วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

คออักเสบอาการอันตรายของเจ้าตัวเล็ก

คออักเสบอาการอันตรายของเจ้าตัวเล็ก....เมื่อวานกับวันนี้สงสารลูก(น้องแพรวา )มากครับอาการคออักเสบ ทานอาหารไม่ได้ต้องนอนให้น้ำเกลือที่ รพ.นวมินทร์ 9 เมื่อคืน ไข้สูงทุก ๆ 1.5 ชม. พ่อกับแม่ไม่ได้นอนกันทั้งคู่ วันนี้ค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาดูเพื่อป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก

เมื่อเจ้าตัวเล็กเกิดอาการเจ็บคอ ไอค่อกไอแค่ก ไม่สบายเป็นหวัด คุณพ่อคุณแม่จะนิ่งนอนใจไม่ได้นะครับ เพราะหากดูแลไม่ดีหรือไม่รีบรักษา อาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกน้อยได้ครับ เจ็บไข้วัยเด็กคราวนี้จึงชวน รศ.นพ.ครรชิตเทพ ตั่นเผ่าพงษ์ ภาควิชาโสต นาสิก ลาลิงซ์วิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี มาให้ความรู้เกี่ยวกับการอักเสบของคอและโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ
รู้เรื่องหู คอ จมูก ของหนูหน่อย
• บริเวณที่เชื่อมต่อกันของ หู คอ จมูก คือ ส่วนของโพรงหลังช่องจมูก ซึ่งเป็นส่วนที่อากาศไหลผ่านจมูกลงสู่คอและปอด จะเป็นบริเวณที่มีระบบน้ำเหลืองมีประสิทธิภาพมาก เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อโรคหรือสารที่ก่อการระคายเคือง
• การติดเชื้อที่คอทุกชนิดสามารถเชื่อมต่อไปยังหูได้ โดยผ่านทางท่อยูสเตเชี่ยน โดยเฉพาะการติดเชื้อของต่อมอะดีนอยด์

คอของหนูประกอบด้วยอะไรบ้าง
คอ ประกอบด้วยอวัยวะสำคัญมากมายและมีโครงสร้าง ที่สลับซับซ้อนทั้งภายในและภายนอกบริเวณลำคอ เช่น เยื่อบุช่องคอ ต่อมน้ำเหลือง กล้ามเนื้อน้อยใหญ่ หลอดเลือดใหญ่ กล่องเสียง หลอดลม หลอดอาหาร ซึ่งแต่ละส่วนล้วนเป็นแหล่งกำเนิดของอาการเจ็บคอได้ทั้งสิ้น หากเกิดความผิดปกติกับอวัยวะเหล่านี้ เช่น เกิดการอักเสบของเยื่อบุช่องคอ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ และในบรรดาอาการต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบหมอบ่อยที่สุดก็คือ อาการเจ็บคอ
อาการเจ็บคอ คือ อาการเจ็บบริเวณช่องคอทั้งหมด ตั้งแต่ฐานกะโหลกศีรษะลงมาจนถึงระดับไหปลาร้า โดยรวมไปถึงการเจ็บทั้งที่มีความสัมพันธ์และไม่มีความสัมพันธ์กับการกลืน และครอบคลุมการเจ็บทั้งภายในและภายนอกบริเวณลำคอ เพราะคอเป็นด่านแรกที่คอยควบคุมเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำและอาหาร การอักเสบติดเชื้อบริเวณนี้จึงเกิดได้บ่อยครับ

เจ็บคอมีกี่แบบ
อาการเจ็บบริเวณคอที่พบได้มี 2 ชนิด คือ
1. อาการเจ็บคอภายในช่องคอ
2. อาการเจ็บคอภายนอกช่องคอ
1. อาการเจ็บคอภายในช่องคอ
แบ่งเป็น เจ็บคอหอยส่วนเหนือต่อลิ้นไก่ หรือบริเวณช่องคอหลังโพรงจมูก เจ็บคอหอยส่วนต่ำกว่าลิ้นไก่ เจ็บคอหอยส่วนต่ำกว่าฝาผิดกล่องเสียง เจ็บบริเวณกล่องเสียง
การเจ็บภายในช่องคอมักมีสาเหตุเกิดจาก การอักเสบติดเชื้อของช่องคอหลังโพรงจมูก ต่อมอะดีนอยด์ เยื่อบุผนังช่องคอ ต่อมทอนซิล และเพดานอ่อน
อาการของโรค
เริ่มจากการเจ็บภายในช่องคอซึ่งมักเกิดขึ้นรวดเร็ว เมื่อเกิดการติดเชื้อเด็กจะมีอาการเจ็บคอ มีไข้หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อโรคชนิดไหน จะมีอาการของโรคคล้ายๆ กัน คือ กลืนน้ำลายลำบาก มีน้ำลายและเยื่อเมือกคั่งค้างภายในลำคอในผู้ป่วยเด็กบางรายจะไม่ยอมอ้าปาก และจะมีอาการของต่อมน้ำเหลืองที่คอโตและเจ็บได้ โดยเฉพาะในเด็กนั้น คอจะอักเสบและแดงมากบริเวณเยื่อบุผนังคอหอย ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิลในรายที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังมักพบร่วมกับวัณโรคปอด หรือซิฟิลิสครับ
อาการแทรกซ้อน
สาเหตุของโรคหรือการเจ็บในช่องคอ มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเกิดร่วมกับการอักเสบของช่องจมูก โพรงอากาศข้างจมูกหรือการอักเสบของหูชั้นกลาง ส่วนการเจ็บหรืออักเสบของช่องคอ ที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อโรคคอตีบพบลดลงครับ เนื่องจากมีวัคซีนป้องกันโรคนี้แล้ว
อาการแทรกซ้อนที่มีจากการเจ็บในช่องคอคือ การเกิดเป็นฝีหนองรอบๆ ต่อมทอนซิล การเกิดฝีหนองด้านหลังหรือข้างช่องคอ การเกิดการอักเสบของหูชั้นกลาง การอุดตันของทางเดินหายใจส่วนบนทำให้หายใจลำบาก

