วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วัคซีนไข้หวัดใหญ่...เพื่อใคร เด็กหรือผู้ใหญ่

วันอาทิตย์ที่จะถึง คุณหมอเด็กแนะนำให้ลูกรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ ok มองว่าถ้าเป็นมาแล้วเด็กอาจจะเป็นปอดบวม และอาจจะลุกลามถึงหูชั้นกลางก็ได้ กันไว้ก่อน หาข้อมูลอ่านเจอ ตามหัวข้อเอามาให้อ่านกันเก็บไว้เป็นข้อมูลสำหรับคนเลี้ยงลูกอย่างเรา ครับ

โรคไข้หวัดใหญ่อาจก่อโรครุนแรงได้ในผู้ที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างสม่ำเสมอ แต่ยังเป็นข้อโต้แย้งกันว่าสำหรับเด็ก วัคซีนมีความจำเป็นเพียงใด ปัจจุบันแนะนำให้ใช้เฉพาะในเด็กที่มีโรคประจำตัว (เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคหอบหืด โรคเอดส์ เป็นต้น)

ส่วนการใช้วัคซีนสำหรับเด็กเล็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี อาจช่วยลดการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบและโรคปอดอักเสบได้ ควรศึกษาความคุ้มค่าในการนำมาใช้ในเด็กกลุ่มนี้


โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งจำแนกได้สามชนิดคือ ชนิดเอ บี และซี ชนิดเอทำให้เกิดโรคได้ในคนและสัตว์ ซึ่งทำให้การระบาดเกิดขึ้นได้บ่อย และมักเป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก สำหรับชนิดบีและซีก่อโรคเฉพาะในคนเท่านั้น การระบาดจึงอยู่ในวงจำกัดกว่า

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มักมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลียมาก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร และอาการหวัด บางคนอาจมีอาการรุนแรงต้องลางาน ขาดเรียน หรือต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาจจะมีอาการหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน โดยทั่วไปจะหายได้ในเวลา 5-7 วันหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็กเล็กอาจมีภาวะแทรกซ้อนของปอด สมอง และหัวใจได้

การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่พบได้เป็นประจำทุกปี เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้ตลอดเวลา เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของการระบาดในแต่ละครั้งจึงเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ช่วงเวลาของระบาดในแต่ละพื้นที่ยังมีไม่ตรงกันด้วยคือ ในแถบซีกโลกเหนือจะมีการระบาดในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-กันยายน) สำหรับประเทศไทยมักมีการระบาดเป็นสองช่วงคือ ช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และช่วงฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม)

ความน่ากลัวของไข้หวัดใหญ่คือ เคยเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ. 2461 ซึ่งทำให้ผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 ล้านคน หลังจากนั้นมีการระบาดใหญ่เป็นระยะๆ ในปี พ.ศ.2500, 2511 และ 2520 เชื่อว่าอาจมีสาเหตุมาจากการกลับมาใหม่ของเชื้อในอดีตที่หลบซ่อนตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือจาการข้ามสายพันธุ์ของเชื้อในสัตว์มายังคน (เช่น ไข้หวัดนกที่ทำให้เกิดโรคในคน) หรือจากการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมของเชื้อระหว่างคนกับสัตว์ ซึ่งสร้างความวิตกกังวลว่าอาจเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรง และทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลกได้ในช่วงเวลาอันใกล้นี้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่


ปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีใช้กันมีสองชนิดคือ ชนิดฉีด และชนิดพ่นจมูก วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนเชื้อตายจำนวน 3 สายพันธุ์คือ ชนิดเอ 2 สายพันธุ์ และชนิดบี 1 สายพันธุ์ ในแต่ละปีวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะถูกผลิตขึ้นใหม่ โดยองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้พิจารณาคาดเดา และกำหนดว่าสายพันธุ์ใดน่าจะมีการระบาดในปีนั้น ๆ และแยกผลิตเป็นสองสูตร เพื่อประเทศในซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้ สำหรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกับเชื้อจากประเทศในซีกโลกใต้มากกว่า จึงแนะนำให้ใช้วัคซีนสูตรสำหรับประเทศในซีกโลกใต้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไปโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปีถ้าไม่เคยฉีดมาก่อน ในปีแรกให้ฉีด 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน หลังจากนั้นให้ฉีดเข็มเดียวในแต่ละปี สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ฉีดปีละครั้ง โดยทั่วไปวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 60-90 หรือหากเป็นโรค อาการของโรคมักไม่รุนแรง

แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ใช้ในกรณีพิเศษสำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ได้แก่ ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60-65 ปี) เด็กที่ต้องกินยาแอสไพรินเป็นเวลานาน ผู้ที่มีโรคประจำตัว (เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคเลือด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง) หญิงตั้งครรภ์ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่อาศัยในศูนย์เลี้ยงดูคนชรา หรือผู้ที่ทำงานเลี้ยงดูเด็กเล็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก ระยะหลังหลายประเทศได้แนะนำให้ใช้วัคซีนสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปีด้วย

หลังจากฉีดวัคซีนอาจมีอาการปวดบวมแดงร้อนเฉพาะที่ อาจมีไข้หรือปวดเมื่อยตามตัวได้นาน 1-2 วัน อาการข้างเคียงที่รุนแรงได้แก่ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งพบน้อยมากและในประเทศไทยยังไม่รายงานของอาการข้างเคียงนี้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกได้ แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้วัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคจากการดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับทำลายสัตว์ปีกที่สงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดนก โดยหวังป้องกันโอกาสที่โรคทั้งสองจะเกิดพร้อมกันในกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสทั้งสองชนิดมาผสมกันและเกิดการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม กลายเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่สามารถก่อโรครุนแรง และอาจแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลรอบข้าง


--------------------------------------------------------------------------------

จาก หนังสือ " วัคซีน....น่ารู้"
สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย