วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พัฒนาการของเจ้าตัวน้อย วัย 6-8 เดือน

วัย 6-8 เดือน เป็นช่วงที่คุณอาจจะต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นกว่าเดือนก่อนๆ เพราะลูกเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้นเจ้าตัวเล็กจะเริ่มคลาน ยืน และเดินเตาะแตะได้ในช่วงนี้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่เกิดอุบัติเหตุก็มีมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่และสมาชิกทุกคนในบ้านต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย นอกจากเรื่องของการเคลื่อนไหวแล้วลูกยังมีความสามารถในด้านอื่นๆ อีกหลายอย่างด้วยค่ะ


พัฒนาการด้านร่างกาย

ประโยชน์จากการที่เจ้าตัวเล็กได้ออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสายหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ลูกมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้นมากเขาสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ดีและมีพัฒนาในเรื่องการทรงตัวที่ดีขึ้นด้วย บางครั้งคุณอาจจะเห็นลูกกลิ้งตัวกลับไปมาได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถพลิกคว่ำพลิกหงายได้ นั่งเองได้นานขึ้น และโน้มตัวไปข้างหน้าโดยที่หน้าไม่คะมำได้ด้วย แต่ลูกยังไม่สามารถเอี้ยวตัวไปมาซ้ายขวาได้ และอาจจะคะมำไปข้างหน้าเวลาที่เอื้อมมือไปหยิบของเล่นชิ้นโปรด

ในแต่ละวันที่ผ่านไป เจ้าตัวเล็กมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การนั่งได้เองไม่ใช่สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับลูกอีกต่อไป เพราะตอนนี้ลูกพยายามจะทำอย่างอื่นที่น่าสนใจกว่า วันดีคืนดีคุณอาจจะได้เห็นเจ้าตัวเล็กแสดงความสามารถด้วยการพยายามรั้งราวเปลเพื่อพยุงตัวให้ยืนขึ้น แต่หลังจากนั้นลูกก็จะล้มลงไปกองอยู่บนที่นอน หรืออาจจะยืนค้างอยู่อย่างนั้นแล้วร้องไห้ให้คุณช่วย เพราะเด็กในวัยนี้ยังไม่รู้จักการย่อตัวลงนั่งเอง คุณสามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการนี้ของลูกได้โดยการเข้ามาพยุงตัวลูกไว้ ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยแล้วค่อยๆ หย่อนตัวลูกให้นั่งลงเบาๆ สิ่งเหล่านี้เป็นแบบฝึกหัดที่ดีและเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่พัฒนาการการคลาน ยืน และเดิน ในเวลาต่อมาค่ะ


เริ่มคลานแล้วนะ
ลูกจะเริ่มสนใจการคลานในช่วงเดือนที่ 8 การที่เจ้าตัวเล็กคลานได้ดี เขาจะต้องมีกล้ามเนื้อแขนขาที่แข็งแรงมากพอที่จะดันตัวเองขึ้นมาอยู่ในท่าคลาน และไม่ช้าลูกจะเรียนรู้ว่าการใช้เข่าดันพื้นสามารถทำให้เขาเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการคลานถอยหลังก่อน แต่ไม่นานเขาก็เรียนรู้วิธีที่จะคลานไปข้างหน้าได้เอง ถ้าหากเจ้าตัวเล็กของคุณยังไม่มีทีท่าว่าจะคลานในเดือนนี้ก็ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะเด็กจะเริ่มคลานในช่วง 8-10 เดือน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน เด็กบางคนอาจจะไม่คลานเลย แต่จะใช้วิธีไถก้นไปกับพื้นแทน แล้วก็ข้ามไปสู่การเดินเลยก็มีค่ะ

ตื่นตาตื่นใจกับของเล่น
เมื่อลูกนั่งได้เองโดยไม่ต้องใช้มือทั้งสองข้างยันพื้นเพื่อช่วยพยุงตัว ทำให้เขามีโอกาสใช้มือในการคว้าของเล่นชิ้นโปรดมาถือไว้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการหลายด้าน เช่น พัฒนาการการทำงานประสานกันระหว่างมือและตา การเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัส และพัฒนาการของกล้ามเนื้อมือ เป็นต้น ฉะนั้นคุณควรหาของเล่นสีสันสดใสมาวางไว้รอบๆ ตัวลูก เพื่อกระตุ้นให้เขาได้ใช้มือหยิบจับสัมผัสของเล่นเหล่านั้น แต่ก็อย่าคาดหวังว่าเจ้าตัวเล็กจะสนใจของเล่นรอบตัวได้นานนะคะ เพราะบางครั้งลูกก็ให้ความสนใจเพียงประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็หันไปเล่นอย่างอื่นต่อ

