วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมื่อลูกไม่ยอมนอน

การดูแลทารกนับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพ่อ-แม่ทุกคน และการที่ลูกไม่ยอมนอนก็เป็น "เรื่องใหญ่" ของการดูแลทารก แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีทารก หรือเด็กคนไหนที่จะผ่านวัยเด็ก มาโดยไม่เคยมีปัญหาด้านการนอนไม่หลับ อย่างน้อยหลายๆ สาเหตุ ก็ทำให้เด็กตื่นขึ้นกลางดึก เช่น ฝันร้าย หิวนม ถ่ายปัสสาวะ เหนื่อยมากเกินไป เป็นต้น เป็นสาเหตุที่ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเด็ก

หลายท่านคงคาดไม่ถึงว่า ปัญหาการไม่ยอมนอนของลูก อาจทำลายความสัมพันธ์ที่ดีพ่อและแม่ได้ โดยเฉพาะ ถ้าลูกไม่ยอมนอนตอนกลางคืน เพราะการที่ลูกไม่ยอมนอน จะทำให้เด็กยิ่งเหนื่อยมาก และเมื่อยิ่งเหนื่อยมาก ก็ยิ่งหลับยากขึ้น แล้วร้องกวนงอแงมากขึ้น ขณะที่เวลากลางคืนเป็นเวลาพักผ่อนนอนหลับ ของพ่อและแม่ เมื่อลูกร้องท่านก็ต้องผลัดกันตื่นมาดูแลลูก จนที่สุดทั้งพ่อและแม่ก็พลอยไม่ได้หลับไปด้วย การไม่ได้หลับของผู้ใหญ่ ก็ทำให้เพลียได้ไม่ต่างกับเด็ก จนที่สุดกลายเป็นความหงุดหงิดอารมณ์เสีย และพานทะเลาะกันง่ายกลายเป็นปัญหาครอบครัว ที่ลูกเป็นสิ่งบั่นทอนชีวิตคู่ไปในที่สุด

ถ้าท่านหาสาเหตุการไม่ยอมนอนของลูกพบก็แก้ไขได้โดยไม่ยาก นอกจากสาเหตุที่ท่านมักจะมองข้าม จนไม่สามารถแก้ไขการไม่ยอมนอนของลูก ได้สำเร็จ คือ ปัญหาเด็กขาดความรักและความอบอุ่น ความรู้สึกที่ว่า พ่อและแม่ไม่รักตน ทำให้เด็กรู้สึกกังวลไม่ปลอดภัย ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ หวั่นไหวง่ายและขี้แง เกิดปัญหาในการนอนตามมา เพราะเด็กจะรู้สึกว่า การที่พ่อ-แม่รัก เป็นสิทธิที่ลูกควรได้รับ ดังนั้นการแสดงออก ที่เป็นการใช้อำนาจของพ่อและแม่ จะยิ่งเสริมความรู้สึกขาดความสุข ของลูกที่ขาดความมอบอุ่นยิ่งขึ้น จนถึงขั้น "เก็บกด" และลูก จะดำเนินการโต้ตอบด้วยความโกรธ เรียกร้องความสนใจทั้งกลางวันและกลางคืน ด้วยการไม่ยอมนอนนั่นเอง

ในบทความนี้จะกล่าวถึงพื้นฐานการนอนหลับ ตั้งแต่แรกเกิดของทารก เริ่มตั้งแต่หลังคลอด เมื่อทารกกลับมาจากโรงพยาบาลที่หนูน้อยเกิดขึ้นมานั่นเอง ทารกจะหลับหลังจากดูดนมอิ่มแล้วทุกครั้ง บางทีก็จะหลับ โดยไม่ได้ตื่นขึ้นมาดูดนมในเวลากลางคืนอีก ช่วงนี้คนที่นอนไม่หลับ กลายเป็นคุณพ่อคุณแม่มากกว่า เพราะเกิดความกังวลกลัวลูกจะตื่นขึ้นมา แล้วตนไม่รู้ตัว ก็เกร็งนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ดังนั้นในช่วง 2 เดือนแรก พ่อและแม่ควรสร้างความคุ้นเคยกับทารกให้มากที่สุด แล้วทารกก็เรียนรู้ที่จะผ่อนคลายและหลับลงได้โดยง่ายด้วย ช่วง 2 เดือนแรกนี้ ลักษณะการนอนของเด็กจะขึ้นอยู่กับว่า ทารกได้รับอาหารและความรักเพียงพอหรือไม่ เด็กจะรู้สึกสบาย และนอนหลับต่อไปได้ แม่ต้องใจเย็นๆ ให้นมจนลูกอิ่มอย่างช้าๆ ทะนุถนอม และไม่เร่งรีบ สังเกตดูจะพบว่า ทารกต้องการต่างกัน บางคน ต้องการให้แม่กอดรัดตลอดเวลาที่ให้นม บางคน ต้องการให้กอดตอนก่อนนอนจนหลับไป

