วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Basic Trust สร้างพื้นฐานสังคมที่ดีให้กับลูกน้อย

อย่าเพิ่งขมวดคิ้วนะคะว่า เด็กวัย 0-1 ปี จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสังคมแล้วหรือ?

เพราะการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสังคมของเด็กวัย 0-1 ปี ไม่ได้หมายถึงการเตรียมพร้อมให้ลูกได้เจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา หรือไปอยู่กับคนนั้นคนนี้ ตรงกันข้ามเลยค่ะ

การเตรียมพร้อมให้ลูกเข้าสังคมนั้นคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือที่เรียกว่า Basic Trust ซึ่งจะเกิดในช่วงวัย 0-1 ปี เท่านั้น ตามทฤษฎีของ Erik Erikson ถ้าเลยช่วงนี้ไปแล้วอาจจะสร้างให้เกิดขึ้นได้แต่ไม่สมบูรณ์เท่าช่วงขวบปีแรก



ไว้เนื้อเชื่อใจ (Basic Trust) พื้นฐานสำคัญ?
มีคนใกล้ชิดผูกพันแนบแน่นอย่างน้อย 1 คน (mother figure)

ซึ่งคนคนนี้สำคัญมากนะค่ะ จะเป็นพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย หรืออาจจะเป็นพี่เลี้ยงก็ได้ แต่เป็นคนที่เด็กมีความผูกพัน เป็นคนที่เด็กสามารถจดจำได้เป็นคนแรก เป็นคนที่ทำให้เด็กรู้สึกเติมเต็ม รวมทั้งยังมีความบอุ่นใจ ตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการได้ทันที ทำให้เขารู้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียว เพราะไม่ว่าจะไปไหนก็จะมีคนคนนี้จะอยู่กับเขาด้วยเสมอ ซึ่งเด็กก็จะเกิดความไว้ใจ มั่นใจและรู้สึกดีต่อโลกภายนอก นำไปสู่การสร้างพัฒนาการทางสังคมที่ดีต่อไปค่ะ

ซึ่งในอนาคตเด็กจะชอบแยกตัว หรือเข้าสังคม คนคนนี้มีส่วนมาก เพราะถ้าเด็กเติบโตโดยรู้สึกว่าไม่ได้รับการตอบสนองหรือเอาใจใส่ เขาจะชอบแยกตัว เพราะคิดว่าไม่มีคนสนใจหรือใส่ใจ

จะให้ดีที่สุด หน้าที่สำคัญนี้ควรจะเป็นคุณพ่อคุณแม่นะคะ เพราะไม่มีใครที่จะใส่ใจดูแลลูกของเราได้ดีมากที่สุดเท่ากับเราหรอกค่ะ

คนเยอะ เปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อยไม่ดี

ถ้าลูกมีพี่เลี้ยง พยายามอย่าเปลี่ยนพี่เลี้ยงบ่อย เพราะจะมีผลต่อความจำ โดยเฉพาะเด็กอายุ 3 เดือนไปแล้ว จะเริ่มจดจำ เพราะฉะนั้นควรจะเป็นสิ่งเดิมๆ เป็นคนหน้าเดิมๆ ถ้าเปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย หรือส่งลูกไปอยู่กับคนนั้นทีคนนี้ที เขาจะรู้สึกว่าคนที่เขาไว้ใจ หรือคนที่เลี้ยงเขาหายไปไหน สิ่งเหล่านี้สร้างความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในจิตใจของเด็กได้ค่ะ

และในวัย 6 เดือน เด็กจะเริ่มกลัวคนแปลกหน้า การไปเจอคนเยอะๆ จะไม่เป็นผลดีถ้าคุณแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเขาไม่ได้อยู่กับเขาด้วย เพราะนั่นจะทำให้เขารู้สึกกลัว กังวล ไม่ไว้ใจ มากกว่าที่ยิ้มร่า กล้าเข้าไปเล่นด้วย ลองสังเกตผู้ใหญ่อย่างเราก็ได้ค่ะ คนที่เราไม่รู้จัก เราก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปคุยในทันที คงต้องรอดูท่าทีสักพักเหมือนกัน

ซึ่งถ้าเด็กรู้ว่าคนที่เขารักไม่ได้ไปไหนแต่อยู่กับเขาตลอดเวลา แม้จะมีคนอื่นมาเล่นด้วยแม่ก็ยังอยู่กับเขา สิ่งนี้จะทำให้เขายอมเล่นและยิ้มกับคนอื่นมากขึ้นค่ะ เพราะเขามีความอุ่นใจ ปลอดภัยที่แม่อยู่


ช่วยลูกเข้าสังคมได้ดี
0-3 เดือนแรกของชีวิต

ในช่วงแรกเกิด เด็กจะมีความสามารถในการมองเห็นได้บ้างแล้ว แต่คงยังเป็นภาพเบลอๆ อยู่ พอ 2-3 เดือน เขาจะเริ่มโฟกัสได้มากขึ้น เริ่มมองหน้า สบตาได้ดีขึ้น และตอนนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เขาจะเริ่มฝึกค่ะ โดยการยิ้ม (social smile) ช่วงแรกลูกอาจจะยิ้มเพราะยังควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้ไม่สมบูรณ์

