง บางคนจะเดินในลักษณะเขย่งไปเขย่งมา ทั้งนี้ก็สืบเนื่องจากที่เขาได้รับการฝึกเดินที่ผิดๆ แบบนั้น

ที่สำคัญการใช้รถหัดเดินยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อเด็กได้อย่างรุนแรง เพราะคุณแม่ส่วนใหญ่นิยมนำลูกหลานใส่รถหัดเดินในช่วงอายุ 9-10 เดือน ซึ่งช่วงนี้เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าสิ่งของต่างๆ แม้จะหายไปจากสายตา แต่ก็ยังดำรงอยู่ เขาจึงชอบโยนของให้ตกลงบนพื้นแล้วก้มลงดู สิ่งที่มักจะเกิดขึ้น คือ เด็กบนรถหัดเดินจะเขย่งจนสุดตัว แล้วชะโงกดูของที่ตกลงบนพื้นจนรถพลิกคว่ำ หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ การที่เด็กจะเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วบนพื้นลื่นๆ เช่น หิดขัดหรือหินอ่อน เมื่อไปอยู่บนพรมหรือผ้าเช็ดหน้า ซึ่งมีความเสียดทานแตกต่างกัน จะเกิดการสะดุดก็จะทำให้หกล้มทันที บางรายเกิดอุบัติเหตุที่ศรีษะรุนแรงมากจนเลือดออกในกะโหลกศรีษะได้

ข้อมูลจากต่างประเทศสำหรับ “รถหัดเดิน” หรือ “Baby Walker” นี้ ในประเทศแคนาดาได้ถอดออกจากตลาดแล้ว หลังจากพบว่าทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าให้ประโยชน์ ขณะเดียวกันทางสมาคมกุมารแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่แนะนำให้ใช้รถหัดเดินสำหรับเด็กเลย เพราะโดยปกติเด็กก็จะค่อยๆเกาะยืน ยืนเองและเดินได้ด้วยตัวเขาเองอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่จะช่วยเสริมพัฒนาการในการเดินของเด็กๆ (หากต้องการ) น่าจะเป็นของเล่นหัดเดินที่เด็กสามารถเข็นไปข้างหน้าได้เอง (Walker toy หรือ Push car) มากกว่า หากจะใช้ของเล่นนี้ก็ควรใช้หลังจากที่เด็กสามารถยืนด้วยตัวเองได้แล้วและเริ่มจะโผก้าว ซึ่งการทรงตัวของเด็กในช่วงนั้นจะไม่ค่อยดี เด็กจะถลำตัวไปข้างหน้า ในระยะแรกต้องมีผู้ใหญ่มาคอยกันและเป็นแรงต้านอยู่ทางด้านหน้าด้วย (อาจทำได้ด้วยการที่ผู้ใหญ่เดินถอยหลัง และต้านของเล่นนี้ไปช้าๆ ขณะที่เด็กผลักมันไปข้างหน้า) เมื่อเด็กสามารถถ่วงน้ำหนักตัวเองได้สมดุลขึ้น ผู้ใหญ่ก็ค่อยๆลดแรงต้านลง จนเขาสามารถปรับสมดุลและเดินได้เองในที่สุด ในกรณีนี้กล้ามเนื้อหลักที่เกี่ยวข้องกับการเดินจะได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่


--------------------------------------------------------------------------------


ที่มา : นายแพทย์ทัศนวัต สมบุญธรรม หน่วยพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
The American Academy of Pediatrics. Caring for Your Baby Young Child : Birth to Age 5. New York : Bantam, 1993.

กุมารแพทย์สหรัฐฯ แนะเลิกใช้รถหัดเดินสำหรับเด็ก

สมาคมกุมารแพทย์สหรัฐฯ ประกาศเตือนบรรดาผู้ปกครองให้เลิกใช้รถหัดเดินสำหรับเด็กเป็นการถาวร

โดยระบุว่า รถหัดเดิน (Baby walker) ก่อให้เกิดความเสี่ยงในอันที่เด็กจะได้รับ บาดเจ็บ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถึงแม้ว่าบริษัทผู้ผลิตได้พยายามออกแบบรถหัดเดินใหม่ เพื่อป้องกันรถหัด เดินล้มคว่ำหรือเด็กไถรถหัดเดินจนตกบันได ยิ่งไปกว่านั้น ทางสมาคมกุมารแพทย์สหรัฐฯ ระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานประกอบแน่ชัดที่รับรองว่า รถหัดเดินมีประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กอย่างแท้จริง

ดร.แกรี่ สมิทธิ์ หนึ่งในสมาชิกสมาคมกุมารแพทย์เปิดเผยว่า ขณะนี้กุมาร แพทย์ทุกคนยังคงเดินหน้าเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองถึงอันตรายจากรถหัดเดิน เพราะเป็นเวลาหลายปีแล้วที่เห็น เด็กได้รับบาดเจ็บสาเหตุเนื่องมาจากรถหัดเดินดังกล่าว จากการศึกษาพบว่า พ่อแม่ร้อยละ 55 - 92ให้ลูกใช้ รถหัดเดิน และส่วนมากเด็กจะอยู่ในวัยระหว่าง 5 - 15 เดือน

ปี 1996 ทางองค์กรตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องอุปโภคต่างๆของสหรัฐฯ ได้ออกหนังสือทบทวนมาตรฐาน ของรถหัดเดินสำหรับเด็ก โดยหลังเดือนกค. 1997เป็นต้นไป บริษัทผู้ผลิตรถหัดเดินต้องประกอบรถหัดเดิน ทุกคันให้มีฐานล้อกว้างอย่างน้อย 36 นิ้ว กว้างพอที่จะป้องกันเด็กไถรถหัดเดินลอดผ่านประตูทั่วไปออกไปได้ หรือมิฉะนั้นต้องมีระบบเบรคอัตโนมัติให้รถหัดเดินหยุดกระทันหัน ถ้าล้อหนึ่งหรือสองข้างอยู่ริมขอบขั้นบันได

ช่วงปี 1995 เป็นต้นมา มีของเล่นเด็กอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า Activity Centre เป็นอุปกรณ์ที่คล้ายรถหัดเดิน แต่ว่าเคลื่อนที่ไม่ได้ ต้องตั้งอยู่กับที่ เด็กสามารถเล่นอยู่ในนั้นได้ ไม่ว่าจะหมุนตัว กระโดด ไขว่คว้าของเล่นกรุ๋งกริ๋งที่ติดตั้งอยู่ในนั้น โยกหน้าโยกหลังได้ อุปกรณ์นี้สร้างความสนุกสนานให้เด็ก และทำให้เด็กแอคทีฟโดยไม่ต้องเสี่ยงกับการเคลื่อนที่โดยเด็กไม่สามารถควบคุมความเร็วได้

ดร.สมิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการบาดเจ็บแห่งรพ.เด็กในเมืองโคลัมบัส อเมริกา เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าจำนวนตัวเลขที่เด็กบาดเจ็บโดยสาเหตุเนื่องจากรถหัดเดินจะลดน้อยลงแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจ วางใจได้ในการให้เด็กใช้รถหัดเดินต่อไป

ในปี 1995 ตัวเลขของเด็กอายุต่ำกว่า 15 เดือนได้รับอุบัติเหตุจากรถหัดเดินมีจำนวน 20,100 ราย ในปี 1999 มีเด็กบาดเจ็บจำนวน 8,800 ราย ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 56 แต่การลดจำนวนลงนี้อาจมีสาเหตุมาจากพ่อแม่หันมาใช้ Activity Centre มากขึ้นก็ได้และรถหัดเดินเองได้รับการออกแบบใหม่ให้ปลอดภัยขึ้น