ในช่วงเดือนแรก


ทารกสามารถรับทราบความรักจากการสัมผัสของพ่อและแม่ พร้อมๆ กับเริ่มเรียนรู้ที่จะฟังเสียงของพ่อแม่ สิ่งที่จะทำให้ทารก ผ่อนคลายจนนอนหลับได้ นอกเหนือจากการกอดสัมผัสของพ่อแม่แล้ว ยังมีวิธีการโยก หรือไกวเปลกล่อมเบาๆ ตบก้นเบาๆ ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน บางท่านอาจพูดคุยกับลูก หรือร้องเพลงกล่อมขณะให้นมลูกก็เป็นวิธีที่ได้ผลดี ในช่วงอายุนี้ทารกจะหลับประมาณวันละ 16 ชั่วโมง และหิวนมทุกๆ 3-4 ชั่วโมง

เมื่อย่างเข้าสู่วัย 2-4 เดือน


ทารกก็ยังต้องการนอนหลับมากๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน เด็กจะต้องการนมในระยะห่างจากช่วง 2 เดือนแรก บางคนต้องการนมทุก 5-6 ชั่วโมง แต่บางคนจะนอนครั้งละ 7-8 ชั่วโมง จึงจะตื่นมารับประทานนม บางคนจะตื่นจะดูดนมเพียงคืนละครั้ง ขณะที่บางคนยังตื่นขึ้นมาคืนละ 2 ครั้ง แต่ตอนกลางวันจะตื่นบ่อยกว่ากลางคืน

เป็นที่น่าสังเกตว่า เด็กวัยนี้จะไม่ค่อยโมโหหิว คือ มักจะตื่นขึ้นมาเล่นสักพักจึงจะร้องดูดนม ดังนั้นแม่อาจปล่อยให้ลูกเล่นไป จนร้องแล้วค่อยเข้าไปป้อนนมก็ได้ เพราะลูกเล่นจนเหนื่อย เมื่อดูดนมจะหลับต่อได้ง่ายขึ้น การร้องเพลงกล่อมให้ลูกผ่อนคลาย ช่วยปลอบทารกให้สงบลง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวัยนี้ท่านไม่ควรนำเด็กเดินทางไปไหนๆ เพราะจะทำให้เด็กตื่นบ่อยๆ ตามจังหวะที่รถเคลื่อนที่ทำให้เด็ก ต่อต้านการนอนและจงใจตื่น ในที่สุดเมื่อนอนไม่หลับ เด็กก็จะเหนื่อยเกินไปและงอแงนอนไม่ได้ ท่านควรรีบแก้ไขทันที อย่าปล่อยให้เวลาผ่านเนิ่นนานไป ทำให้เด็กมีนิสัยขี้หงุดหงิดเลี้ยงไม่ค่อยโต เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอตามมา

สิ่งที่น่ารู้อีกอย่างสำหรับเด็กวัย 2 เดือนก็คือ "ความหิว" จะไม่ปลุกให้เด็กตื่นในตอนกลางคืน กับการที่เด็กดูดนมมากๆ ก่อนนอน ก็ไม่ได้มีผลต่อการนอนอย่างชัดเจน และเรื่องความฝันก็ไม่ได้ทำให้เด็ก ตื่นขึ้นมาได้เพียงแต่ค่อนข้างแน่ชัดว่าเด็กวัยนี้เริ่ม "ฝัน" แล้วหากเป็นฝันดีจะยิ้มและหัวเราะ ถ้าฝันร้ายเด็กจะดิ้นหรือร้องไห้แล้วหลับต่อ
มีเด็กอีกหลาย ๆ คนที่ไม่ยอมนอนตอนกลางคืนและเอาแต่ร้องไห้ สาเหตุหลักส่วนใหญ่เกี่ยวกับ การเกิดอาการจุกเสียดในเวลาเย็น ซึ่งเป็นผลมาจากการร้องไห้มากเกินไป ความเหน็ดเหนื่อยที่สะสมมาตลอดวัน แม่เร่งให้ลูกดูดนมในตอนเย็นให้เสร็จเร็ว ๆ ทำให้ทารกหิวในช่วงดึก เป็นต้น

แต่จะว่าไปแล้ว อาการจุกเสียดมีความสัมพันธ์กับการร้องไห้เหนื่อยเกินไป หิวหรือตึงเครียด ปัญหาที่เกี่ยวกับพ่อแม่ทำให้เด็กอารมณ์เสียไม่ผ่อนคลาย จึงแสดงออกมาทำให้ท้อง ระบบย่อยอาหารทำงานหนักเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญคือ เด็กเล็กพูดไม่ได้ ไม่สามารถบอกอาการอะไรได้ ทำได้แต่เพียงร้องไห้ ยิ่งร้องไห้ก็ยิ่งเป็น เมื่อรู้สึกไม่สบายในท้อง เด็กจะไม่ยอมกินอะไร บ่องครั้งจะร้องคราง ซูบซีดลง บางครั้งอาจมีเหงื่อท่วมตัว บางคนอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าลูกมีอาการทางกายมากควรรีบปรึกษากุมารแพทย์ แต่ถ้าอาการแสดงออกเป็นเพียงเรื่องของการไม่ยอมนอน ท่านต้องให้ความอบอุ่นและเข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกของท่าน ผ่อนคลายที่สุดก็จะหลับได้

ถึงช่วงอายุได้ 4-8 เดือน


ทารกหลายรายเคยที่เคยกรีดร้องก็จะสงบลงได้บ้าง ทารกจะ "รู้ความ" มากขึ้น จะขี้เล่น สนุกสนานร่าเริง เริ่มแสดงนิสัย อันเป็นบุคลิกภาพส่วนตัวออกมา แต่อาจจะมีบางคนยังเป็นเด็ก ที่เอาใจยากเหมือนเดิม ส่วนทารกที่เคยหลับเก่งก็เริ่มจะหลับน้อยลง ตอนกลางคืนจะดูดนมน้อยครั้งลงเหลือเพียงครั้งเดียว หรือบางคนให้นมก่อนนอนเด็กจะหลับยาวจนถึงเช้า เด็กบางคน ที่งีบหลับเป็นช่วงสั้นๆ ในตอนกลางวันวันละหลายๆ ครั้งอาจง่วง และอารมณ์เสียในตอนกลางคืนจึงร้องโยเยบ้างก่อนจะนอน แล้วจะหลับยาวตลอดคืน

ถ้าเช่นนั้นปัญหาในวัย 4-8 เดือน เกี่ยวกับการนอนคืออะไร

คำตอบก็ยังเป็นเช่นเดียวกับแรกเกิดถึง 4 เดือน คือ กรณีที่เด็กตื่นมารับประทานคืนละหลายครั้ง อาจเกิดเนื่องจาก ได้รับอาหารเสริมหรือนอนไม่เพียงพอจึงหิวอีก หรือเกิดเพราะทารก ไม่ได้รับการผ่อนคลาย ขาดความรักและความอบอุ่น หรือเป็นเพราะไม่สบาย ส่วนกรณีที่นอนไปแล้วตื่นขึ้นมาร้อง อาจเป็นเพราะฝันร้าย หรือความไม่สบายในการนอน เพราะเด็กทารกในวัยนี้ ต้องการความสบายในการนอนมากกว่าช่วงแรก ต้องไม่ร้อนเกินไป ไม่เย็นเกินไป และมักจะไม่ชอบให้ห่อตัวนานๆ หรือรัดแน่นเกินไป บางรายไม่ยอมนอน เพราะในห้องมีแสงสว่าง วิธีแก้ก็คือ การทำให้ในห้องนอนมืด

