วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สร้างศักยภาพสมองให้ลูก

ทารกรับรู้กลิ่นและรสได้อย่างไรนะเป็นข้อสงสัยที่นำไปสู่การศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบชองบรรดานักวิทยาศาสตร์ค่ะ โดยเขาเห็นว่าการรับรู้เรื่องกลิ่นและรสของทารกนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าประสาทสัมผัสด้านรับรู้กลิ่นของทารกนั้นจะพัฒนาอย่างรวดเร็วหลังคลอดค่ะ โดยเฉพาะในสัปดาห์แรกของชีวิต ทารกสามารถจดจำกลิ่นของแม่ตนเองได้อย่างแม่นยำทีเดียว ซึ่งการศึกษาชิ้นหนึ่งบอกว่าทารกอายุ 5 วัน สามารถแยกแยะที่ซับน้ำนมแม่กับนมชนิดอื่นได้ด้วย ผลดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์สรุปกันว่าสำหรับทารกน้อยนั้น ประสาทสัมผัสด้านการรับรู้เรื่องกลิ่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ของทารกค่ะ
ส่วนการศึกษาด้านการรับรู้รสชาติของทารกน้อยนั้นเขาไปสังเกตปฏิกิริยาของทารกหลายคนๆ โดยการให้ดมกลิ่นที่แตกต่างกัน พบว่าทารกจำนวนมากเลยที่แสดงอาการชอบกลิ่นมะนาว นักวิทยาศาสตร์บอกว่าตั้งแต่เกิดทารกก็สามารถรับรู้รสชาติ 3 ใน 4 รสหลักแล้วนั่นคือ รสหวาน รสเปรี้ยว และรสขม แต่ดูเหมือนทารกจะชอบรสหวานมากที่สุด ส่วนรสเค็มนั้น ทารกยังแยกไม่ออกหรอกค่ะ เพราะเขาลองให้ทารกดูดน้ำเกลือ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทารกกินน้ำเกลือเหมือนกับกินน้ำเปล่าเลยล่ะนักวิทยาศาสตร์บอกว่าราวอายุ 4 เดือนค่ะ ประสาทสัมผัสการรับรู้รสเค็มที่ลิ้นของทารกถึงจะทำงาน ตอนนั้นทารกจึงจะสามารถแยกแยะรสเค็มได้
สำหรับพัฒนาการด้านประสาทสัมผัสรับรู้เรื่องกลิ่นและรสชาติของทารกนั้น จะพัฒนาไปตามการเลี้ยงดูและประสบการณ์ทารกได้รับค่ะถ้าเขามีโอกาสได้กินอาหารที่รสชาติหลากหลาย ลูกน้อยก็จะเติบโตเป็นคนที่ไม่ติดในรสชาติหลากหลาย ลูกน้อยก็จะเติบโตเป็นคนที่ไม่ติดในรสชาติใดรสชาติหนึ่งเพียงรสเดียว และจะทำให้เป็นคนกินง่าย
อย่างไรก็ตามอาหารที่คุณแม่กินเข้าไปนั้น สามารถทำให้รสชาติน้ำนมแม่เปลี่ยนไปได้ ดังนั้นจงควรสังเกตปฏิกิริยาการดูดของลูกน้อยด้วยค่ะ หากลูกไม่อยากดูดนมแม่ สาเหตุหนึ่งอาจอยู่ที่อาหารที่คุณแม่กินในช่วงนั้นก็เป็นได้
สอนลูกด้วยบัตรภาพ…บัตรคำ
รู้จักและเคยเห็นกันใช่ไหมคะ เจ้าบัตรคำบัตรภาพ ที่ว่านี่ เขาว่ากำลังเป็นเรื่องฮิตในหมู่คุณแม่ลูกเล็กชาวอเมริกันเลย โดยเขานำมาสอนลูกตั้งแต่ก่อนที่ลูกจะพูดได้เสียอีก ผลที่ได้น่ะหรือคะ ความสามารถในด้านการจำภาพของทารกจะพัฒนามาก พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อจะดี เพราะทารกใช้นิ้วและมือน้อยๆ นั้นพยายามหยิบบัตรคำ บัตรภาพขึ้นมาเพื่อสื่อสารแต่พัฒนาการด้านการพูดกลับน้อย แล้วก็ดูเหมือนว่าคุณแม่เหล่านี้จะไม่ค่อยสนใจค่ะ ด้วยเห็นว่าการชวนลูกดูบัตรคำ บัตรภาพจะช่วยให้ลูกหลานหยุดงอแง
คุณแม่ท่านหนึ่งซึ่งเริ่มสอนลูกบัตรคำบัตรภาพตั้งแต่ลูกแฝดอายุแค่ 2-3 เดือน บอกว่าลูกชายของเธอสนใจและสามารถเลือกสื่อสารโดยการหยิบบัตรคำบัตรภาพเหล่านั้น ที่สำคัญคือตัวพ่อแม่ต้องสามารถตอบสนองกับสิ่งที่ลูกสื่อสารผ่านบัตรเหล่านั้นให้ได้ ตอนนี้ลูกของเธออายุ 2 ขวบครึ่งแล้ว และใช้ทั้งบัตรคำบัตรภาพและการพูดเพื่อสื่อสารกับคนรอบตัว
นักวิชาการที่สนใจเรื่องการสื่อสารผ่านบัตรคำบัตรภาพบอกว่า “พ่อแม่ส่วนใหญ่จะเล่นตั้งคำถามกับลูกตั้งแต่วัยขวบสองขวบอยู่แล้ว ดังนั้นการใช้บัตรคำภาพนี้จึงเป็นเรื่องเสริมที่ช่วยให้พ่อแม่รู้ว่าลูกน้อยต้องการกล้วยไม่ใช่ขนมปังขณะที่ยังพูดได้แค่อูอาอา”