อย่างไรก็ตามในปี 1999 มีรายงานจากวารสารกุมารแพทย์สาขาพัฒนาการและ พฤติกรรมของเด็กยืนยันถึงการที่กุมารแพทย์หลายรายมีข้อสงสัยว่ารถหัดเดินมีผลดีต่อพัฒนาการเด็กจริงหรือไม่ คณะนักวิจัยพบว่า รถหัดเดินไม่ได้ช่วยเด็กหัดเดินหรือเดินได้เร็วขึ้น แต่กลับทำให้พัฒนาการโดยทั่วไปของเด็ก ช้าลงเสียด้วยซ้ำ นอกจากนั้นมีหลักฐานแน่ชัดยืนยันว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้ทำให้เด็กเคลื่อนที่เร็วเกินกว่าที่เด็กจะควบคุม ได้ทัน โดยพบว่าเด็กไถรถหัดเดินได้เร็วถึง 4 ฟุตต่อ 1วินาทีทีเดียว

คุณหมอแกรี่ สมิทธิ์ เปิดเผยต่อไปว่า เมื่อพ่อแม่พาลูกที่ได้รับบาดเจ็บมาหาหมอมัก จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่น่าเชื่อว่าลูกจะได้รับบาดเจ็บ ทั้งๆ ที่นั่งดูลูกเล่นไถรถหัดเดินอยู่ตรงหน้าแท้ๆ และ ไม่สามารถช่วยลูกได้ทันท่วงทีเมื่อรถหัดเดินล้มคว่ำหรือพลิกตกบันได ทางรพ.ดังกล่าวได้สำรวจอุบัติเหตุจากรถ หัดเดินจำนวน 271 ราย ระหว่างปี 1993 - 1996 พบว่า ร้อยละ 78 ของอุบัติเหตุเหล่านี้ เกิดขึ้นขณะอยู่ในสาย ตาของผู้ใหญ่ตลอดเวลา

ดังนั้น จึงมีข้อพึงตระหนักเกี่ยวกับปัญหาของการใช้รถหัดเดินเหล่านี้ว่า:-


การที่เด็กนั่งรถหัดเดินทำให้ยกตัวเด็กสูงขึ้นจากพื้น ดังนั้นโอกาสที่เด็กจะคว้า หรือหยิบฉวยข้าวของ ให้หล่นจากโต๊ะโดยไม่ตั้งใจจึงเป็นไปได้ง่ายและอาจเกิดอันตรายด้วย เช่น ถ้วยกาแฟร้อน, สายไฟจากปลั๊กกา ต้มน้ำฯ ซึ่งรถหัดเดินรุ่นใหม่ ยังไม่มีการออกแบบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้
ประตูห้อง หรือประตูบ้านบางแห่งยังกว้างเกิน 36 นิ้ว ซึ่งไม่อาจป้องกันไม่ให้เด็กไถรถหัดเดินออกนอก ประตูไปโดยไม่ตั้งใจ
บางรายอาจได้รับรถหัดเดินมาจากญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูงที่เก็บไว้นานแล้ว และนำมาให้ลูกนั่งโดย ไม่คำนึงว่า รถหัดเดินรุ่นเก่าๆ นั้นไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยเหมือนรุ่นปัจจุบัน


คำแนะนำบางประการที่อาจเป็นประโยชน์แก่พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วไป


1.กำจัดรถหัดเดินไปเสีย อย่าเสียดายเลยถ้าเทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุแก่ลูกน้อย ไม่ต้องยกให้คน อื่น หรือเอาไปขายต่อ เพราะคนอื่นอาจนำไปให้เด็กนั่ง และเกิดอุบัติเหตุแก่เด็กได้
2.แต่ถ้ายังยืนยันที่จะให้ลูกเล่นรถหัดเดินต่อไป ก็เลือกซื้อรถหัดเดินรุ่นล่าสุด และศึกษาอุปกรณ์ของรถหัด เดินว่าออกแบบมาได้มาตรฐานความปลอดภัย เหมาะแก่การใช้ในบ้านของเราหรือไม่
3.หันมาให้ลูกเล่น อุปกรณ์ที่คล้ายรถหัดเดิน แต่เคลื่อนที่ไม่ได้จะดีกว่า เช่น Activity centre จะ ปลอดภัยกว่า เพราะไม่มีล้อ
4.ถ้าปล่อยลูกไว้ให้คนอื่นดูแล เช่นพี่เลี้ยง หรือญาติพี่น้อง ควรบอกให้ทราบว่า ไม่ให้ลูกนั่งรถหัดเดิน

น้องแพรวา ....ก่อนนอนเมื่อคืนนี้

เมื่อคืนกว่าจะหลับได้ เล่นกันซะดึกเลย เกือบ 5 ทุ่ม ส่วนคืนนี้ คุณแม่กลับมา นะแพรวา

กล้าเปลี่ยน

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Basic Trust สร้างพื้นฐานสังคมที่ดีให้กับลูกน้อย

อย่าเพิ่งขมวดคิ้วนะคะว่า เด็กวัย 0-1 ปี จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสังคมแล้วหรือ?

เพราะการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสังคมของเด็กวัย 0-1 ปี ไม่ได้หมายถึงการเตรียมพร้อมให้ลูกได้เจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา หรือไปอยู่กับคนนั้นคนนี้ ตรงกันข้ามเลยค่ะ

การเตรียมพร้อมให้ลูกเข้าสังคมนั้นคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือที่เรียกว่า Basic Trust ซึ่งจะเกิดในช่วงวัย 0-1 ปี เท่านั้น ตามทฤษฎีของ Erik Erikson ถ้าเลยช่วงนี้ไปแล้วอาจจะสร้างให้เกิดขึ้นได้แต่ไม่สมบูรณ์เท่าช่วงขวบปีแรก



ไว้เนื้อเชื่อใจ (Basic Trust) พื้นฐานสำคัญ?
มีคนใกล้ชิดผูกพันแนบแน่นอย่างน้อย 1 คน (mother figure)

ซึ่งคนคนนี้สำคัญมากนะค่ะ จะเป็นพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย หรืออาจจะเป็นพี่เลี้ยงก็ได้ แต่เป็นคนที่เด็กมีความผูกพัน เป็นคนที่เด็กสามารถจดจำได้เป็นคนแรก เป็นคนที่ทำให้เด็กรู้สึกเติมเต็ม รวมทั้งยังมีความบอุ่นใจ ตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการได้ทันที ทำให้เขารู้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียว เพราะไม่ว่าจะไปไหนก็จะมีคนคนนี้จะอยู่กับเขาด้วยเสมอ ซึ่งเด็กก็จะเกิดความไว้ใจ มั่นใจและรู้สึกดีต่อโลกภายนอก นำไปสู่การสร้างพัฒนาการทางสังคมที่ดีต่อไปค่ะ

ซึ่งในอนาคตเด็กจะชอบแยกตัว หรือเข้าสังคม คนคนนี้มีส่วนมาก เพราะถ้าเด็กเติบโตโดยรู้สึกว่าไม่ได้รับการตอบสนองหรือเอาใจใส่ เขาจะชอบแยกตัว เพราะคิดว่าไม่มีคนสนใจหรือใส่ใจ

จะให้ดีที่สุด หน้าที่สำคัญนี้ควรจะเป็นคุณพ่อคุณแม่นะคะ เพราะไม่มีใครที่จะใส่ใจดูแลลูกของเราได้ดีมากที่สุดเท่ากับเราหรอกค่ะ

