วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Growth Hormone มีผลต่อพัฒนาการเด็ก พ่อ แม่ ต้องใส่ใจ

ครั้งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ของเด็กชายนนท์พาลูกชายไปหาหมอ ในใจของพวกเขาคิดแต่เพียงว่าลูกชายมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ เนื่องจากเหนื่อยง่ายและตัวค่อนข้างเล็ก แต่เมื่อคุณหมอโรคหัวใจตรวจเด็กชายนนท์อย่างละเอียด ก็ต้องรีบส่งต่อให้คุณหมอแผนกต่อมไร้ท่อทันที เพราะผลการตรวจของแพทย์พบว่าน้องนนท์ซึ่งในบัตรประจำตัวระบุว่า 8 ขวบนั้น มีความสูงและขนาดของร่างกายเท่ากับเด็กอายุ 1 ปี!!! ด้านเด็กชายนทีมาพบแพทย์ในเวลาไล่เลี่ยกัน และในอายุที่เท่ากัน เด็กชายนทีกลับมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าทุกคนในห้องตรวจด้วยความสูงถึง 170 เซนติเมตร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขามีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ขณะที่เด็กวัยนี้ควรสูงประมาณแค่ 110 เซนติเมตรเท่านั้น ส่วนเด็กหญิงนันทานั้นตั้งแต่เล็กจนโตมีความสูงปกติมาตลอด เมื่อเข้าชั้น ป.1 นันทาเข้าแถวหน้าเสาธงอยู่ตรงกลางแถวแต่พอขึ้นชั้น ป.3 หนูน้อยกลับต้องมายืนตรงที่โหล่ปลายแถวเตี้ยสุดในชั้น ทั้งที่เพื่อนๆ หลายคนสูงล้ำหน้าไปหมดแล้ว จนพ่อแม่ต้องรีบพามาหาหมอ เพราะเหตุใดที่ทำให้เด็กทั้ง 3 เกิดภาวะเช่นนี้ โชคชะตา โรคร้าย หรือว่าพันธุกรรม สิ่งใดคือตัวกำหนดให้พวกเขามีการเติบโตถดถอยลงเรื่อยๆ ทั้งที่จุดเริ่มต้นแห่งการปฏิสนธิเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ
ชื่อที่ปรากฏอยู่ในบทความนี้เป็นชื่อสมมติทั้งหมด เติบใหญ่เป็นต้นกล้า หากเปรียบชีวิตคนกับต้นไม้ ทั้งสองสิ่งเหมือนกันตรงที่ว่าต้องการปุ๋ยมาช่วยเสริมการเจริญเติบโตให้เป็นไปโดยปกติตามมาตรฐานที่ทุกคนมีติดตัวมา โดยมีพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดให้คนๆ หนึ่งมีความสูง ความเตี้ย ความดำ ความขาว แตกต่างกันไป ขณะเดียวกันภายในสมองของคนเราก็ประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ เพื่อมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางสั่นร่างกายให้ขับเคลื่อนไป และมีต่อมใต้สมองทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพื่อใช้ในส่วนต่างๆ ในร่างกาย หนึ่งในนั้นเรียกว่า Growth Hormone มีบทบาทสำคัญในการสร้างการเจริญเติบโตให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถ้าฮอร์โมนตัวนี้ทำงานผิดปกติก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกอย่างมากมาย ขณะเดียวกันก็มีคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ฮอร์โมนตัวนี้สามารถเพิ่มความสูงให้กับลูกได้ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีก็จะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาลเช่นกัน