เมื่อเด็กอายุได้ 8 เดือน ถึงขวบครึ่ง


ทารกจะเริ่มหัดเดิน คลานเตาะแตะเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวและไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้นอนของพ่อและแม่ เริ่มรู้ที่จะดูแลตนเองในยามกลางคืน รู้จักที่นอนของตนเอง เด็กจะเริ่มซุกซนทำเสียงอึกทึก และห่วงเล่นไม่ยอมนอน ช่วงกลางวันเด็กในวัยนี้จะหลับสั้น ๆ แต่หลับหลายรอบ ส่วนตอนกลางคืนอาจหลับยาว 10-12 ชั่วโมง มีบางคน ยังตื่นมารับประทานนมอยู่ 1-2 ครั้ง

การที่ทารกเคลื่อนไหวไปมาได้มาก ทำให้เหนื่อยขึ้น ยิ่งถ้าเล่นมากยิ่งหลับยาก บางคนจะเริ่มก่อกวนตอนเที่ยงคืน เพราะหลับสบายมาก่อนหน้านี้หลายชั่วโมง บางกรณีที่เด็กไม่ยอมนอน เป็นเพราะเมื่อตอนเล็กกว่านี้ได้นอนกับพ่อแม่ เมื่อโตขึ้นกับถูกใส่เปล ให้นอนคนเดียวเด็กจะรู้สึกขาดความอบอุ่นทำให้ไม่ยอมนอน ท่านต้องปลอบโยนเล่านิทานให้ฟังจนเด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัยก็จะหลับไปได้

เมื่อเด็กโตขึ้นอีกจนถึงอายุ 3 ขวบ


พบว่า "ความฝัน" มักเป็นตัวปัญหาในการนอนของเด็กในวัยนี้ พฤติกรรมปกติของเด็กจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่พ่อ-แม่ พบว่า เด็กจะนอนกลางวันเพียงครั้งเดียว และกลางคืนมักจะนอนยาว เว้นแต่จะปวดฉี่จึงจะตื่น

สุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ เด็กที่อายุ 3 ขวบขึ้นไป ท่านจะยิ่งสบายขึ้น ปัญหาด้านการนอนของเด็กจะน้อยลงไป เด็กส่วนใหญ่จะหลับตอนกลางคืน นอกจากจะปวดฉี่ หรือฝันร้าย หรือเดินละเมอ สำหรับเด็กที่อายุ 3-6 ขวบ ยังคงต้องการนอนกลางวันอยู่ และตอนกลางคืนต้องการเวลานอนวันละ 10 ชั่วโมง จึงจะเพียงพอเมื่อโตกว่า 10 ขวบแล้วใช้เวลานอนเพียงวันละ 8 ชั่วโมงต่อคืน

เทคนิคและขั้นตอนที่จะทำให้ลูกของท่านนอนหลับได้อย่างเป็นสุข เมื่อลูกไม่ได้ลุกขึ้นมาร้องกวนตอนกลางคืน

เริ่มตั้งแต่ทารกแรกเกิด ท่านมีวิธีง่ายๆ ที่จะสอนให้ลูกนอนได้แก่ การทำให้ลูกอิ่มแต่พอควร ไม่อิ่มเกินไปจนท้องอืดนอนไม่หลับ ต้องแน่ใจว่าลูกได้ผ่อนคลาย เช่น ใช้เสียงกล่อม โยกเปลกล่อม ให้ดูดจุกนมหลอก กอดลูกไว้ในอ้อมแขน ตบหัวลูกเบาๆ ร้องเพลงกล่อมลูก วางทารกไว้ที่สบายที่สุด เช่น เปล เตียงนอน เป็นต้น