คนเยอะ เปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อยไม่ดี

ถ้าลูกมีพี่เลี้ยง พยายามอย่าเปลี่ยนพี่เลี้ยงบ่อย เพราะจะมีผลต่อความจำ โดยเฉพาะเด็กอายุ 3 เดือนไปแล้ว จะเริ่มจดจำ เพราะฉะนั้นควรจะเป็นสิ่งเดิมๆ เป็นคนหน้าเดิมๆ ถ้าเปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย หรือส่งลูกไปอยู่กับคนนั้นทีคนนี้ที เขาจะรู้สึกว่าคนที่เขาไว้ใจ หรือคนที่เลี้ยงเขาหายไปไหน สิ่งเหล่านี้สร้างความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในจิตใจของเด็กได้ค่ะ

และในวัย 6 เดือน เด็กจะเริ่มกลัวคนแปลกหน้า การไปเจอคนเยอะๆ จะไม่เป็นผลดีถ้าคุณแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเขาไม่ได้อยู่กับเขาด้วย เพราะนั่นจะทำให้เขารู้สึกกลัว กังวล ไม่ไว้ใจ มากกว่าที่ยิ้มร่า กล้าเข้าไปเล่นด้วย ลองสังเกตผู้ใหญ่อย่างเราก็ได้ค่ะ คนที่เราไม่รู้จัก เราก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปคุยในทันที คงต้องรอดูท่าทีสักพักเหมือนกัน

ซึ่งถ้าเด็กรู้ว่าคนที่เขารักไม่ได้ไปไหนแต่อยู่กับเขาตลอดเวลา แม้จะมีคนอื่นมาเล่นด้วยแม่ก็ยังอยู่กับเขา สิ่งนี้จะทำให้เขายอมเล่นและยิ้มกับคนอื่นมากขึ้นค่ะ เพราะเขามีความอุ่นใจ ปลอดภัยที่แม่อยู่


ช่วยลูกเข้าสังคมได้ดี
0-3 เดือนแรกของชีวิต

ในช่วงแรกเกิด เด็กจะมีความสามารถในการมองเห็นได้บ้างแล้ว แต่คงยังเป็นภาพเบลอๆ อยู่ พอ 2-3 เดือน เขาจะเริ่มโฟกัสได้มากขึ้น เริ่มมองหน้า สบตาได้ดีขึ้น และตอนนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เขาจะเริ่มฝึกค่ะ โดยการยิ้ม (social smile) ช่วงแรกลูกอาจจะยิ้มเพราะยังควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้ไม่สมบูรณ์

แต่พออายุ 2 เดือนเริ่มมี first social smile คือการที่เจ้าตัวน้อยรู้แล้วว่าคนนี้ยิ้มให้ นี่คือหน้าคนที่เห็นอยู่ตลอดเวลา เด็กก็จะตอบสนองด้วยการยิ้มให้ และถ้าคุณแม่ยิ่งยิ้มให้เขา เขาก็จะยิ่งยิ้มกลับ และนี่ก็คือครั้งแรกการมีสังคมของเด็ก โดยมีคุณแม่เป็นสังคมแรกของลูก

ช่วงแรกเกิดนี้ ชีวิตของเด็กจะกินกับนอนเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่สำคัญคือในช่วงตื่นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเข้ามาเล่นกับลูกด้วย ไม่ใช่ตื่นแล้วก็ปล่อยให้ลูกนอนอยู่ในเปล เพราะคิดว่าเด็กทารกคงไม่ได้มีการเรียนรู้อะไร คุณแม่ต้องอุ้มลูกมาเล่น สัมผัส ร้องเพลงเดิมๆ มีการสัมผัสนิ้วของลูกไปด้วย

ยามที่ลูกตื่นก็ยื่นหน้าเข้าไปหา พูดคุย สบตา ยิ้ม นอกจากจะช่วยในเรื่องพัฒนาการ ยังทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องสังคมด้วยนะคะ

3-5 เดือน

ช่วงนี้เจ้าตัวเล็กจะแสดงสีหน้าได้แล้ว อาจจะทำท่าขมวดคิ้ว โกรธ หรือตกใจ ตอนนี้การยิ้มของลูกจะยิ้มให้กับคนที่คุ้นเคย

ถ้ามีคุณตา คุณยาย คุณปู่ คุณย่าเข้ามาคอยดูแล เด็กจะเริ่มไว้วางใจด้วยการยิ้มให้ ตอบสนอง แล้วก็ส่งเสียง และคนรอบข้างก็ควรที่จะตอบสนองลูกด้วยนะคะ

5-6 เดือน

วัยนี้จะเริ่มคว้านู่นคว้านี่ เริ่มนั่งได้แล้ว เราต้องอุ้ม ลูบศรีษะ มองหน้า ยิ้ม อาจจะหาหนังสือนิทานที่มีรูปสวยๆ แล้วก็พูดเล่าให้ฟัง แต่ว่าไม่ได้เน้นเนื้อหา แค่ให้เด็กจำเสียง ภาพ กับวัตถุที่เห็น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในเรื่องภาษาต่อไปด้วยค่ะ ยิ่งถ้าเป็นท่วงทำนอง เป็นเพลงง่ายๆ มีท่าประกอบ เราจะได้สัมผัสมือลูก กระตุ้นประสาทสัมผัส ลูกได้ฟังเสียง หัวเราะ เป็นต้น

6-9 เดือน

ในช่วงระหว่างการเลี้ยงดู คุณแม่จะเริ่มแยกเสียงได้แล้วว่าร้องไห้แบบนี้ลูกกำลังกังวล หรือร้องแบบนี้อยากให้แม่อุ้ม หรือยิ้มแบบนี้ต้องการสื่อสารอะไร

ลูกจะชอบให้เล่นอะไรซ้ำๆ หรือเวลาที่ถูกขัดใจจะร้องกรี๊ดๆ เพราะฉะนั้นสำหรับเด็กวัยนี้ควรตอบสนองทุกอย่างให้มากที่สุดค่ะ

เป็นสิ่งสำคัญค่ะที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของลูก ไม่ต้องรู้ลึกมาก แต่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร ไม่ต้องกังวลว่าจะเพาะนิสัยเอาแต่ใจตัวเองหรือเรียกร้องความสนใจ เพราะวัยนี้ต้องการตอบสนองจากพ่อแม่อย่างมากและจะทำให้เกิดความผูกพันมั่นคงทางจิตใจ

9-12 เดือน

วัยนี้จะเริ่มสังเกตได้ว่าถ้ามีเด็กในวัยเดียวกัน หรือมีน้องในวัยเดียวกันเขาจะเรียกร้องความสนใจมากขึ้น วัยนี้ยังติดแม่ซึ่งความกังวลเรื่องความแยกจากจะหายไปตอนสองขวบกว่า เพราะฉะนั้นช่วงนี้การตอบสนอง ด้วยการเล่นกับลูก และการใกล้ชิดสนิทสนมเป็นเรื่องสำคัญมาก และควรจะยาวต่อเนื่องกันไปจนถึงตอน 2 ขวบกว่าๆ เลยยิ่งดีค่ะ และเมื่อเขามีความมั่นใจในตัวคุณแม่หรือคนเลี้ยงเต็มที่ ก็จะทำให้เด็กกล้าเปิดประตูออกไปรู้จักกับโลกที่กว้างขึ้นค่ะ
จริงๆ แล้วถ้าคุณแม่สามารถให้เวลาในช่วง 1 ปีแรกของชีวิตลูก ด้วยการเลี้ยงเขาเองตลอดอย่างสม่ำเสมอและใส่ใจ จะพบว่าพัฒนาการจะดีในทุกด้าน และยังทำให้ในวัยขวบปีต่อๆ มา การเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับลูกเลยค่ะ




[ ที่มา.. นิตยสารรักลูก ปีที่ 27 ฉบับที่ 318 กรกฎาคม 2552 ]