Parent Checklist
คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการสังเกตการเจริญเติบโตของลูกอย่างสม่ำเสมอเหราะหากลูกเจริญเติบโตช้าด้วยสาเหตุการขาดฮอร์โมนจะได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ถ้าลูกเจริญเติบโตช้ามาจากสาเหตุอื่นๆ ก็จะช่วยทำให้ดูแลลูกตามลักษณะอาการได้
…. ลูกตัวเล็กกว่ามาตรฐานมาโดยตลอด
…. ช่วงอายุ 4-9 ปี การเพิ่มของส่วนสูงน้อยมากกว่า 5 ซม./ปี
…. พล็อตกราฟความสูงแล้วความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ในช่วงอายุนั้นๆ
…. อัตราการเพิ่มส่วนสูงภายใน 4 ปีน้อยกว่าปีละ 5 ซม.
…. เมื่ออายุ 1 ปีครึ่งขึ้นไป ขนาดร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ และตอนคลอดมีภาวะคลอดยาก คลอดแล้วต้องให้ออกซอเจน
…. คลอดออกมาแล้วตัวเล็ก เช่น หนักน้อยกว่า 2.5 กก. ความยาวแรกเกิดต่ำกว่า 50 ซม.
…. 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเปลี่ยนไซส์รองเท้าเลย
-เกณฑ์นี้ใช่ตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยรุ่น-
หากลูกของคุณแม่มีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้น แสดงว่ามีการเจริญเติบโตผิดปกติ แต่จะเกิดฮอร์โมนผิดปกติหรือไม่ ก็ต้องให้แพทย์เป็นคนวินิจฉัยในขั้นตอนต่อไป

สูงหรือเตี้ย เหล่านี้คือปัจจัย…
 พันธุกรรม
เด็กกลุ่มนี้มีขนาดร่างกายปกติเมื่อแรกเกิดและเติบโตขึ้นอย่างปกติเหมือนเด็กทั่วๆ ไป แต่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าระดับปกติที่ยอมรับได้เพียงเล็กน้อย เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงตามที่ควรจะเป็นตามกรรมพันธุ์
 อาหาร
เริ่มตั้งแต่ระยะที่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ การรับประทานอาหารครบห้าหมู่
 การเจ็บป่วยเรื้อรัง
บางโรค เช่น หอบ หืด หรือโรคที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกเดือน ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียง และระหว่างการป่วยต้องใช้พลังงานค่อนข้างสูงอาจทำให้เด็กเติบโตได้ไม่ดี
 ฮอร์โมน
ความผิดปกติของฮอร์โมนหลายชนิดที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กตัวเตี้ย ได้แก่ ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
 เชื้อชาติ
คนเชื้อชาติตะวันตกจะมีความสูงมากกว่าทางตะวันออก
 ความเครียด
มีผลทำให้การหลั่งของฮอร์โมนการเจริญเติบโตผิดปกติไป

ใครกำหนด Growth Hormone
Growth Hormone เป็น 1 ในฮอร์โมนหลายตัวที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อที่หลั่งมาจากต่อมใต้สมอง ซึ่งจะผลิตได้ดีหากลูกมีอาการนอนหลับพักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และจะทำงานอย่างผิดปกติ หากต่อมใต้สมองได้รับการกระทบกระเทือน เช่น การเกิดเนื้อร้าย ซีสต์ไปกดทับต่อมใต้สมอง หรือเกิดในระหว่างการคลอดถ้าคลอดยากหรือคลอดในท่าก้นอาจทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน เหล่านี้ส่งผลเสียต่อการทำงานของต่อมใต้สมองและจะยิ่งร้ายกว่านั้น หากเกิดปัญหาร่วมกับฮอร์โมนตัวอื่นที่ทำงานผิดปกติอีกด้วย
เมื่อ Growth Hormone ของลูกทำงานผิดปกติ นอกจากอัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่าค่าปกติแล้ว ลูกยังอาจมีอาการ เสียงเล็กแหลม รูปร่างเตี้ยแต่จ้ำม่ำ ในเพศชายอาจพบว่ามีอวัยวะเพศเล็กกว่าเด็กทั่วๆ ไป บางรายที่ขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตชนิดรุนแรงจะพบว่ามีน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจเป็นเหตุให้เด็กชักจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อีกด้วย