มือ-ตา ประสานกันได้ดี
อย่างที่บอกแล้วว่าเด็กในวัยนี้จะมีพัฒนาการการทำงานประสานกันระหว่างมือและตาลูกจึงชอบหยิบจับสิ่งของมากำไว้ทดลองหยิบใส่ปาก เปลี่ยนไปถือไว้ในมืออีกข้างหนึ่ง หรือแม้แต่การใช้มือสองข้างหยิบของเล่นสองชิ้นมาปะทะกันได้ช้อนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ลูกชอบคว้ามาเข้าปากทันทีที่เห็น แต่ยังไม่ทันได้เข้าปากก็ทำหล่นเสียก่อน แต่ลูกจะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถหยิบช้อนเข้าปากได้ในที่สุด ถ้าคุณยื่นแก้วน้ำที่มี 2 หูให้ลูกดื่ม เจ้าตัวเล็กจะพยายามถือแก้วเองแรกๆ คุณต้องช่วยลูกประคองแก้วไว้ แต่ในไม่ช้าเขาจะสามารถหยิบแก้วน้ำขึ้นมาดื่มได้เอง ลูกวัยนี้สามารถทานอาหารอื่นนอกจากนมได้แล้วการลองให้ลูกใช้มือหยิบขนมปังกรอบเข้าปากเองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้ของลูกได้ แต่ก็ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดนะคะ เพราะลูกจะสำลักอาหารได้ค่ะ

ทักษะการเรียนรู้ของเจ้าหนูวัยซน
ลูกน้อยของคุณเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการมีอยู่ของสิ่งต่างๆ ก่อนหน้านี้เวลาที่ลูกมองหาคุณไม่เจอหรือไม่เห็นของเล่นชิ้นโปรด เขาก็จะคิดว่าทุกอย่างหายไปแล้วอย่างถาวรแต่ตอนนี้ลูกเริ่มรู้แล้วว่าการที่เขาไม่เห็นคุณ หรือของเล่นชิ้นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นจะหายไปจากโลกนี้วิธีที่คุณจะช่วยสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องการมีอยู่ของสิ่งของก็คือให้คุณหยิบของเล่นสักชิ้นหนึ่งไปซ่อนไว้ใต้ผ้าห่ม แต่ให้บางส่วนโผล่พ้นออกมา เจ้าตัวเล็กก็จะพยายามไปดึงผ้าออกเพื่อหาของเล่น เมื่อลูกเริ่มเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น ต่อไปเวลาที่คุณหยิบของเล่นไปซ่อนไว้ใต้ผ้าจนมิดชิด ลูกก็จะพยายามมองหาเพราะรู้ว่าของเล่นไม่ได้หายไปไหน แต่ซ่อนอยู่ใต้ผ้านั่นเอง

ภาษาท่าทางของหนู
เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการด้านภาษาเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมามาก ถึงแม้ว่าจะยังพูดไม่ได้แต่ลูกสามารถจดจำชื่อตัวเองได้ เขาจะหันไปหาคุณทันทีที่ได้ยินคุณเรียก นอกจากนี้ลูกยังมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อชื่อของสมาชิกในบ้านและชื่อสิ่งของที่เขาคุ้นเคยด้วย เช่น เวลาที่คุณพูดถึงของเล่นชิ้นโปรดหรือเอ่ยชื่อสมาชิกในบ้านให้ได้ยิน เจ้าตัวเล็กจะหันไปมองสิ่งที่คุณกำลังพูดถึงทันที