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Enriched Environment

Enriched Environment แปลว่าสิ่งแวดล้อมมีความสมบูรณ์ แต่เมื่อนำมาใช้กับพัฒนาการเด็ก จึงทำให้หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่สมบูรณ์ ซึ่งจะตรงข้ามกับคำว่า Poor Environment

ที่พ่อแม่เข้าใจผิดกันมากคือ Enriched Environment ต้องเต็มไปด้วยของเล่นและอุปกรณ์ไฮเทค ลูกจึงจะพัฒนาได้ดี ตรงข้ามกับสภาพที่ว่าอาจเป็น Poor Environment ก็เป็นได้ ถ้าความมีมากไม่ก่อให้เกิดการขบคิด การแก้ปัญหา การทดลองทำด้วยตัวเองของเด็ก ดังนั้น Enriched Environment หรือ Poor Environment จึงมีคุณสมบัติเชิงคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กมากกว่าคุณสมบัติทางกายภาพ แม้แต่ความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกถ้าดีเราก็ถือเป็น Enriched Environment แต่ถ้าไม่ดีเราก็ถือเป็น Poor Environment

สิ่งแวดล้อมแบบที่ถือเป็น Enriched Environment ได้แก่
สิ่งแวดล้อมที่เด็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ซึ่งสิ่งแวดล้อมแบบนี้หาซื้อไม่ได้หรอกครับ พ่อแม่ต้องสร้างขึ้น ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา

สิ่งแวดล้อมที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มนุษย์เรียนรู้จากผู้คน ก็แปลว่าเขาขาดประสบการณ์การเรียนรู้ที่สำคัญซึ่งทำให้ขาดคุณสมบัติที่สำคัญไปการที่ลูกของเราได้พูดคุยหยอกล้อกับเรา มีเพื่อนเล่นนั่นแหละ คือ Enriched Environment

สิ่งแวดล้อมที่ท้าทายให้เด็กอยากเรียนรู้ ความอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติของมนุษย์โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ แต่ผู้ใหญ่ก็ทำลายความอยากรู้อยากเห็นนั่นเสีย โดยการห้ามถาม ดุด่า ด้วยความรำคาญ อย่างนี้เรียกว่า Poor Environment แต่ถ้าเป็น Enriched Environmen เราต้องชวนเด็กหาคำตอบ พาเด็กไปหาประสบการณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น

สิ่งแวดล้อมที่เด็กมีโอกาสได้เล่น การเล่นของเด็กคือการเรียนรู้มันเป็นเครื่องมือที่เด็กใช้เข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัว ผมเน้นคำว่ารอบตัวเพราะเราชอบเอาสิ่งไกลตัวมาให้ลูกเล่น เด็กก็สนุกครับแต่อาจยังไมได้เรียนรู้สิ่งรอบตัวทำให้ขาดความเข้าใจในชีวิต ไปหาสิ่งใกล้ตัวให้ลูกเล่น เพราะชีวิตเราล้วนรับอิทธิพลจากสิ่งรอบตัวทั้งนั้น ความเข้าใจและความรู้จากสิ่งรอบตัวจะเป็นรากฐานให้เด็กเข้าใจสิ่งที่อยู่ไกลตัว

สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เด็กได้สัมผัสกับข้อมูลใหม่ๆ ผ่านการเล่าและอ่าน หรือกิจกรรมเล่านิทานอ่านหนังสือให้ฟังนั่นเอง

สิ่งแวดล้อมที่เด็กได้สัมผัสกับความงามหรือสุนทรียภาพ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ศิลปะรูปแบบต่างๆ เพราะมันคือรากฐานที่สำคัญทางจิตใจและความเป็นมนุษย์

สิ่งแวดล้อมที่มีแบบอย่างดีๆ ให้เด็กได้ซึมซับ เพราะหลายอย่างมนุษย์เรียนรู้จากการเลียนแบบ ผ่านการทำหน้าที่ของเซลล์กระจกเงา ถ้าแบบอย่างไม่ดี ลูกหลานของเราก็ไม่ดี ลูกหลานของเราก็จะแย่
คงจะเห็นนะครับ คนรวยหรือคนจนมีโอกาสสร้าง Enriched Environmen ให้ลูกได้เท่ากันอยู่ที่ความเข้าใจของพ่อแม่ หลายคนใช้เงินสร้างสิ่งแวดล้อมให้ลูกโดยคิดว่ามันเป็น Enriched Environmen แต่จริงๆ มันอาจเป็นคือ Poor Environment
นพ.อุดม เพชรสังหาร




([ ที่มา.. นิตยสาร MODERNMOM Vol.13 No.147 January 2008]

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

น้องแพรวา 5 เดือนแล้วครับ

ช่วงนี้กำลังซน....เมื่อวานผู้ใหญ่ 3 คนกับเด็ก 1 คน หลับสบายกันเลย

โรต้า...ไวรัสตัวร้าย

ไวรัสโรต้าแฝงตัวอยู่ตามสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา และไวรัสตัวนี้ก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เด็กวัย 6-12 เดือน ท้องร่วงได้บ่อยๆ เนื่องจากเด็กๆ มักชอบเอาของทุกอย่างเข้าปากนั่นเอง

รู้จักไวรัสโรต้า โรต้าเป็นชื่อของเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่กุมารแพทย์พบว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และยิ่งในช่วงอายุ 6-12 เดือนจะเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดเพราะเด็กวัยนี้หยิบอะไรได้เป็นส่งเข้าปากทันที ซึ่งของเหล่านั้นแหละจะเป็นที่แฝงตัวของเชื้อไวรัสโรต้าอย่างดีเลยทีเดียว

แม้กุมารแพทย์จะรู้จักและคุ้นเคยกับเชื้อไวรัสโรต้ากันมานานแล้ว แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่อาจไม่ค่อยรู้จักเชื้อไวรัสชนิดน้เท่าใดนัก เพราะสถิติคนที่เสียชีวิตด้วยโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้ายังค่อนข้างต่ำ และส่วนใหญ่มักหายเองได้จนกระทั่งระยะหลังๆ มีการพูดถึงเชื้อไวรัสโรต้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีคนคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าได้สำเร็จ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ตื่นตัวกันมากขึ้นด้วย

ต้นตอแพร่เชื้อ จากข้อมูลทางระบาดวิทยาบอกว่าในประเทศไทยพบโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่อากาศเย็น คือเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และด้วยความไวรัสโรต้าสามารถมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวนี่แหละค่ะ จึงส่งผลให้การแพร่กระจายของเชื้อเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว ทั้งจากการกินอาหาร น้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน หรือการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อโรคติดอยู่ เช่น ของเล่นของใช้ เสื้อผ้า ฯลฯ นอกจากนี้อาจติดเชื้อทางการหายใจและกลืนเชื้อลงไปได้อีกด้วย

สัญญาณติดเชื้อไวรัสโรต้า อาการอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้ามีความรุนแรงแตกต่างกันไปตามอายุของเด็กค่ะ เด็กเล็กอาการจะรุนแรงโดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 1 ปี นอกจากนั้นเชื้อไวรัสโรต้ายังมีหลายสายพันธ์ ดังนั้นเด็กๆ จึงอาจเป็นโรคนี้ได้หลายครั้งซึ่งการติดเชื้อครั้งแรกจะมีอาการรุนแรงที่สุด แต่เมื่อเป็นซ้ำๆ อาการจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ค่ะ

หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจจะอุจจาระร่วงเพราะติดเชื้อไวรัสโรต้า ก็ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดว่าจะเริ่มจากมีไข้และอาเจียนประมาณ 1-2 วัน ต่อมาจะเริ่มถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ โดยลักษระของอุจจาระมักไม่มีมูกหรือเลือดปน หรืออาจมีมูกปนได้เล็กน้อย พร้อมกับลูกอาจจะมีอาการหวัดร่วมด้วยได้อถ้าลูกมีอาการรุนแรงถ่ายอุจจาระและอาเจียนมากจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ถ้าสังเกตเห็นลูกปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลงควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะลูกมีโอกาสช็อกและอาจเสียชีวิตได้

เยียวยายามท้องร่วง การรักษาโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าก็ไม่แตกต่างจากโรคท้องร่วงด้วยสาเหตุอื่นๆ คือการรักษาตามอาการ และมุ่งป้องกันอาการขาดน้ำเป็นหลักเพราะเป็นอาการแทรกซ้อนสำคัญที่อาจทำให้ลูกเสียชีวิตได้ แต่ถ้าท้องร่วงไม่รุนแรงก็จะหายเองได้ในเวลา 3-7 วันค่ะ

หากลูกถ่ายมากจนอ่อนเพลียเพราะเสียน้ำ ควรให้ลูกดื่มหรือจิบน้ำเกลือแร่สำหรับเด็กครั้งละน้อยบ่อยๆ ครั้ง เพื่อทดแทนปริมาณน้ำที่เสียไป (ไม่แนะนำให้ใช้น้ำอัดลมผสมเกลือหรือน้ำเกลือชนิดขวดสำหรับนักกีฬาแทนนะคะ) แต่ถ้าลูกไม่สามารถดื่มเกลือแร่ได้เพียงพอหรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดค่ะ

คุณพ่อคุณแม่บางคนมีความเชื่อว่าถ้าลูกอุจจาระร่วงต้องงดอาหารนั้นถือเป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ ลูกยังต้องการสารอาหารไปทดแทน เพียงแต่คุณแม่ควรเปลี่ยนอาหารโดยเน้นอาหารจำพวกแป้งและให้ลูกกินโปรตีนทีละน้อยๆ หลีกเลี่ยงอาหารเส้นในจำพวกผักและผลไม้ และให้ลดปริมาณของอาหารในแต่ละมื้อลง แต่เพิ่มจำนวนมื้อให้มากขึ้น ส่วนลูกที่ยังดื่มนมก็สามารถดื่มได้ตามปกติ หรืออาจเปลี่ยนเป็นนมที่ไม่มีน้ำตาลแล็กโทสเนื่องจากเชื้อไวรัสนี้จะไปทำลายเยื่อบุลำไส้เป็นสาเหตุให้มีปัญหาในการดูดซึมน้ำตาลแล็กโทศที่มีอยู่ในนมทำให้ท้องเสียเพิ่มมากขึ้นได้และไม่ควรใช้วิธีเจือจางนมเพราะจะทำให้ลูกขาดพลังงานที่ควรได้รับ แต่ถ้าลูกกินนมแม่อยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนมค่ะ

ป้องกันไวรัสโรต้า อย่างที่รู้ว่าไวรัสโรต้ามีอยู่ตามสิ่งแวดล้อมทั่วไป เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขอนามัยอาหารและน้ำดื่ม การล้างมือหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม การทำความสถานที่ ของเล่นของใช้ และภาชนะทุกชิ้น หลีกเลี่ยงการพาลูกไปสถานที่แออัด รวมไปถึงการฝากลูกในสถานรับเลี้ยงเด็กด้วย

นอกจากนี้ก็มีการศึกษาแล้วว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถลดโอกาสการเกิดโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าได้ เพราะลดโอกาสสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ตามขวดนมและน้ำดื่ม และในนมแม่ยังมีสารและภูมิต้านทานช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ด้วย

ในปัจจุบันยังมีวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงใช้แล้วโดยการหยอดเริ่มให้เมื่ออายุ 2 เดือนและ 4 เดือน แต่วัคซีนป้องกันนี้ยังมีราคาแพงคุณพ่อคุณแม่จึงต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าด้วย แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนก็ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโรต้าได้ 100% เพียงแต่ช่วยให้มีอาการท้องร่วงน้อยลง เพราะฉะนั้นการให้วัคซีนจึงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ที่จำเป็นเฉพาะเด็กในสถานเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนค่ะ

สถิติน่ารู้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าในเอเชีย ในปี 2544-2545 พบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่เข้ารักษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในโรงพยาบาลมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโรต้าถึง 45% และเฉพาะที่ประเทศไทยพบได้ 20-50%

จุดสังเกต…ไวรัสโรต้า หากสังเกตจากลักษณะอาการภายนอกอาจจะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ลูกอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าหรือไม่ เพราะบางครั้งมีสาเหตุมาจากเชื้ออื่น เช่น เชื้อแบคทีเรีย ที่ลักษณะอุจจาระมักมีมูกหรือเลือดปนก็จริงแต่เชื้อแบคทีเรียบาชนิดอาจทำให้อุจจาระเป็นน้ำโดยไม่มีมูกเลือดเหมือนไวรัสโรต้าได้ การตรวจเพิ่มเติมทางการแพทย์ เช่น ตรวจหาเชื้อไวรัสโรต้า หรือการเพาะเชื้อแบคทีเรียในอุจจาระ จะช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น.


[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Vol.12 No.134 December 2006]

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

6-9 เดือน จอมซนวัยสำรวจ

ก้าวสู่ครึ่งปีหลังของขวบแรก ทารกน้อยที่เคยนอนรอให้คุณแม่มาประคบประหงม หายไปแล้วค่ะ เหลือแต่หนูน้อยที่ไม่ยอมอยู่นิ่ง วันทั้งวันวุ่นวายและสนุกอยู่กับการคืบ คลาน มือไม้คอยแต่จะคว้าหยิบจับสิ่งของต่างๆ มาสำรวจด้วยความอยากรู้อยากเห็นวัยนี้คุณพ่อคุณแม่บางคนตั้งฉายาให้ลูกเลยว่า…เจ้าจอมซน…ค่ะ


วันเวลาของการเปลี่ยนแปลง

ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการเจริญเติบโตของลูกน้อยค่ะและขณะเดียวกันก็เรียกได้ว่าเป็นเวลาแห่งความชื่นใจของคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพราะลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากที่เคยนอนนิ่งๆ ในที่ที่เรากำหนด วันนี้เขาเรียนรู้วิธีการพาตัวเองเข้าหาสิ่งที่ต้องการได้แล้ว ไม่ว่าจะด้วยการคืบ คลาน ยืน เดิน หรือใช้มือคว้า หยิบ จับ เขย่า ปล่อย เคาะ สิ่งของ และดูท่าว่าจะสนุกสนานกับการฝึกฝน พยายามทำแล้วทำอีกอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเลยล่ะค่ะ

หลังจากเรียนรู้วิธีทรงตัวเพื่อนั่งในเดือนที่ 6 แล้ว ในเดือนที่ 7 ลูกจะเริ่มหัดคลาน โดยเรียนรู้จากประสบการณ์การคืบ แต่ถึงอย่างนั้นการคลานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กๆ นัก เพราะต้องอาศัยการทำงานที่ประสานกันของกล้ามเนื้อหลายๆ ส่วนด้วยกัน เช่น ขา แขน ไหล่ สะโพก ลำตัว คอ รวมทั้งการทำงานประสานกันของสมองที่ควบคุมกล้ามเนื้อเหล่านั้นด้วย ซึ่งลูกต้องใช้เวลาในการฝึกฝนโดยผู้ช่วยสำคัญก็คือ คุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ

เริ่มจากชวนลูกคลานโดยคลานเล่นกับลูก ไม่ควรให้ลูกหัดคลานบนฟูกที่นอน เพียงเพราะหวังดีไม่อยากเห็นลูกหัวปูดหัวโนจาการคลานแล้วล้มเผละกระแทกพื้นนะคะ เพราะความนุ่มของที่นอนจะทำให้ลูกคลานลำบาก ทางที่ดีเพื่อความปลอดภัยและฝึกพัฒนาการลูกใช้พื้นพรมเป็นสนามฝึกคลาน หรือใช้แผ่นโฟมตัวอักษรปูพื้นจะเหมาะกว่า

เมื่อลูกคคลานได้คล่องจนสามารถแบ่งมืออีกข้างหนึ่งไปถือของเล่นได้แล้ว เขาก็จะเริ่มเรียนรู้ที่จะพาตัวเองลุกขึ้นยืนโดยการหาที่เกาะพยุงตัวเองขึ้นยืน พยายามทรงตัวอยู่ในท่านั้น ที่มากกว่านั้นบางคนก็เริ่มรู้จักพาตัวเองไต่ไปรอบๆ โต๊ะหรือเก้าอี้โดยใช้มือเกาะข้างหน้าและดึงตัวพร้อมก้าวขาตามค่ะ


นักสำรวจตัวน้อย

ความที่เริ่มเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วมากขึ้น บวกกับความสนใจใคร่รู้นี้เองที่ดึงดูดใจให้ลูกพาตัวเองเคลื่อนที่ไปไหนต่อไหนได้ บวกกับความตื่นเต้นในสิ่งใหม่ๆ ที่ได้เห็นและสัมผัส ยิ่งมีมากเท่าไหร่ยิ่งมีแรงส่งให้ลูกไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกับการออกสำรวจ และทำให้ลูกรู้สึกว่าโลกนี้ช่างน่าตื่นเต้นเหลือเกิน จนบางครั้งอาจถึงขั้นไม่อยากหลับอยากนอนเอาเลย ลูกวัยนี้จึงหลับยากมากขึ้นนอนน้อยลงกว่าช่วงแรกๆ

การเป็นนักสำรวจของลูกวัยนี้ไม่ได้มีเฉพาะกับโลกรอบตัวเท่านั้นหรอกนะคะ แต่กับของธรรมดาๆ อย่างอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของคุณพ่อคุณแม่และของตัวเขาเองก็กลายเป็นสิ่งเรียกความสนใจได้ไม่น้อย ลูกอาจจะสนุกกับการจิ้มจมูกจับปากคุณเพราะสงสัยว่ามันจะเอาออกไปได้มั้ย หรือสนุกกับการสำรวจอวัยวะตัวเอง

นักสำรวจตัวน้อยจะใช้มือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสำรวจ โดยเริ่มต้นจะใช้เวลามองพินิจพิเคราะห์ก่อน แล้วจึงใช้มือสัมผัสลูบคลำพื้นผิว ขอบวัตถุ จับหมุนไปมาด้านนู้นด้านนี้ที จับเคาะกับพื้น ทิ้งลงพื้น ชอบที่จะหยิบของใส่และออกจากกล่อง ซึ่งการกระทำแบบนี้และที่เป็นการเรียนรู้และการฝึกฝนการควบคุมกล้ามเนื้อมือให้ชำนาญมากขึ้น


นักเรียนรู้

ดูเผินๆ ช่วงวัยนี้ที่จะเห็นมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมากก็คือ พัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ระหว่างนั้นลูกก็กำลังพัฒนาความสามารถของสมองไปด้วยจากการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะทางด้านร่างกายอย่างที่กล่าวไปแล้ว ที่ล้วนแต่มาจากการทำงานประสานกันของสมองส่วนต่างๆ ทั้งสิ้น

ความสามารถในการเชื่อมโยงความคิดของลูกก็มีมากขึ้นและชำนาญขึ้น เช่น ลูกจะเรียนรู้ว่าเมื่อได้ยินเสียงเปิดปิดประตูตอนช่วงเย็นๆ ก็จะคลานมาแถวประตูรอรับพ่อแม่ที่กลับจากทำงาน เชื่อมโยงชื่อเรียกที่ได้ยินกับสิ่งที่เห็น เช่น จะมองหาเมื่อได้ยินคุณเรียกชื่อคนๆ นั้น รู้ว่าเมื่อแม่อุ้มมานั่งที่เก้าอี้นี้หมายถึงว่าได้เวลาหม่ำแล้ว เป็นต้น ซึ่งถ้าในระหว่างทุกๆ การกระทำมีการพูดคุยกับลูกก็ยิ่งช่วยให้การเชื่อมโยงความคิดของลูกมีมากขึ้น การเรียนรู้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

เวลากินอาหารก็เป็นช่วงของการเรียนรู้ของลูกค่ะ วัย 7-8 เดือนของลูกนี้หลายครั้งที่คุณเห็นว่าลูกจะดึงจากมือคุณ ยิ่งช่วงเวลากินที่คุณตั้งท่าจับช้อนเตรียมป้อนอาหารส่งเข้าปาก ลูกมักจะคว้าช้อนไปจากมือคุณไปเขี่ยๆ อาหารคล้ายจะพยายามตักอาหารกินเอง หรือบางทีใช้ช้อนไม่ทันใจก็จะทิ้งช้อนหันไปใช้นิ้วหยิบอาหารเข้าปากเอง แต่ด้วยความไม่ชำนาญก็จะหกเลอะเทอะมากกว่าที่เข้าปาก

แทนที่คุณแม่จะหงุดหงิดว่าลูกสร้างงานเลอะเทอะให้ต้องตามเก็บเช็ด หรือกังวลว่าลูกจะไม่โตเพราะได้อาหารไม่พอขอบอกค่ะว่าวัยนี้ของลูกยังไงนมก็ยังเป็นอาหารหลักอยู่ อาหารมีเพียงวันละ 1 มื้อ อีกอย่างกระเพาะอาหารของลูกยังเล็กไม่ต้องการปริมาณอาหารมากแต่ต้องการสารอาหารครบถ้วน เพราะฉะนั้นคุณควรตัดกังวลข้อนี้ออกไป แล้วจัดบรรยากาศในการกินให้เป็นความรื่นรมย์สำหรับลูก เช่น ปูกระดาษหรือพลาสติกที่พื้น ส่วนโต๊ะก็หุ้มพลาสติก เตรียมช้อนไว้ 2 ชุด สำหรับลูกไว้หัดตักกินและสำหรับคุณไว้ป้อนอาหารลูกแล้วปล่อยให้ลูกกินเองอย่างอิสระ

เท่านี้ลูกก็ได้ฝึกซ้อมใช้กล้ามเนื้อมือ ฝึกการใช้สายตากะระยะจากการตักอาหารเข้าปาก เรียนรู้กลิ่น รส และผิวสัมผัสของอาหาร รู้จักช่วยเหลือตัวเองและยังได้ความรู้สึกที่ดีต่อการกินอาหารด้วย แลกกันแบบนี้คุ้มซะยิ่งกว่าคุ้มนะคะ


ติดแม่ กลัวคนแปลกหน้า

วัยนี้แหละที่คุณจะเริ่มเห็นอาการ “ติดแม่” หรือกลัวคนแปลกหน้าเกิดขึ้นกับลูกแล้ว เพราะลูกเริ่มเรียนรู้เรื่องการเคลื่อนที่ของสิ่งของและคนแล้ว รู้ว่าแม่ก็เคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้เหมือนอย่างที่แกทำได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการแยกห่างจากพ่อแม่ ต่อให้ลูกรู้สึกสนุกกับสิ่งแปลกใหม่ที่ได้พบแค่ไหน แต่ก็ยังมีความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลที่ต้องอยู่ห่างแม่ ซึ่งอาการ “ติดแม่” นี้ถ้ามีมากก็เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของลูก เพราะลูกจะกลัวการพรากจากจนไม่กล้าเรียนรู้