คลินิกเพิ่มความสูงเปิดทำการ
เมื่อพบว่าลูกโตช้าผิดปกติกว่าเด็กอื่น คุณแม่ควรพาเด็กมาหาหมอโดยเร็ว การรักษาตั้งแต่เล็กจะยิ่งได้ผลดี โดยคุณหมอจะติดตามดูการเจริญเติบโตไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อตรวจดูให้แน่ใจและค้นหาปัญหาแฝง โดยมีการเทียบสัดส่วนจากตารางการเจริญเติบโตมาตรฐานหรือที่เรียกว่า Growth Charts และนำส่วนสูงและประวัติการเจริญเติบโตของพ่อแม่และพี่น้องในครอบครัวมาคำนวณด้วย
สำรวจอายุกระดูก หากลูกมีสีดส่วนความสูงที่ผิดปกติ คุณหมอจะตรวจดูว่ามีสาเหตุมาจากฮอร์โมนผิดปกติหรือไม่ ด้วยการกระตุ้นด้วยยาบางชนิด และตรวจเลือด ซึ่งต้องใช้การทดสอบอย่างละเอียดอย่างน้อย 2 ครั้ง ร่วมกับการมีเอกซเรย์กระดูกบริเวณข้อมือของลูกว่ากระดูกปิดแล้วหรือยัง เพราะหากคุณหมอพบว่ารอยต่อต่างๆ ยังมีเงาสีดำอยู่แสดงว่าอายุกระดูกยังไม่ปิด เด็กสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่ถ้ากระดูกเชื่อมต่อกันหมด ไม่มีเงาดำแสดงว่าอายุกระดูกปิดแล้ว ไม่ว่าวิธีใดก็ไม่สามารถช่วยได้ เข็มสู่เข็ม เทศกาลฉีดฮอร์โมน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วว่า ลูกเติบโตช้าเนื่องจากความบกพร่องของฮอร์โมนเจริญเติบโต แพทย์ก็จะฉีดฮอร์โมนเจริญเติบโตให้ลูก ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้มีวิธีการสังเคราะห์ที่ซับซ้อน และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การรักษาโดยใช้ Growth Hormone จึงมีราคาค่อนข้างสูง ค่าใช้จ่ายในการใช้ฮอร์โมนเจริญเติบโตค่อนข้างสูงราคาประมาณ 500 บาทต่อยูนิต แต่ละวันจะฉีด 1 หน่วย ต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กก. เช่น ถ้าเด็กหนัก 14-15 กก. ก็ต้องฉีด 1.4-1.5 ยูนิตทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ในเวลาตอนเย็นหรือก่อนนอน ตรงบริเวณใต้ผิวหนัง ใน 1 เดือนจึงต้องใช้ค่าใช้จ่ายหลายหมื่นบาท การประเมินผลการรักษา เด็กที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนแพทย์จะให้ Growth Hormone ติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าอายุกระดูกจะปิด หรือสามารถเติบโตไปในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เพราะถ้าหยุดฉีดก่อนเวลาที่เหมาะสม อาจทำให้ฮอร์โมนพร่องลงมาอีกได้ อย่างไรก็ดี พ่อแม่หลายคนคาดหวังว่า ลูกจะสูงเร็ว เท่ากับเด็กวัยเดียวกันที่มีความสูงตามเกณฑ์ปกตินั้น แต่ต้องทำความเข้าใจว่าการรักษาจะไม่ได้ผลขนาดนั้น เพียงช่วยให้เด็กมีความสูงใกล้เคียงกับเกณฑ์ปกติมากที่สุด ทั้งนี้ ปัจจัยการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาเร็ว-ช้าที่คุณแม่พาลูกมาพบแพทย์ด้วย