สิ่งสำคัญและควรทำเป็นกิจวัตรก็คือ การสร้างกิจกรรมขึ้นมาสักอย่าง ให้เด็กเรียนรู้ไม่ว่า เมื่อเริ่มกิจกรรมนี้แล้วจะต้องจบลงด้วยการนอนหลับของลูก และหมั่นรักษากิจกรรมนี้ไว้ตราบเท่าที่ยังใช้ได้ผล โดยตัวของท่าน จะต้องตั้งใจทำกิจกรรมนี้ ไม่ใช่มัวแต่ห่วงงานอื่น ทำให้พะว้าพะวัง ทำๆ หยุดๆ จนไม่ได้ผล กิจกรรมนี้อาจเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วคือ การร้องเพลงกล่อม ไกวเปล ให้ดูดจุกนมหลอก ฯลฯ ทุกอย่างที่ทำ เพื่อให้ทารกรู้สึกง่วงเพราะ ถ้าไม่ง่วง ไม่อิ่ม ไม่ผ่อนคลายเด็กจะไม่ยอมนอน เด็กบางคนชอบให้อาบน้ำก่อนนอน การอาบน้ำจะช่วยหยุดนิสัย กรีดร้องตอนกลางคืนของเด็กได้ และช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้นแต่ถ้าเด็กกรีดร้องมาก ท่านอย่าเพิ่งอารมณ์เสีย ควรวางทารกในท่านอนคว่ำ สัก 10-15 นาที พร้อมๆ กับตัวท่านควรสงบสติอารมณ์ แล้วจึงปลอบโยนทารกใหม่ หากยังไม่ได้ผล ให้กอดลูกให้แน่นๆ เด็กอาจจะเลิกร้องและยอมนอน เว้นเสียแต่ เด็กจะไม่สบายจริงๆ

เมื่อลูกโตขึ้นมาอีก 2-3 เดือน เด็กจะมีความรู้สึกที่ไวขึ้น ต่อการสัมผัสและอุณหภูมิ ดังนั้นเมื่อคุณกล่อมจนลูกหลับแล้ว ไม่เป็นการแปลกเลยที่เมื่อคุณวางเด็กลงบนที่นอนแล้ว เด็กจะสะดุ้งตื่นขึ้นมาอีก นั้นเป็นเพราะการย้ายลูกจากอ้อมกอดที่อุ่นๆ ของท่านไปวางบนที่นอนที่เย็นกว่า จะปลุกให้ลูกตื่น วิธีแก้ไขก็คือให้ท่านตบก้นลูกเบาๆ ให้เกิดความรู้สึกที่เป็นจังหวะ และสัมผัสที่ต่อเนื่อง ถ้ายังไม่หลับให้ตบก้นเบาๆ แต่ถี่ขึ้นกว่าเดิม หรืออุ้มขึ้นมากล่อมใหม่ให้หลับแล้วจึงวางเด็กลงไปใหม่

การเปลี่ยนที่นอนของลูกบ่อยๆ เช่น เดี๋ยวก็วางในเปล เดี๋ยวก็วางในตระกร้า หรือบางทีก็ให้นอนบนที่นอนของท่าน จะทำให้ทารกหลับยาก ท่านควรเอาใจใส่ให้เด็กหลับให้เป็นที่เป็นทาง ให้เด็กเรียนรู้ที่จะนอนหลับที่นั่น เด็กจะเรียนรู้ที่จะนอนในที่ที่คุณต้องการ เป็นการฝึกนิสัยการนอนที่ถูกต้องให้กับเด็ก

เมื่อทารกตัวใหญ่ขึ้นก็ไม่เหมาะที่จะนอนในตระกร้าอีกต่อไป ควรให้ลูกนอนในเปลหรือนอนบนเตียง หากบางท่านจะแยกให้ลูก นอนห้องส่วนตัว ท่านสามารถทำได้ตั้งแต่ลูกท่านอายุ 4 เดือน แต่ต้องแน่ใจว่าห้องของลูกจะต้องอยู่ไม่ไกลเกินกว่าที่ท่าน จะฟังเสียงร้องเรียกของลูกได้
ใครควรเป็นผู้พาลูกเข้านอน ?