คุณแม่สามารถช่วยลดอาการนี้ของลูกได้ โดยการบอกให้ลูกรู้ก่อนที่จะหายตัวไปจากที่ตรงนั้น ส่งเสียงให้รู้ว่าแม่อยู่ไม่ไกล ไม่ได้ทิ้งลูกไปไหน และไม่ควรทิ้งลูกไว้นานๆ ค่อยๆ เริ่มต้นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สักพักลูกก็จะเริ่มคุ้นชินกับการที่ต้องห่างแม่คุณแม่ค่ะ


เสริมทักษะพัฒนาลูกวัย 6-9 เดือน
สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการสำรวจของลูกวัตถุที่ลูกจะคว้า เกาะ หรือยึดเพื่อลุกยืนควรมั่นคงแข็งแรงไม่ใช่คว้าปั๊บ หล่นโครมใส่ลูกทันที เพื่อเป็นสนามฝึกที่ปลิดภัยในการฝึกพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของลูกค่ะ

เพื่อฝึกการใช้มือและนิ้วของลูกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองเล่นเกมรับ-ส่งของระหว่างพ่อแม่ลูก เล่นด้วยระยะเวลาที่นานพอสมควร นอกจากช่วยการฝึกใช้นิ้วและมือแล้วลูกยังได้เรียนรู้เรื่องการให้และการรับซึ่งพัฒนาเรื่องความมีน้ำใจในสังคมให้เขาเมื่อโตขึ้นได้ค่ะ

เตรียมรับมือกับความหงุดหงิดและอารมณ์โกรธของลูกที่มาพร้อมๆ กับความต้องการทำอะไรหลายอย่างแต่ยังทำไม่ได้อย่างอดทนด้วยนะคะ เช่น เขาอาจต้องคลานไปข้างหน้าเพื่อหยิบของเล่นที่สนใจ แต่พบว่าตัวเองกลับคลานถอยหลังห่างไปจากของนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่าหยิบของนั้นส่งให้นะคะ แค่ลงไปนั่งด้านหลังลูก เพื่อให้ลูกคลานถอยหลังไม่ได้ลูกก็จะเริ่มเคลื่อนไปข้างหน้าแทนเพื่อไปหาของนั้นด้วยตัวเอง

เมื่อลูกเริ่มต้นใช้เสียงและท่าทางสื่อสารความต้องการของเขา คุณพ่อคุณแม่ต้องตีความและพูดออกมาแทนเขานะคะจะผิดหรือถูกก็ไม่เป็นไร เป็นการช่วยลูกพัฒนาทักษะทางภาษา เช่น เขาชี้ที่ขวดน้ำ คุณลองถามว่า “หนูอยากกินน้ำใช่ไหม” หากเขาไม่กิน ก็ถามใหม่ว่า “หนูอยากถือขวดเล่นหรือคะ” ถามไปเรื่อยๆ แล้วคุณจะได้คำตอบที่ถูกต้องเอง เขาเข้าใจทุกอย่างที่คุณพูดค่ะ อย่าบ่นว่าเขาจะเอาอะไรคุณไม่เห็นรู้เลยนะคะ เขาจะไม่กล้าส่งเสียงอีก พัฒนาการด้านภาษาก็จะไม่ได้รับการพัฒนา

เมื่อลูกเป็นนักสำรวจ พ่อแม่ก็ต้องเป็นนักสังเกตค่ะ คือสังเกตว่าลูกชอบหรือสนใจอะไรเป็นพิเศษแล้วหาสิ่งนั้นมาให้เขาสำรวจ เช่น ลูกอยากสำรวจหนังสือ ก็หาหนังสือที่คุณสามารถปล่อยให้มันฉีกขาดชำรุดได้มาให้ลูก และปล่อยให้ลูกเปิดหนังสือเอง เขาอาจเปิดจากท้ายมาหน้า หน้ามาท้าย กลับหัวกลับหาง กลับหน้ากลับหลัง หรือดูหน้าใดหน้าหนึ่งเป็นเวลานานมาก นั่นก็เพราะเขากำลังเรียนรู้จากหนังสืออย่างเพลิดเพลินและสนุกสนาน อีกอย่างถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ลูกได้ใกล้ชิดคุ้นเคยกับหนังสือค่ะ

หากต้องการให้ลูกเข้าใจเรื่องการดำรงอยู่ของคนและสิ่งของแม้จะไม่ได้เห็นชั่วขณะก้ตาม ให้เล่น เกมจ๊ะเอ๋ ปิดตา ซ่อนหา เกมนี้เด็กๆ จะชอบมาก และเกมซ่อนสิ่งของให้เข้าหาเขาจะดีใจมากที่หาเจอ ถ้าคุณเล่นเกมนี้กับลูก นั่นคือคุณกำลังช่วยให้เขาเข้าใจเรื่องการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งแม้จะมองไม่เห็นชั่วขณะก็ตาม

วัยนี้ลูกจะหลับยาก คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกผ่อนคลายด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ ก่อนถึงเวลานอน และทำอย่างสม่ำเสมอ จนลูกมั่นใจว่าการที่เขาจากคุณแม่คุณพ่อไปในเวลานอนก็แค่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อตื่นมาในวันใหม่เขาก็จะได้พบกับคุณพ่อคุณแม่อีก และทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วยความเพลิดเพลิน เช่น ร้องเพลง เล่าหรืออ่านนิทานจากหนังสือภาพด้วยระยะเวลาที่นานพอสมควร แล้วปล่อยให้ลูกหลับไปเองอย่างผ่อนคลาย โดยไม่ต้องไกวเปล ตบก้นเบาๆ กล่อมเขา หรือป้อนนมเขา
พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของลูกที่กล่าวมานี้ผ่านไปอย่างรวดเร็วนะคะ หากคุณไม่ได้ใกล้ชิด สังเกตและเก็บรับไว้ เมื่อเวลาผ่านไปแล้วเราไม่สามารถเรียกวันเวลาที่น่าชื่นใจนี้กลับมาได้ ที่สำคัญการได้อยู่ใกล้ชิดและเฝ้าสังเกตทุกขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของลูกจะช่วยทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าจะปรับตำราเลี้ยงดูและดูแลลูกอย่างไรเพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้สอดคล้องกับลูกมากที่สุดค่ะ เรื่องแบบนี้มีแต่คุณพ่อคุณแม่เท่านั้นที่รู้ดีที่สุดค่ะ


พัฒนาการเฉพาะตัว

เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการเฉพาะของตน แต่ละคนมีความแตกต่างอาจช้าหรือเร็วกว่าเกณฑ์พัฒนาการบ้างสลับขั้นตอนไปบ้าง พัฒนาการของเด็กจะเป็นไปตามบุคลิกลักษณะของตัวเด็กเอง เช่น ที่เกณฑ์เฉลี่ยเด็กจะเริ่มคืบในเดือนที่ 6 คลานได้คล่องในเดือนที่ 8 แต่เด็กที่บุคลิกแอคทีฟอาจทำให้เร็วกว่านั้น เด็กที่เงียบอาจช้ากว่านั้น

เด็กที่เงียบ พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่อาจช้าไปกว่าเกณฑ์บ้าง แต่พัฒนาของกล้ามเนื้อเล็กอาจจะทำได้ดี เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเป็นกังวลมากไป แต่ใช้การใกล้ชิดสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกก็จะทำให้คุณรู้จักลูกและรู้วิธีที่จะส่งเสริมลูกได้ดียิ่งขึ้นค่ะ.