2. อาการเจ็บภายนอกช่องคอ
แบ่งเป็นอาการเจ็บจากการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง อาการเจ็บจากการอักเสบของถุงน้ำที่มีมาแต่กำเนิด เจ็บต่อมน้ำลาย เจ็บต่อมไทรอยด์ พบได้บ่อยในเด็กเล็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ขวบ และมักเกิดขึ้นหลังจากอาการไข้หวัด หวัดลงคอ
อาการของโรค
เริ่มแรกที่เห็นได้ชัดในเด็กเล็กๆ คือ ไม่ยอมกินนม มีไข้สูง ชีพจรเต้นเร็ว และอาจมีเสียงเวลาหายใจเข้าออก เนื่องจากมีการอุดตันของทางเดินหายใจ ร้องกระวนกระวาย คอแข็งเกร็งเอียงไปทางด้านตรงข้ามกับด้านที่เกิดโรค และเมื่อตรวจดูในลำคอจะพบว่า ผนังของช่องคอด้านหลังมีลักษณะโป่งนูนมาก ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณนี้อักเสบ และอาจมีอาการไตของต่อมน้ำเหลืองปรากฏขึ้นมาด้วย
อาการแทรกซ้อน
ถ้าไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ อาจมีอันตรายจากอาการแทรกซ้อนคือ ต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น อาจแตกออกมาอยู่ในช่องหลังผนังคอหอย ซึ่งอยู่ข้างหน้าต่อกระดูกสันหลังส่วนลำคอ อาจเกิดอาการบาดเจ็บ เช่น การทะลุของผนังด้านหลังของช่องคอ ทำให้มีน้ำเหลืองมาคั่งอยู่ในช่องหลังของช่องคอ ซึ่งปัญหาแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุด คือ หนองจะแตกออกแล้วไหลเข้าไปในหลอดลมใหญ่ มีการสำลักลงปอด มีเลือดออก
สิ่งแปลกปลอมหรืออาการเหล่านี้ จะทำให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจส่วนล่าง ขาดอากาศหายใจ และติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งหากมีการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว จะทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น เกิดอาการไตวาย ตับวาย หรือการไหลเวียนของกระแสเลือดติดขัด และจะทำให้เสียชีวิตในที่สุดครับ
อาการแทรกซ้อนเหล่านี้ สามารถรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะครับ ในกรณีที่มีน้ำหนองไหลเข้าไปในปอด ก็จะมีการเคาะปอดเพื่อให้หนองไหลออกมาจากปอด หรือรักษาโดยวิธีเจาะหนองในกรณีที่เป็นฝีหนองในปอด หากมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง อาจต้องส่องกล้องตรวจดูหลอดลม และใส่ท่อเพื่อช่วยในการหายใจ

ดูแลหนูไม่ให้ติดเชื้อซ้ำซ้อน
เมื่อลูกติดเชื้อไม่สบาย สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำ นอกจากรีบรักษาอาการป่วยของลูกให้หายแล้ว ควรปฏิบัติดังนี้ครับ
1. เข้ารับการรักษาโรคตั้งแต่เกิดอาการเริ่มแรก ไม่ควรปล่อยให้อาการลุกลาม
2. เตรียมอาหารที่มีประโยชน์ให้ลูกรับประทานอย่างครบถ้วน งดอาหารที่จะทำให้อาการอักเสบเพิ่มมากขึ้น เช่น อาหารที่มีรสจัด หรืออาหารที่ไม่สะอาด ควรทานอาหารที่สุกใหม่
3. กรณีที่ได้รับยาปฏิชีวนะ ต้องดูแลและเคร่งครัดในการให้ลูกรับประทานยาครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง
4. ให้ลูกได้นอนหลับอย่างเพียงพอและออกกำลังกายให้พอเหมาะ
5. ระมัดระวังเรื่องสภาวะแวดล้อม และหลีกเลี่ยงจากผู้ป่วยอื่นๆ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้อีก

[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 8 ฉบับที่ 91 พฤษภาคม 2546 ]

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ21 มีนาคม 2556 เวลา 08:28

    น่ากลัวจัง ผมก้ไม่ค่อยรู้เรื่องยาสำหรับเด็กมาก แต่ถ้าผมเจ็บคอจะใช้โพรพอลิซสเปรย์ ใช้ดีมากหายเร็วดีครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ6 กรกฎาคม 2557 เวลา 16:17

    ลูกสาวเจ็บคอมาจะสิบวันแล้วก็ไม่หายสนิทครับ
    เสียงก็ยังไม่มาเต็มที่ลูกสาวจมน้ำ​ อายุ​ 10 เดือนครับ​ สงสารลูกเคยร่าเริง​ เดี๋ยยวนี้ซึมๆยังงัยไม่รู้ครับ​ ฟันล่างขึ้นสองซี่แล้วครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ1 มีนาคม 2559 เวลา 04:37

    ลูกไอจนคอข้างขาวบวมเท่าไขไก่ครับจะหายเองได้ไหมครับ...ไข้หายแล้วกินได้ปกติครับ

    ตอบลบ