ทารกมักจะคุ้นเคยกับการให้คนพาเข้านอน คนที่คุ้นเคยส่วนใหญ่ จะเป็นพ่อและแม่ เด็กมักจะชินกับคนที่พาเข้านอนทุกๆ วัน และจะรู้ว่า จะหลับได้อย่างสบายใจ อบอุ่นและมั่นคง ถ้าเปลี่ยนคนพาเข้านอน ระยะแรกเด็กอาจจะไม่คุ้นเคย ทำให้นอนไม่หลับ งอแง แต่ถ้าเวลาผ่านไปเด็กจะยอมรับสถานการณ์นั้นได้ สิ่งสำคัญก็คือ ควรใช้วิธีการเดียวกันในการพาลูกเข้านอน ไม่ว่าผู้ที่พาเข้านอน จะเป็นพ่อ-แม่, พี่เลี้ยง, คุณปู่-คุณย่า, คุณตา-คุณยาย ควรทำให้เด็กคุ้นเคย กับวิธีการมากกว่าตัวบุคคล เด็กจะหลับได้เป็นเวลาและมีแบบแผน
ควรให้ลูกนอนที่ไหน ?


สถานที่นอนมักจะไม่เป็นปัญหา สำหรับเด็กที่นอนง่ายหลับง่าย แต่จะเป็นปัญหามากในเด็กที่หลับยาก กรณีหลังนี้ ท่านต้องเอาใจใส่การสอนให้ลูกหลับในที่ใดที่หนึ่งให้ได้ โดยให้ลูกเรียนรู้ที่หลับที่นั่นแล้วเมื่อถึงเวลานอน ลูกจะนอนหลับได้ ตามที่คุณต้องการ

ในวัย 1-2 เดือน ท่านอาจให้ลูกนอนในตระกร้าหรือบนที่นอน เล็กๆ เมื่อโตขึ้นหน่อยควรให้นอนในเปล เพราะทารกจะตื่นไวขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น การไกวเปลจะช่วยให้ลูกนอนหลับต่อได้
ทารกบางคนขี้ตกใจ การจับให้นอนคว่ำ จะช่วยให้หลับตื่นได้ดีขึ้น และยังช่วยขจัดปัญหาเรื่องท้องอืด เพราะท่านอนคว่ำช่วยให้ขับลมออกมาได้

ส่วนการแยกห้องนอนของลูกเป็นสัดส่วน ท่านสามารถทำได้โดยเริ่มตั้งแต่ลูกเริ่มอดนมตอนกลางคืน คือ เมื่อลูกหลับยาวตลอดคืนโดยไม่ลุกขึ้นมารับประทานนมอีก
อุณหภูมิภายในห้องนอนของลูก ควรเป็นอุณหภูมิปกติ ไม่เย็นหรืออุ่นเกินไป เพราะอากาศที่เย็นเกินไปหรืออุ่นเกินไป จะทำให้อากาศแห้งเกินไป จนทำให้ทารกไอ, เป็นหวัดได้ง่าย

ส่วนเรื่องรบกวนในเวลานอน ปรากฏว่า เด็กไม่ต้องการความเงียบ มากเกินไป การที่ครอบครัวส่งเสียงดังบ้าง เด็กอาจจะชิน และรู้สึกว่ามีคนอยู่ใกล้ๆ ในทางตรงกันข้ามเสียงที่อึกทึกมากเกินไป เด็กก็ไม่ชอบ การเปิดเพลงเบาๆ ให้เด็กฟังเวลานอน ช่วยให้เด็กเคลิ้มและหลับง่ายขึ้น
ถ้าลูกตื่นขึ้นมาร้องไห้ตอนกลางคืนท่านจะแก้ไขอย่างไรดี ?