[ ที่มา.. นิตยสารรักลูก ปีที่ 24 ฉบับที่ 280 พฤษภาคม 2549 ]

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แพรวาอายุครบ 5 เดือน แล้วพัฒนาการเด็ก 5เดือนเป็นอย่างไรมาดูกันครับ

พัฒนาการปกติ เดือนที่ 5 “ พลิกตัวคล่อง”

ลูกควรจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 2 เท่าของแรกเกิดเมื่ออายุ 4-5 เดือน ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกนั้น เด็กจะโตเร็ว และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 800 – 1,000 กรัม แต่หลังจาก เข้าเดือนที่ 5 น้ำหนักจะเริ่มขึ้นช้าลง โดยอาจจะเพิ่มประมาณ 500-600 กรัม ต่อเดือน และต่อมา จะเหลือเพียง 200-400 กรัม ต่อเดือน หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว


ลูกควรจะพลิกตัวคว่ำหงายได้คล่อง และชอบที่จะอยู่ในท่านั่ง มากกว่าท่านอน ลูกจะเริ่มใช้มือร่วมกับสายตาที่มองเห็นสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น จะเริ่มจับสิ่งของ บางครั้งจะกำของแน่นด้วยมือทั้ง 2 ข้าง และชอบที่จะเอาของต่างๆ ใส่เข้าไปในปากเพื่อเรียนรู้ ลูกจะยังไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ ระหว่างสิ่งของที่เห็นอยู่ต่อหน้ากับสิ่งของที่ถูกซ่อนไว้ แม้ว่าลูกจะมองเห็นว่าคุณซ่อนของชิ้นนั้นต่อหน้าเขา


ลูกจะชอบที่จะพบปะผู้คน จะส่งเสียงต่างๆ ได้อย่างน่ารัก และยังชอบทำท่าทางเลียนแบบคนที่กำลังเล่นกับเขา ลูกจะทำเสียงสูง เสียงต่ำ และเริ่มออกเสียง ที่พอจับความหมายได้ เช่น คำว่า “ดา” “มา” ท่าทีที่คุณตอบสนองต่อการส่งเสียงของเขา จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ลูกสนุก กับการส่งเสียงต่างๆมากขึ้น ซึ่งช่วงนี้ ก็เป็นโอกาสในการตรวจเช็คการได้ยินของลูกไปด้วย เพราะความสามารถในการพัฒนาการด้านภาษานั้น จะขึ้นกับการได้ยินเสียงต่างๆ โดยเฉพาะเสียงพูดของคนรอบข้าง

อาหารที่ลูกทาน ก็มีความสำคัญ เพราะในช่วงนี้ จะพบว่าปริมาณของธาตุเหล็ก ที่มีสะสมมาในตอนแรกเกิด จะเริ่มลดน้อยลง จากการที่ลูกมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็ว ดังนั้นควรให้นมที่มีธาตุเหล็กเสริม (ซึ่งนมทารกส่วนใหญ่ที่มีขายในท้องตลาด ก็มีการเสริมธาตุเหล็กอยู่แล้ว) และในทารกที่เลี้ยงด้วยนมมารดา อาจต้องการธาตุเหล็กเพิ่ม จากอาหารเสริม และการให้รับประทานไวตามิน ที่มีธาตุเหล็ก (ควรปรึกษาแพทย์ ก่อนพิจารณาการให้ธาตุเหล็ก)

ลูกจะทานอาหารได้ดีขึ้น แต่ในการเลือกชนิดอาหารที่จะป้อนลูก ยังต้องระวังเรื่องการแพ้สารอาหารบางชนิด จึงยังต้องคอยเอาใจใส่เสมอ บางครั้งลูกจะมัวแต่สนใจที่จะเล่น ทำให้การป้อนอาหาร ใช้เวลานานมาก และบางครั้งก็จะเริ่มอมข้าว ในรายที่ทานอาหารได้ดี จะเห็นว่าการทานนม จะน้อยลงบ้าง ซึ่งเป็นปกติ ทั้งนี้เพราะในอาหารของลูก ที่คุณป้อนนั้นจะมีคุณค่าทางโภชนาการ และมีปริมาณของแคลอรี่ และสารอาหารที่ครบถ้วนอยู่แล้ว

หลังจากนี้ไม่นาน เด็กบางคนจะเริ่มแยกแยะระหว่างคนที่เขาคุ้นเคย กับคนแปลกหน้า ทำให้เขาเริ่มกลัว หรือร้องไห้ เมื่อเจอคนแปลกหน้า ที่เรียกว่า “stranger anxiety” ลูกจะต้องการเวลาสำหรับทำความคุ้นเคย และสังเกตคนแปลกหน้า ที่เริ่มเข้ามาอยู่ใกล้เขา ถ้าคนๆนั้นไม่มีท่าทีที่จะเป็นอันตราย หรือตรงเข้ามาหาเขาทันที ให้เวลาให้ลูกได้ยอมรับเขา ลูกก็จะไม่เกิดความกลัว แต่ถ้าคนๆนั้นทำเสียงดัง หรือมีท่าทางที่จะทำให้ลูกตกใจ ก็จะเกิดการร้อง หรือกลัวขึ้นทันที ดังนั้นควรที่ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่จะเข้ามาหาคุณพ่อคุณแม่ ในขณะที่อยู่กับลูก จะเข้าใจ และพูดคุยกับคุณโดยไม่ทำท่าให้ความสนใจเด็กมากนัก เพื่อให้เด็กได้เกิดความวางใจก่อน จึงค่อยเล่นกับเด็กทีหลัง

นอกจากนี้ ลูกเริ่มที่จะทำอะไรได้หลายอย่างขึ้น คุณจึงควรเตรียมตัว ที่จะสอนให้เขารู้ถึงกฎเกณฑ์บางอย่างที่ง่ายๆ ได้ เพราะลูกพอจะรู้ จากการสังเกตสีหน้าท่าทาง และน้ำเสียงของคุณว่าคุณ “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” ในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ ซึ่งต้องอาศัยเวลา, ความเข้าใจ และความสม่ำเสมอ ในการฝึกฝนอีกสักพักใหญ่ ก่อนที่เด็กจะเรียนรู้ว่า อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ของการอบรมเลี้ยงดูลูกในอนาคต อย่างที่เรียกว่า “Discipline” นั่นเอง

________________________________________
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

สำหรับน้องแพรวาเรื่องพลิกตัวเพิ่งจะทำได้ตอน 4 เดือนกับ 3 สัปดาห์ พลิกตัวได้แต่ยังพลิกกลับไม่ได้ครับ

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผ้าป่าสามัคคีศิษย์เก่า พ.ศ.2518 ทอดถวาย ณ วัดประชานิยม เมื่อ 8 พ.ค. 54

ทอดถวายผ้าป่าสามัคคี สายบางพลี สมุทรปราการ จันทบุรี สกลนครเพื่อสมทบทุนสร้างรูปปั้นเหมือน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ณ วัดประชานิยมตำบลหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมือวันที่ 8 พ.ค. 2554 ยอดเงินบริจาค 95,199 บาท
เปิดซองผ้าป่าเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2554

ตั้งกองผ้าป่าบริเวณตลาดสด เทศบาลตำบลหนองหลวง ด้านหน้าร้านแก๊ส บริหารงานโดย หน่อย



เพื่อนศิษย์เก่ารุ่น พ.ศ.เกิด 2518 ร่วมทอดถวายผ้าป่าที่วัดประชานิยม เช้าวันที่ 8 พ.ค. 2554 ครับ














วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แพรวา 4 เดือน 3 สัปดาห์

up รูปให้พี่ ๆ ป้า ๆ น้าอา ดูครับ