วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

6-9 เดือน จอมซนวัยสำรวจ

ก้าวสู่ครึ่งปีหลังของขวบแรก ทารกน้อยที่เคยนอนรอให้คุณแม่มาประคบประหงม หายไปแล้วค่ะ เหลือแต่หนูน้อยที่ไม่ยอมอยู่นิ่ง วันทั้งวันวุ่นวายและสนุกอยู่กับการคืบ คลาน มือไม้คอยแต่จะคว้าหยิบจับสิ่งของต่างๆ มาสำรวจด้วยความอยากรู้อยากเห็นวัยนี้คุณพ่อคุณแม่บางคนตั้งฉายาให้ลูกเลยว่า…เจ้าจอมซน…ค่ะ


วันเวลาของการเปลี่ยนแปลง

ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการเจริญเติบโตของลูกน้อยค่ะและขณะเดียวกันก็เรียกได้ว่าเป็นเวลาแห่งความชื่นใจของคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพราะลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากที่เคยนอนนิ่งๆ ในที่ที่เรากำหนด วันนี้เขาเรียนรู้วิธีการพาตัวเองเข้าหาสิ่งที่ต้องการได้แล้ว ไม่ว่าจะด้วยการคืบ คลาน ยืน เดิน หรือใช้มือคว้า หยิบ จับ เขย่า ปล่อย เคาะ สิ่งของ และดูท่าว่าจะสนุกสนานกับการฝึกฝน พยายามทำแล้วทำอีกอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเลยล่ะค่ะ

หลังจากเรียนรู้วิธีทรงตัวเพื่อนั่งในเดือนที่ 6 แล้ว ในเดือนที่ 7 ลูกจะเริ่มหัดคลาน โดยเรียนรู้จากประสบการณ์การคืบ แต่ถึงอย่างนั้นการคลานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กๆ นัก เพราะต้องอาศัยการทำงานที่ประสานกันของกล้ามเนื้อหลายๆ ส่วนด้วยกัน เช่น ขา แขน ไหล่ สะโพก ลำตัว คอ รวมทั้งการทำงานประสานกันของสมองที่ควบคุมกล้ามเนื้อเหล่านั้นด้วย ซึ่งลูกต้องใช้เวลาในการฝึกฝนโดยผู้ช่วยสำคัญก็คือ คุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ

เริ่มจากชวนลูกคลานโดยคลานเล่นกับลูก ไม่ควรให้ลูกหัดคลานบนฟูกที่นอน เพียงเพราะหวังดีไม่อยากเห็นลูกหัวปูดหัวโนจาการคลานแล้วล้มเผละกระแทกพื้นนะคะ เพราะความนุ่มของที่นอนจะทำให้ลูกคลานลำบาก ทางที่ดีเพื่อความปลอดภัยและฝึกพัฒนาการลูกใช้พื้นพรมเป็นสนามฝึกคลาน หรือใช้แผ่นโฟมตัวอักษรปูพื้นจะเหมาะกว่า

เมื่อลูกคคลานได้คล่องจนสามารถแบ่งมืออีกข้างหนึ่งไปถือของเล่นได้แล้ว เขาก็จะเริ่มเรียนรู้ที่จะพาตัวเองลุกขึ้นยืนโดยการหาที่เกาะพยุงตัวเองขึ้นยืน พยายามทรงตัวอยู่ในท่านั้น ที่มากกว่านั้นบางคนก็เริ่มรู้จักพาตัวเองไต่ไปรอบๆ โต๊ะหรือเก้าอี้โดยใช้มือเกาะข้างหน้าและดึงตัวพร้อมก้าวขาตามค่ะ


นักสำรวจตัวน้อย

ความที่เริ่มเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วมากขึ้น บวกกับความสนใจใคร่รู้นี้เองที่ดึงดูดใจให้ลูกพาตัวเองเคลื่อนที่ไปไหนต่อไหนได้ บวกกับความตื่นเต้นในสิ่งใหม่ๆ ที่ได้เห็นและสัมผัส ยิ่งมีมากเท่าไหร่ยิ่งมีแรงส่งให้ลูกไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกับการออกสำรวจ และทำให้ลูกรู้สึกว่าโลกนี้ช่างน่าตื่นเต้นเหลือเกิน จนบางครั้งอาจถึงขั้นไม่อยากหลับอยากนอนเอาเลย ลูกวัยนี้จึงหลับยากมากขึ้นนอนน้อยลงกว่าช่วงแรกๆ