นอกจากจดจำชื่อคนและสิ่งของได้แล้ว เจ้าตัวเล็กยังเรียนรู้ที่จะแสดงท่าทางต่างๆ เพื่อบอกให้คนรู้ถึงอารมณ์และความต้องการขอเขาด้วย เช่น เวลาที่ลูกอยากได้ของเล่นหรือขนม เขาก็จะยกมือขึ้นมากำๆ แบๆ จนกว่าจะได้ของที่ต้องการ ลูกจะส่ายศรีษะหรือหันหน้าหนีจากสิ่งที่ไม่ชอบหรือผลักคุณออกไปเวลาที่คุณทำให้เขาไม่พอใจ เวลาที่คุณบอกให้ บ๊าย บาย ลูกก็จะโบกไม้โบกมือไปมา นอกจากแสดงออกด้วยท่าทางแล้วลูกยังแสดงอารมณ์ออกมาทางสีหน้าด้วย ลองสังเกตให้ดีแล้วคุณจะทราบว่าอารมณ์ของเจ้าตัวดีตอนนี้เป็นอย่างไร

เสียงมาจากไหน ?
ในช่วงเดือนที่แปด ความสามารถในการฟังของลูกมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นอีกขั้น เส้นประสาทที่เชื่อมต่อจากหูไปถึงสมอง ทำไมลูกเริ่มเรียนรู้ที่จะมองหาที่มาของเสียง และเขายังรู้จักเปรียบเทียบความแตกต่างของเสียงได้ด้วย เช่น เปรียบเทียบเสียงตัวเองกับเสียงของคุณ และอีกสองสามเดือนข้างหน้า เจ้าตัวเล็กก็จะเรียนรู้ที่จะเลียนเสียงคุณด้วย

ค้นพบแหล่งเรียนรู้ใหม่
หลังจากที่ลูกสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเองและสามารถคืบคลานไปหาสิ่งที่เขาต้องการได้ เจ้าตัวเล็กก็จะตื่นเต้นกับการค้นพบสิ่งใหม่ๆ มากขึ้นทุกวัน เขากระตือรือร้นและมีพลังงานเหลือเฟือสิ่งที่จะรื้อค้นข้าวของจากตู้เสื้อผ้า ตู้โชว์ ลิ้นชักโต๊ะ หรือแม้แต่ตะกร้าผ้า เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งของที่อยู่ในนั้นนิ่มหรือแข็ง ผิวเรียบหรือหยาบ มีเหลี่ยมมุมมากน้อยแค่ไหน รสชาติเป็นอย่างไร และเขาจะทำอย่างไรกับของชิ้นนั้นได้บ้าง แม้สิ่งของต่างๆ ที่พบเห็นจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกได้ แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็ควรระมัดระวัง ไม่เก็บของมีคมหรือของที่เป็นอันตรายอย่างผงซักฟอกและน้ำยาล้างห้องน้ำไว้ในที่ๆ ลูกเอื้อมถึงเพราะถ้าคุณเผลอ ลูกอาจจะหยิบมาเล่นและเกิดอันตรายได้ค่ะ

พัฒนาการด้านอารมณ์

เด็กในวัยนี้จะเริ่มให้ความสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น เวลาได้ยินเสียงอะไร เขาจะหันไปทางนั้นแล้วนั่งฟังอย่างตั้งใจ เวลาที่สมาชิกในบ้านพูดคุยกัน เจ้าตัวเล็กก็จะสร้างความกระตือรือร้นอยากเข้าไปร่วมวงด้วย เวลาที่เขานั่งมองตัวเองในกระจกอย่างสนอกสนใจ ลูกไม่รู้หรอกค่ะว่านั่นคือตัวเขา แต่คิดว่าเป็นเพื่อนเล่น บางทีคุณอาจจะได้ยินเจ้าตัวเล็กส่งเสียงอ้อแอ้กับตัวเองในกระจก เพราะลูกอยากให้เด็กที่เห็นในกระจกคุยโต้ตอบด้วย


หนูรักคุณแม่ที่สุด
คุณยังครองความเป็นคนโปรดของลูก ยังเป็นคนที่ลูกอยากเล่น อยากพูดคุยด้วยและอยากได้รับความเอาใจใส่จากคุณ เวลาที่ลูกโยนมันลงไปอีกแล้วมองหาคุณ เพราะเขารู้ว่าการทำแบบนี้สามารถเรียกร้องความสนใจจากคุณได้ ลูกจึงทำให้คุณเดินมาหา จะได้เล่นได้คุยกับคุณ ความรักความผูกพันที่เจ้าตัวเล็กมีจากคุณนั้นค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ลองแอบสังเกตดูสิคะ เวลาที่คุณเดินหายไป เจ้าตัวเล็กจะเริ่มเบะปากร้องไห้ เพราะลูกกลัวว่าคุณจะหายไปแล้วไม่กลับมาอีก และถ้าคุณเดินมาให้เห็น เจ้าตัวเล็กก็จะแสดงท่าทางตื่นเต้นดีใจและยิ้มร่าอย่างมีความสุข