อย่างไรก็ตามมีการวัด IQ เด็กที่เรียนรู้เรื่องบัตรคำบัตรภาพไปพร้อมกับการพูด พบว่ามีคะแนน IQ สูงกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน แต่กระนั้นนักภาษาศาสตร์ต่างก็เป็นห่วงค่ะ เพราะการเน้นไปที่การสอนเรื่องบัตรคำบัตรภาพของพ่อแม่นั้น อาจทำให้พ่อแม่ไม่ทันสังเกตพัฒนาการด้านการพูดของลูกน้อยว่าดี เหมาะสมกับวัยหรือไม่และอาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการพูดตามมาในภายหลังได้
หยิบยกเรื่องนี้มาเล่าต่อ เพราะเป็นห่วงเหมือนกันค่ะ เนื่องจากเจ้าบัตรคำภาพนี้ ก็ฮิตฮอตในบ้านเราก็ไม่ใช่เล่น เอาเป็นว่าถ้าบ้านไหนจะใช้ก็ให้ใช้อย่างเหมาะสมนะคะ และสอดคล้องกับพัฒนาการในทุกด้านของลูกด้วยค่ะ
จริงหรือ… ที่ทารกเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเรียนรู้ทุกๆ ภาษาในโลก ?
จริง…เพราะสมองของทารกนั้นมีเซลล์ประสาทที่พร้อมเรียนรู้ภาษา เพราะเป็นความมหัศจรรย์ที่ทารกเกิดมาพร้อมความสามารถที่ไม่ใช่แค่เรียนรู้เพียงภาษาใดภาษาหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถเรียนรู้ทุกภาษาในโลก ในงานศึกษาวิจัยของแพทริเซีย คูฮ์ล แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ระบุไว้ว่า “ทารกนั้นเป็นประชากรของโลก เพราะสามารถเข้าใจเสียงและรูปแบบประโยค ของภาษาที่แตกต่างกันทั่วโลก" โดยเธอยกตัวอย่างว่า ตั้งแต่เกิดทารกญี่ปุ่นก็สามารถแยกแยะเสียงระหว่าง R และ L ได้แม้จะมีแต่เสียง R ที่ใช้กันอยู่ในญี่ปุ่นก็ตาม ซึ่งทารกจะสามารถแยกแยะเสียงดังกล่าวได้ไปจนถึงอายุ 6 เดือนค่ะ พออายุ 12 เดือน ก็จะไม่พบความสามารถดังกล่าวแล้ว เพราะแม้ตอนที่ทารกอายุยังอยู่ในครรภ์แม่นั้น ทารกก็พยายามหันหาเสียงแม่ยามแม่ร้องเพลงกล่อม นั่นแสดงว่าเซลล์สมองของทารกและลอกเลียนภาษาแล้ว เพราะทารกเรียนรู้ที่จะพูดด้วยการฟังภาษาและสื่อภาษาตรงจากการพูดคุย เพราะระหว่างอายุ 6-12 เดือน ทารกเริ่มค้นพบความสามารถในการเข้าใจเสียงพูดของภาษาพ่อแม่แล้วล่ะค่ะ
ยิ่งเรียนสูง สมองยิ่งกระฉับกระเฉงไม่ได้พูดเล่นๆ นะคะ มีงานวิจัยมายืนยันนั่งยันด้วย เรื่องนี้ดร. เชอริล แอลเกรดี จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ออนทาริโอ บอกว่าถ้าเราสังเกตคนที่มีการศึกษาสูงๆ เราจะเห็นลักษณะบางอย่างควบคู่ด้วยเสมอ เช่น การมีสุขภาพที่ดี มีงานอดิเรกทำมีเวลาว่างสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสภาพดังกล่าวนี่ล่ะที่มีผลต่อการเรียนรู้และการทำงานอย่างกระฉับกระเฉงของสมอง ดร. เกรดีและทีมงานได้ใช้เครื่อง MRI เพื่อสแกนดูการทำงานของสมองของกลุ่มหนุ่มสาว 14 คนอายุระหว่าง 18-30 ปี และกลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 19 คน เพื่อดูว่าอายุมีความสมพันธ์อย่างไรกับการศึกษาและการทำงานของสมอง ในกลุ่มคนสูงอายุ ซึ่งมีการศึกษาสูงนั้นจะพบการทำงานที่กระฉับกระเฉงของสมองส่วนฟรอนทัลโลบ ขณะที่กลุ่มคนสูงอายุแต่มีการศึกษาน้อย จะพบการทำงานของสมองส่วนอื่น ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวจะให้ผลตรงกันข้ามในกลุ่มคนหนุ่มสาว
ดร.เกรดีสรุปถึงผลการศึกษาที่ค้นพบนี้ว่า การทำงานของสมองส่วนต่างๆ ของคนเรานั้นสัมพันธ์กันระดับของการศึกษาและความสามารถในการจำตามระดับของอายุด้วย ทั้งยังเห็นว่าการทำงานของสมองของคนเราอย่างกระฉับกระเฉงนั้นสะท้อนในกลุ่มคนสูงอายุที่มีระดับการศึกษาสูงค่ะ
เอ้า… เพื่อให้สมองของเราดี ต้องขยันเรียนเข้าไว้ค่ะ ที่สำคัญอย่างที่เขาพูดกัน… ไม่มีใครแก่เกินเรียนหรอก… นะคะ

เขียนโดย มนต์ชยา

[ ที่มา..นิตยสารรักลูก ปีที่ 24 ฉบับที่ 282 กรกฎาคม 2549 ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น