การเป็นนักสำรวจของลูกวัยนี้ไม่ได้มีเฉพาะกับโลกรอบตัวเท่านั้นหรอกนะคะ แต่กับของธรรมดาๆ อย่างอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของคุณพ่อคุณแม่และของตัวเขาเองก็กลายเป็นสิ่งเรียกความสนใจได้ไม่น้อย ลูกอาจจะสนุกกับการจิ้มจมูกจับปากคุณเพราะสงสัยว่ามันจะเอาออกไปได้มั้ย หรือสนุกกับการสำรวจอวัยวะตัวเอง

นักสำรวจตัวน้อยจะใช้มือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสำรวจ โดยเริ่มต้นจะใช้เวลามองพินิจพิเคราะห์ก่อน แล้วจึงใช้มือสัมผัสลูบคลำพื้นผิว ขอบวัตถุ จับหมุนไปมาด้านนู้นด้านนี้ที จับเคาะกับพื้น ทิ้งลงพื้น ชอบที่จะหยิบของใส่และออกจากกล่อง ซึ่งการกระทำแบบนี้และที่เป็นการเรียนรู้และการฝึกฝนการควบคุมกล้ามเนื้อมือให้ชำนาญมากขึ้น


นักเรียนรู้

ดูเผินๆ ช่วงวัยนี้ที่จะเห็นมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมากก็คือ พัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ระหว่างนั้นลูกก็กำลังพัฒนาความสามารถของสมองไปด้วยจากการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะทางด้านร่างกายอย่างที่กล่าวไปแล้ว ที่ล้วนแต่มาจากการทำงานประสานกันของสมองส่วนต่างๆ ทั้งสิ้น

ความสามารถในการเชื่อมโยงความคิดของลูกก็มีมากขึ้นและชำนาญขึ้น เช่น ลูกจะเรียนรู้ว่าเมื่อได้ยินเสียงเปิดปิดประตูตอนช่วงเย็นๆ ก็จะคลานมาแถวประตูรอรับพ่อแม่ที่กลับจากทำงาน เชื่อมโยงชื่อเรียกที่ได้ยินกับสิ่งที่เห็น เช่น จะมองหาเมื่อได้ยินคุณเรียกชื่อคนๆ นั้น รู้ว่าเมื่อแม่อุ้มมานั่งที่เก้าอี้นี้หมายถึงว่าได้เวลาหม่ำแล้ว เป็นต้น ซึ่งถ้าในระหว่างทุกๆ การกระทำมีการพูดคุยกับลูกก็ยิ่งช่วยให้การเชื่อมโยงความคิดของลูกมีมากขึ้น การเรียนรู้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

เวลากินอาหารก็เป็นช่วงของการเรียนรู้ของลูกค่ะ วัย 7-8 เดือนของลูกนี้หลายครั้งที่คุณเห็นว่าลูกจะดึงจากมือคุณ ยิ่งช่วงเวลากินที่คุณตั้งท่าจับช้อนเตรียมป้อนอาหารส่งเข้าปาก ลูกมักจะคว้าช้อนไปจากมือคุณไปเขี่ยๆ อาหารคล้ายจะพยายามตักอาหารกินเอง หรือบางทีใช้ช้อนไม่ทันใจก็จะทิ้งช้อนหันไปใช้นิ้วหยิบอาหารเข้าปากเอง แต่ด้วยความไม่ชำนาญก็จะหกเลอะเทอะมากกว่าที่เข้าปาก

แทนที่คุณแม่จะหงุดหงิดว่าลูกสร้างงานเลอะเทอะให้ต้องตามเก็บเช็ด หรือกังวลว่าลูกจะไม่โตเพราะได้อาหารไม่พอขอบอกค่ะว่าวัยนี้ของลูกยังไงนมก็ยังเป็นอาหารหลักอยู่ อาหารมีเพียงวันละ 1 มื้อ อีกอย่างกระเพาะอาหารของลูกยังเล็กไม่ต้องการปริมาณอาหารมากแต่ต้องการสารอาหารครบถ้วน เพราะฉะนั้นคุณควรตัดกังวลข้อนี้ออกไป แล้วจัดบรรยากาศในการกินให้เป็นความรื่นรมย์สำหรับลูก เช่น ปูกระดาษหรือพลาสติกที่พื้น ส่วนโต๊ะก็หุ้มพลาสติก เตรียมช้อนไว้ 2 ชุด สำหรับลูกไว้หัดตักกินและสำหรับคุณไว้ป้อนอาหารลูกแล้วปล่อยให้ลูกกินเองอย่างอิสระ