ติดแม่…แกะไม่ปล่อย
สาเหตุที่ทำให้ลูกติดคุณแจเป็นเพราะเขาเริ่มเรียนรู้แล้วว่า “เราไม่ได้ตัวติดกัน” ซึ่งถือเป็นพัฒนาการการเรียนรู้อีกอย่างหนึ่งของเด็กวัยนี้ ลูกจะมีความกังวลทุกครั้งเวลาที่ไม่เห็นคุณ แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ ก็ตาม ความกังวลใจของลูกอาจจะกลายเป็นความหงุดหงิดได้ แต่ก็เป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กวัยนี้ เจ้าตัวเล็กจะมีอาการติดแม่แจและมีความกังวลในการแยกจากแบบนี้ไปจนถึงวัยเตาะแตะ สิ่งที่คุณทำได้ก็คือพยายามให้ความรักความเอาใจใส่กับลูกให้มากพอ แล้วลูกจะเริ่มเข้าใจได้ในที่สุดว่าคุณไม่ได้ทิ้งเขาไป ไม่ช้าคุณก็จะกลับมาหาเขาเหมือนเดิมค่ะ

นอกจากติดคุณแม่แล้ว เด็กบางคนจะเริ่มติดสมาชิกในบ้านที่เขาสนิทสนมคุ้นเคยอย่างคุณย่า คุณยาย พี่น้อง หรือพี่เลี้ยงที่ดูแลเขา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะช่วยให้ลูกเลิกเกาะคุณแจไปได้พักหนึ่งเวลาที่เขาต้องการความสนใจจากสมาชิกคนอื่นในบ้าน

คนแปลกหน้า…น่ากลัวจัง
เมื่อลูกเริ่มจำหน้าคนใกล้ชิดได้สิ่งที่ตามมาก็คือเขาจะเริ่มหวาดกลัวคนแปลกหน้าเวลาที่เจอคนแปลกหน้า เจ้าตัวเล็กจะหันหน้าหนีหรือหันไปซบไหล่คุณแล้วกอดคุณเอาไว้แน่นเหมือนกลัวว่าคุณจะหายไปแล้วปล่อยเขาไว้กับคนแปลกหน้า บางคนถึงกับร้องไห้ด้วยความกลัวก็มี อาการแบบนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับเจ้าตัวเล็กวัยนี้อาการหวาดกลัวและหวาดกลัวเวลาที่ต้องพบเจอคนแปลกหน้าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงอายุประมาณ 2 ขวบ วิธีที่จะช่วยลดความกลัวของเจ้าตัวเล็กก็คืออย่าพยายามฝืนให้ลูกพูดคุยกับคนที่เขากลัว และไม่ควรดุหรือตำหนิว่าเป็นเด็กขี้ขลาด เพราะมันจะเป็นการบ่อนทำลายความมั่นใจของลูก ซึ่งจะส่งผลเสียในระยะยาว แต่เมื่อลูกเริ่มมีความกล้าที่จะส่งยิ้มให้กับคนที่ไม่คุ้นเคย คุณควรจะชมเชยให้เขามั่นใจ และควรจะบอกกับคนแปลกหน้าที่เข้ามาเล่นมาคุยกับเจ้าตัวเล็กด้วยว่าควรจะพูดคุยกับลูกของคุณอย่างสุภาพและอ่อนโยนซึ่งจะช่วยให้ลูกคลายความกังวลลงได้ค่ะ


แต่ละวันที่ผ่านไปมีสิ่งใหม่ๆ ให้คุณได้ค้นพบทุกวัน ยิ่งโตขึ้นมากเท่าไหร่ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของเขาก็ซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น คุณจึงควรทำความเข้าใจและคอยติดตามพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงวัยอย่างใกล้ชิด จะไดรู้ว่าช่วงไหนเวลาใดคุณควรจะส่งเสริมหรือช่วยเหลือลูกในด้านไหน การช่วยส่งเสริมและสนับสนุนอย่างถูกต้องจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ขึ้นค่ะ

[ ที่มา.. นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.153 April 2006]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น