ฉุกคิด หากจะฉีด Growth Hormone เพิ่มความสูง
Growth Hormone เป็นความหวังของพ่อแม่ที่ลูกมีปัญหาเรื่องความสูง ว่าฉีกแล้วสามารถเพิ่มความสูงให้แก่เด็กได้ แต่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพราะถ้าเด็กไม่ได้ขาดฮอร์โมนตัวนี้ฉีดแล้วจะเป็นอันตรายยิ่งกว่า นอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้วยังสิ้นเปลือง และส่งผลในทางลบ คือ ไม่สูงแต่จะออกทางด้านกว้าง เช่น คางจะห่างออก มือ นิ้วจะอ้วนกว้าง น้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ในการใช้จึงจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

Concern Tips for Good Growthing
Parent Concern
Newborn
• ใส่ใจการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงของลูกตั้งแต่หลังคลอดจนกระทั่งเจริญเติบโตผ่านวัยเตาะแตะ วัยเรียน จนถึงวัยรุ่น
• พาลูกไปฉีดวัคซีนให้ครบเพื่อป้องกันโรคต่างๆ
• ระวังอย่าให้ลูกเจ็บป่วยเรื้อรัง และอย่าให้ลูกได้รับความกระทบกระเทือนบริเวณศรีษะอย่างแรง เช่น หกล้ม ศรีษะกระแทกพื้น เป็นต้น
baby - Kids
• ในช่วงที่ลูกกำลังเจริญเติบโตควรเลือกสรรอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ รวมทั้งเสริมอาหารบางตัว เช่น วิตามินและแคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงและมีผลต่อพัฒนาการเจริญเติบโตของลูกด้วย
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนหลับสนิทเป็นช่วงที่ Growth Hormone จะหลั่งได้ดี ขอย้ำว่าต้องหลับสนิทจริงๆ เท่านั้น และห้ามนอนดึกเด็ดขาด
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะร่างกายจะหลั่ง Growth Hormone ด้วยเช่นกัน
• อย่าละเลยสมุดบันทึกสุขภาพ ทุกครั้งที่พาลูกไปหาหมอให้บันทึกน้ำหนักตัวและส่วนสูงของลูกไว้ในสมุดบันทึกสุขภาพของลูก เพราะข้อมูลที่เราบันทึกไว้อย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์ต่อกุมารแพทย์ที่ดูแลปัญหาด้านการเจริญเติบโตของเด็กอย่างยิ่ง
Preteen
• ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีปัญหากังวลใจเกี่ยวกับความสูงของลูกต้องรีบพามาปรึกษากุมารแพทย์ก่อนที่ลูกจะเข้าสู่วัยรุ่น
• มีเด็กลุ่มหนึ่งที่เข้าสู่ภาวะกลุ่มเป็นหนุ่มเป็นสาวช้าหรือเรียกว่าม้าตีนปลาย จะมีอายุกระดูกน้อยกว่าอายุจริงมากกว่า 1 ปี มักมีประวัติว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นสาวช้า เช่น มีประจำเดือนช้า เสียงแตกช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน กลุ่มนี้ไม่ต้องตรวจฮอร์โมน

Pregnancy Concern
• แม่ท้องควรงดเว้นการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกตัวเล็ก สมองก็จะเล็กจำนวนเซลล์ในสมองก็เล็กตามไปอีกด้วย
• ระมัดระวังการกินยาบางชนิด เช่น ยากันชัก
• แม่ควรไปรับวัคซีนป้องกันให้มีภูมิต้านทานโรคต่างๆ ก่อนตั้งครรภ์ให้ครบถ้วน เช่น หัดเยอรมัน
• ดูแลร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ ปลอดภัยจากโรคต่างๆ เช่น เชื้อซิฟิลิส รกเกาะต่ำ โรคเบาหวาน คลอดก่อนกำหนด ที่อาจทำให้ลูกน้ำหนักน้อย ตัวสั้น เล็กไปหมด
• หากรูปร่างของทั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยสูงนัก แต่อยากให้ลูกมีความสูงอย่างน้อยก็อยู่ในเกณฑ์ที่เรายอมรับได้ก็ควรบำรุงสุขภาพของคุณแม่ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1-2 ปี แต่ไม่ใช่บำรุงจนอ้วนนะคะ

[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Vol.12 No.137 March 2007]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น