เท่านี้ลูกก็ได้ฝึกซ้อมใช้กล้ามเนื้อมือ ฝึกการใช้สายตากะระยะจากการตักอาหารเข้าปาก เรียนรู้กลิ่น รส และผิวสัมผัสของอาหาร รู้จักช่วยเหลือตัวเองและยังได้ความรู้สึกที่ดีต่อการกินอาหารด้วย แลกกันแบบนี้คุ้มซะยิ่งกว่าคุ้มนะคะ


ติดแม่ กลัวคนแปลกหน้า

วัยนี้แหละที่คุณจะเริ่มเห็นอาการ “ติดแม่” หรือกลัวคนแปลกหน้าเกิดขึ้นกับลูกแล้ว เพราะลูกเริ่มเรียนรู้เรื่องการเคลื่อนที่ของสิ่งของและคนแล้ว รู้ว่าแม่ก็เคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้เหมือนอย่างที่แกทำได้ ซึ่งนั่นหมายถึงการแยกห่างจากพ่อแม่ ต่อให้ลูกรู้สึกสนุกกับสิ่งแปลกใหม่ที่ได้พบแค่ไหน แต่ก็ยังมีความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลที่ต้องอยู่ห่างแม่ ซึ่งอาการ “ติดแม่” นี้ถ้ามีมากก็เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของลูก เพราะลูกจะกลัวการพรากจากจนไม่กล้าเรียนรู้

คุณแม่สามารถช่วยลดอาการนี้ของลูกได้ โดยการบอกให้ลูกรู้ก่อนที่จะหายตัวไปจากที่ตรงนั้น ส่งเสียงให้รู้ว่าแม่อยู่ไม่ไกล ไม่ได้ทิ้งลูกไปไหน และไม่ควรทิ้งลูกไว้นานๆ ค่อยๆ เริ่มต้นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สักพักลูกก็จะเริ่มคุ้นชินกับการที่ต้องห่างแม่คุณแม่ค่ะ


เสริมทักษะพัฒนาลูกวัย 6-9 เดือน
สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการสำรวจของลูกวัตถุที่ลูกจะคว้า เกาะ หรือยึดเพื่อลุกยืนควรมั่นคงแข็งแรงไม่ใช่คว้าปั๊บ หล่นโครมใส่ลูกทันที เพื่อเป็นสนามฝึกที่ปลิดภัยในการฝึกพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของลูกค่ะ

เพื่อฝึกการใช้มือและนิ้วของลูกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองเล่นเกมรับ-ส่งของระหว่างพ่อแม่ลูก เล่นด้วยระยะเวลาที่นานพอสมควร นอกจากช่วยการฝึกใช้นิ้วและมือแล้วลูกยังได้เรียนรู้เรื่องการให้และการรับซึ่งพัฒนาเรื่องความมีน้ำใจในสังคมให้เขาเมื่อโตขึ้นได้ค่ะ

เตรียมรับมือกับความหงุดหงิดและอารมณ์โกรธของลูกที่มาพร้อมๆ กับความต้องการทำอะไรหลายอย่างแต่ยังทำไม่ได้อย่างอดทนด้วยนะคะ เช่น เขาอาจต้องคลานไปข้างหน้าเพื่อหยิบของเล่นที่สนใจ แต่พบว่าตัวเองกลับคลานถอยหลังห่างไปจากของนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่าหยิบของนั้นส่งให้นะคะ แค่ลงไปนั่งด้านหลังลูก เพื่อให้ลูกคลานถอยหลังไม่ได้ลูกก็จะเริ่มเคลื่อนไปข้างหน้าแทนเพื่อไปหาของนั้นด้วยตัวเอง

เมื่อลูกเริ่มต้นใช้เสียงและท่าทางสื่อสารความต้องการของเขา คุณพ่อคุณแม่ต้องตีความและพูดออกมาแทนเขานะคะจะผิดหรือถูกก็ไม่เป็นไร เป็นการช่วยลูกพัฒนาทักษะทางภาษา เช่น เขาชี้ที่ขวดน้ำ คุณลองถามว่า “หนูอยากกินน้ำใช่ไหม” หากเขาไม่กิน ก็ถามใหม่ว่า “หนูอยากถือขวดเล่นหรือคะ” ถามไปเรื่อยๆ แล้วคุณจะได้คำตอบที่ถูกต้องเอง เขาเข้าใจทุกอย่างที่คุณพูดค่ะ อย่าบ่นว่าเขาจะเอาอะไรคุณไม่เห็นรู้เลยนะคะ เขาจะไม่กล้าส่งเสียงอีก พัฒนาการด้านภาษาก็จะไม่ได้รับการพัฒนา