แต่พออายุ 2 เดือนเริ่มมี first social smile คือการที่เจ้าตัวน้อยรู้แล้วว่าคนนี้ยิ้มให้ นี่คือหน้าคนที่เห็นอยู่ตลอดเวลา เด็กก็จะตอบสนองด้วยการยิ้มให้ และถ้าคุณแม่ยิ่งยิ้มให้เขา เขาก็จะยิ่งยิ้มกลับ และนี่ก็คือครั้งแรกการมีสังคมของเด็ก โดยมีคุณแม่เป็นสังคมแรกของลูก

ช่วงแรกเกิดนี้ ชีวิตของเด็กจะกินกับนอนเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่สำคัญคือในช่วงตื่นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเข้ามาเล่นกับลูกด้วย ไม่ใช่ตื่นแล้วก็ปล่อยให้ลูกนอนอยู่ในเปล เพราะคิดว่าเด็กทารกคงไม่ได้มีการเรียนรู้อะไร คุณแม่ต้องอุ้มลูกมาเล่น สัมผัส ร้องเพลงเดิมๆ มีการสัมผัสนิ้วของลูกไปด้วย

ยามที่ลูกตื่นก็ยื่นหน้าเข้าไปหา พูดคุย สบตา ยิ้ม นอกจากจะช่วยในเรื่องพัฒนาการ ยังทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องสังคมด้วยนะคะ

3-5 เดือน

ช่วงนี้เจ้าตัวเล็กจะแสดงสีหน้าได้แล้ว อาจจะทำท่าขมวดคิ้ว โกรธ หรือตกใจ ตอนนี้การยิ้มของลูกจะยิ้มให้กับคนที่คุ้นเคย

ถ้ามีคุณตา คุณยาย คุณปู่ คุณย่าเข้ามาคอยดูแล เด็กจะเริ่มไว้วางใจด้วยการยิ้มให้ ตอบสนอง แล้วก็ส่งเสียง และคนรอบข้างก็ควรที่จะตอบสนองลูกด้วยนะคะ

5-6 เดือน

วัยนี้จะเริ่มคว้านู่นคว้านี่ เริ่มนั่งได้แล้ว เราต้องอุ้ม ลูบศรีษะ มองหน้า ยิ้ม อาจจะหาหนังสือนิทานที่มีรูปสวยๆ แล้วก็พูดเล่าให้ฟัง แต่ว่าไม่ได้เน้นเนื้อหา แค่ให้เด็กจำเสียง ภาพ กับวัตถุที่เห็น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในเรื่องภาษาต่อไปด้วยค่ะ ยิ่งถ้าเป็นท่วงทำนอง เป็นเพลงง่ายๆ มีท่าประกอบ เราจะได้สัมผัสมือลูก กระตุ้นประสาทสัมผัส ลูกได้ฟังเสียง หัวเราะ เป็นต้น

6-9 เดือน

ในช่วงระหว่างการเลี้ยงดู คุณแม่จะเริ่มแยกเสียงได้แล้วว่าร้องไห้แบบนี้ลูกกำลังกังวล หรือร้องแบบนี้อยากให้แม่อุ้ม หรือยิ้มแบบนี้ต้องการสื่อสารอะไร

ลูกจะชอบให้เล่นอะไรซ้ำๆ หรือเวลาที่ถูกขัดใจจะร้องกรี๊ดๆ เพราะฉะนั้นสำหรับเด็กวัยนี้ควรตอบสนองทุกอย่างให้มากที่สุดค่ะ

เป็นสิ่งสำคัญค่ะที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของลูก ไม่ต้องรู้ลึกมาก แต่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร ไม่ต้องกังวลว่าจะเพาะนิสัยเอาแต่ใจตัวเองหรือเรียกร้องความสนใจ เพราะวัยนี้ต้องการตอบสนองจากพ่อแม่อย่างมากและจะทำให้เกิดความผูกพันมั่นคงทางจิตใจ

9-12 เดือน

วัยนี้จะเริ่มสังเกตได้ว่าถ้ามีเด็กในวัยเดียวกัน หรือมีน้องในวัยเดียวกันเขาจะเรียกร้องความสนใจมากขึ้น วัยนี้ยังติดแม่ซึ่งความกังวลเรื่องความแยกจากจะหายไปตอนสองขวบกว่า เพราะฉะนั้นช่วงนี้การตอบสนอง ด้วยการเล่นกับลูก และการใกล้ชิดสนิทสนมเป็นเรื่องสำคัญมาก และควรจะยาวต่อเนื่องกันไปจนถึงตอน 2 ขวบกว่าๆ เลยยิ่งดีค่ะ และเมื่อเขามีความมั่นใจในตัวคุณแม่หรือคนเลี้ยงเต็มที่ ก็จะทำให้เด็กกล้าเปิดประตูออกไปรู้จักกับโลกที่กว้างขึ้นค่ะ
จริงๆ แล้วถ้าคุณแม่สามารถให้เวลาในช่วง 1 ปีแรกของชีวิตลูก ด้วยการเลี้ยงเขาเองตลอดอย่างสม่ำเสมอและใส่ใจ จะพบว่าพัฒนาการจะดีในทุกด้าน และยังทำให้ในวัยขวบปีต่อๆ มา การเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับลูกเลยค่ะ




[ ที่มา.. นิตยสารรักลูก ปีที่ 27 ฉบับที่ 318 กรกฎาคม 2552 ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น