ท่านมีทางเลือกอยู่ 3 ทาง ที่พอจะทำได้ คือ

ทางเลือกที่ 1 ปล่อยให้ลูกร้องต่อไปสักพัก

โดยปกติลูกจะตื่นขึ้นมาร้องไห้ภายหลังจากที่ได้นอนไปแล้ว 4 ชั่วโมง และจะร้องดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงไม่มาโอ๋เสียที เมื่อร้องจนเหนื่อยแล้วเด็กจะหลับไปเอง สิ่งที่ต้องทำใจให้ได้ก็คือ ต้องอดทนที่จะฟังเสียงกรีดร้องของลูกใน 2-3 วันแรก เมื่อลูกรู้ว่าวิธีกรีดร้องนี้ไม่ได้ผลแกก็จะไม่ร้องไห้อีกต่อไป วิธีนี้อาจจะดูแรงไปสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ดังนั้นขอแนะนำ ให้ใช้กับลูกอายุเกิน 1 ขวบไปแล้ว

ทางเลือกที่ 2 เข้าไปปลอบลูกตั้งแต่เริ่มร้อง

หลายๆ ท่านอาจทนฟังเสียงลูกกรีดร้องไม่ได้ จึงใช้วิธีการให้ความเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ เข้าไปหาลูก เมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ ตบก้นหรือพูดคุยปลอบโยนลูกเบาๆ หากจำเป็นก็อาจจะอุ้มขึ้นมากล่อมจนลูกเริ่มหลับแล้วจึงวางนอนใหม่ โดยพยายามเอาใจใส่ตามความจำเป็นเท่านั้น ไม่โอ๋จนเกินเหตุ แล้วเพิ่มช่วงห่างในการเข้าไปปลอบขึ้นเรื่อย ๆ วิธีนี้จะใช้ได้ผลมาก เมื่อทารกตื่นขึ้นตอนกลางคืนภายหลังจากที่หายป่วยใหม่ ๆ หรือฟันเริ่มขึ้น และวิธีนี้ใช้ได้กับเด็กทุกช่วงอายุ แต่ท่านจะต้องเหนื่อย และใช้ความอดทนมากกว่าวิธีแรก

ทางเลือกที่ 3 ปล่อยเลยตามเลย

วิธีนี้ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายก่อนจะปล่อยเลยตามเลย ท่านควรพาลูกไปตรวจสุขภาพก่อน ถ้ามีสิ่งผิดปกติ เกี่ยวกับร่างกายของลูกก็ควรแก้ไขเสีย เด็กอาจจะหยุดร้องไห้กลางคืนได้ หากยังร้องอยู่ท่านอาจใช้ทั้ง 2 ทางเลือกข้างต้นสลับทุกๆ 6-8 สัปดาห์ เมื่อท่านเข้มแข็งขึ้นลูกจะเชื่อฟังท่านมากขึ้น
ส่วนกรณีที่ลูกของท่านชอบตื่นมาตอนเช้าๆ (เช้ากว่าเวลาปกติที่คุณตื่น) ถ้าลูกโตพอที่จะเอานมใส่ปากได้เอง ท่านควรเตรียมนมไว้ให้เด็กดูดเองสัก 60 ซีซี เด็กจะหลับต่อได้จนเช้า แต่ถ้าเด็กไม่หิว ท่านอาจจะเข้าไปตบก้นเด็กเบาๆ จนลูกหลับไป หรือนำเด็กมานอนบนเตียงกับท่านกอดเขาไว้จนหลับไปก็ได้
อะไรบ้างเป็นสาเหตุให้ลูกนอนไม่หลับ ?


สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ลูกของท่านไม่ยอมนอน ได้แก่ ความกระวนกระวาย ความตื่นเต้น ความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บไข้ได้ป่วย และสาเหตุที่พบบ่อยๆ ก็คือ "ฝันร้าย" เริ่มตั้งแต่ลูกอายุได้ 2 ขวบ จิตนาการของเด็กที่เกิดขึ้นในช่วงกลางวัน อาจจะถูกนำไปใช้ ในเวลากลางคืนด้วย ถ้าเด็กร้องไห้หรือกรีดร้อง ทั้งที่ยังหลับอยู่ เมื่อท่านเข้าไปหาลูกแต่ลูกยังหลับอยู่แสดงว่าลูกกำลังฝันร้าย ท่านควรปลุกให้ลูกตื่นแล้วปลอบโยนแกเบาๆ แต่ถ้าลูกฝันร้ายทุกคืน ควรตรวจดูว่ามีเหตุผลอะไรที่ทำให้ฝันร้าย เช่น น้อยใจพ่อแม่ อิจฉาพี่น้อง ดูทีวีรายการที่ไม่เหมาะสม หรือกลัวความมืด ฯลฯ ถ้าแก้ไขสาเหตุได้ เด็กจะหยุดฝันร้าย