เมื่อลูกเป็นนักสำรวจ พ่อแม่ก็ต้องเป็นนักสังเกตค่ะ คือสังเกตว่าลูกชอบหรือสนใจอะไรเป็นพิเศษแล้วหาสิ่งนั้นมาให้เขาสำรวจ เช่น ลูกอยากสำรวจหนังสือ ก็หาหนังสือที่คุณสามารถปล่อยให้มันฉีกขาดชำรุดได้มาให้ลูก และปล่อยให้ลูกเปิดหนังสือเอง เขาอาจเปิดจากท้ายมาหน้า หน้ามาท้าย กลับหัวกลับหาง กลับหน้ากลับหลัง หรือดูหน้าใดหน้าหนึ่งเป็นเวลานานมาก นั่นก็เพราะเขากำลังเรียนรู้จากหนังสืออย่างเพลิดเพลินและสนุกสนาน อีกอย่างถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ลูกได้ใกล้ชิดคุ้นเคยกับหนังสือค่ะ

หากต้องการให้ลูกเข้าใจเรื่องการดำรงอยู่ของคนและสิ่งของแม้จะไม่ได้เห็นชั่วขณะก้ตาม ให้เล่น เกมจ๊ะเอ๋ ปิดตา ซ่อนหา เกมนี้เด็กๆ จะชอบมาก และเกมซ่อนสิ่งของให้เข้าหาเขาจะดีใจมากที่หาเจอ ถ้าคุณเล่นเกมนี้กับลูก นั่นคือคุณกำลังช่วยให้เขาเข้าใจเรื่องการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งแม้จะมองไม่เห็นชั่วขณะก็ตาม

วัยนี้ลูกจะหลับยาก คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกผ่อนคลายด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ ก่อนถึงเวลานอน และทำอย่างสม่ำเสมอ จนลูกมั่นใจว่าการที่เขาจากคุณแม่คุณพ่อไปในเวลานอนก็แค่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อตื่นมาในวันใหม่เขาก็จะได้พบกับคุณพ่อคุณแม่อีก และทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วยความเพลิดเพลิน เช่น ร้องเพลง เล่าหรืออ่านนิทานจากหนังสือภาพด้วยระยะเวลาที่นานพอสมควร แล้วปล่อยให้ลูกหลับไปเองอย่างผ่อนคลาย โดยไม่ต้องไกวเปล ตบก้นเบาๆ กล่อมเขา หรือป้อนนมเขา
พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของลูกที่กล่าวมานี้ผ่านไปอย่างรวดเร็วนะคะ หากคุณไม่ได้ใกล้ชิด สังเกตและเก็บรับไว้ เมื่อเวลาผ่านไปแล้วเราไม่สามารถเรียกวันเวลาที่น่าชื่นใจนี้กลับมาได้ ที่สำคัญการได้อยู่ใกล้ชิดและเฝ้าสังเกตทุกขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงของลูกจะช่วยทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าจะปรับตำราเลี้ยงดูและดูแลลูกอย่างไรเพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้สอดคล้องกับลูกมากที่สุดค่ะ เรื่องแบบนี้มีแต่คุณพ่อคุณแม่เท่านั้นที่รู้ดีที่สุดค่ะ


พัฒนาการเฉพาะตัว

เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการเฉพาะของตน แต่ละคนมีความแตกต่างอาจช้าหรือเร็วกว่าเกณฑ์พัฒนาการบ้างสลับขั้นตอนไปบ้าง พัฒนาการของเด็กจะเป็นไปตามบุคลิกลักษณะของตัวเด็กเอง เช่น ที่เกณฑ์เฉลี่ยเด็กจะเริ่มคืบในเดือนที่ 6 คลานได้คล่องในเดือนที่ 8 แต่เด็กที่บุคลิกแอคทีฟอาจทำให้เร็วกว่านั้น เด็กที่เงียบอาจช้ากว่านั้น

เด็กที่เงียบ พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่อาจช้าไปกว่าเกณฑ์บ้าง แต่พัฒนาของกล้ามเนื้อเล็กอาจจะทำได้ดี เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเป็นกังวลมากไป แต่ใช้การใกล้ชิดสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกก็จะทำให้คุณรู้จักลูกและรู้วิธีที่จะส่งเสริมลูกได้ดียิ่งขึ้นค่ะ.



[ ที่มา.. นิตยสารรักลูก ปีที่ 24 ฉบับที่ 280 พฤษภาคม 2549 ]

1 ความคิดเห็น:

  1. น้องอ๊อฟ อายุ 7 เดือนครึ่ง คืบเ่ก่งมาก ขอบจังของเล่นโยนออกจากตัวแล้วก็คืบไปจับเอาของเล่นแล้วก็โยนออกจากตัว ทำอยู่อย่างนี้ท่าทางสนุกสนาน

    ตอบลบ