บางทีเหตุการณ์พิเศษในช่วงที่เด็กจดจำได้ ก็มีผลรบกวน การนอนของเด็ก เช่น พ่อและแม่ทะเลาะกันรุนแรง การเจ็บป่วย ขนาดที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ถูกฉีดยา หรือถูกทำให้เจ็บปวดก็ ทำให้ลูกนอนไม่หลับ

ท้ายที่สุดผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านมีกิจวัตรในการเข้านอน สร้างขึ้นมาให้เด็กเข้าใจความหมายว่า เมื่อเริ่มกิจวัตรนี้ก็จะได้เวลานอนแล้ว เช่น ในวัยแรกเกิด คือ การกอด การไกวเปล การวางลงนอน การดูดนม เมื่อถึงวัย 1 1/2- 2 1/2ขวบ อาจสอนให้ลูกบอกลาก่อนนอน หรือไปเข้าห้องน้ำแล้วจึงพาเข้านอน เมื่ออายุเกิน 2 1/2ขวบ อาจใช้วิธี เล่านิทานก่อนนอนซึ่งควรเป็นเรื่องสั้นๆ วันละเรื่องก็เพียงพอ เมื่อลูกโตขึ้น จนดูทีวีได้คุณอาจปล่อยให้ลูกหลับหน้าทีวี แล้วอุ้มเข้านอน หรือสอนให้ลูกสวดมนต์ก่อนเข้านอน เพื่อฝึกสมาธิไปในตัวก็เป็นการดี

อย่าลืม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ให้ความรักความเข้าใจแก่ลูก ให้เพียงพอ ทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายให้มากที่สุด ลูกจะได้ไม่มีปัญหา ในการนอนอีกเลย ลองทำดูซิคะ


ภ.ญ.ยุวดี หงส์รัตนาวรกิจ


ขอบคุณนิตยสารแม่และเด็ก ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

2 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีคะ ขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วยนะคะ ตอนนี้ลูกอายุ 3 เดือนค่ะ กับอีกไม่กี่วีน โดยที่ผ่านมาเขาจะกินนมแล้วก้อหลับเป็นเวลา เล่นแปปเดียวแล้วก้อหลับ ตั้งแต่เข้าสามเดือนมานี่ รู้สึกเขาจะหลับยากมากเลยค่ะ กว่าจะหลับได้ 5 ทุ่มเกือบเที่ยงคืน แล้วชอบร้องไห้งอแง เป็นมาติดกันสามวันนี้แล้วค่ะ ให้กินนมเขาก็ไม่ยอมกินค่ะปัดนมทิ้งเอาแต่ร้องไห้ #รบกวนช่วยตอบกลับด้วยนะคะ ตอนนี้กลุ้มใจมากๆคะ

    ตอบลบ
  2. สวัสดีคะ ขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วยนะคะ ตอนนี้ลูกอายุ 3 เดือนค่ะ กับอีกไม่กี่วีน โดยที่ผ่านมาเขาจะกินนมแล้วก้อหลับเป็นเวลา เล่นแปปเดียวแล้วก้อหลับ ตั้งแต่เข้าสามเดือนมานี่ รู้สึกเขาจะหลับยากมากเลยค่ะ กว่าจะหลับได้ 5 ทุ่มเกือบเที่ยงคืน แล้วชอบร้องไห้งอแง เป็นมาติดกันสามวันนี้แล้วค่ะ ให้กินนมเขาก็ไม่ยอมกินค่ะปัดนมทิ้งเอาแต่ร้องไห้ #รบกวนช่วยตอบกลับด้วยนะคะ ตอนนี้กลุ้มใจมากๆคะ

    ตอบลบ