วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อารมณ์ขัน กลยุทธให้ลูกเติบโต

อารมณ์ขัน กลยุทธให้ลูกเติบโต

อารมณ์ขันและ เสียงหัวเราะ ไม่เพียงแค่สร้างสีสันให้กับชีวิตเราเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์กับร่างกายและจิตใจอย่างมหาศาลทีเดียวค่ะ จากรายงานของ ARISE (Associates for Research Info the Science of Enjoyment) หรือองค์การวิจัยเพื่อศาสตร์แห่งความสุข ซึ่งเป็นสถาบันกลางที่ร่วมผลงานการค้นคว้าโดยผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก พบว่า…การหัวเราะจะช่วยลดระดับฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความเครียดลง ช่วยลดความเจ็บปวดและทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เมื่อใดที่เราหัวเราะ ร่างกายจะผลิตเซลล์ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเซลล์มะเร็งและเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสได้มากขึ้น นอกจากนี้การหัวเราะยังส่งผลดีต่อระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร การไหลเวียนโลหิต และระบบต่อมไร้ท่อด้วย และยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่เรานึกไม่ถึงเชียวค่ะ อาทิ เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย การหัวเราะจะช่วยเพิ่ม “IgA” ซ่งเป็นภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งในน้ำลาย สำหรับป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหาย เช่น ไข้หวัด หรือภูมิแพ้ลดภาวะซึมเศร้า การหัวเราะจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนโดพามีนซึ่งเป็นสารที่ช่วยต่อต้านกับความเครียดได้
กระตุ้นหัวใจให้แข็งแรงขึ้น การหัวเราะอย่างต่อเนื่อง 15-20 นาที เป็นเสมือนการออกกำลังกายให้หัวใจได้ประมาณ 3-5 นาที ช่วยบริหารปอด การหัวเราะทำให้กระบังลมเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ทำให้ระบบหมุนเวียนอากาศของปอดทำงานดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจจึงควรหัวเราะบ่อยๆ ค่ะ
ช่วยชะลออาการของโรค เมื่อคุณหัวเราะจะทำให้คุณอารมณ์ดีและมีความสุขไม่กังวลและเครียดอยู่กับอาการของโรค ลดอาการเจ็บปวด เมื่อเราหัวเราะร่างกายจะรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งช่วยลดความเจ็บปวดได้ค่ะ เช่นเวลาที่ฉีดยาคนที่เกร็งกล้ามเนื้อ หรือเครียดจะเจ็บกว่าคนที่รู้สึกผ่อนคลายค่ะ
ถ้าคุณเคยดูภาพยนต์เรื่อง Patch Addms นำแสดงโดย Robin Williams ดาราชื่อดังของ Hollywood ซึ่งนำเค้าโครงมาจากเรื่องจริงของนักจิตวิทยาคนหนึ่ง ที่ใช้ความพยายามมากกว่า 30 ปี เพื่อทำให้คนไข้ของเขาหัวเราะ ไม่ว่าอาการเจ็บป่วยนั้นจะรุนแรงเพียงใดก็ตาม เพราะเห็นประโยชน์ของการหัวเราะนั่นเอง บ้านเราก็เช่นกันค่ะ ขณะนี้ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร ได้จัดตั้งโครงการศาสตร์และศิลป์แห่งการหัวเราะบำบัดขึ้นแล้วค่ะ
เสียงหัวเราะ… ดัชนีความสุขและการเติบโตของลูก
ถ้าเจ้าของเสียงหัวเราะคือลูกน้อยของคุณ ผลที่ได้ก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่หรอกค่ะแต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ เสียงหัวเราะของลูกเปรียบเหมือนเสียงสวรรค์ของพ่อแม่ เพราะเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่าลูกกำลังมีความสุข ขณะเดียวกันก็สื่อนัยว่า ลูกจะเป็นเด็กที่มีพัฒนาการทางอารมณ์และการเรียนรู้ที่ดี เพราะเด็กจะใช้เสียงหัวเราะและอารมณ์ขันเพื่อผ่อนคลายความรู้สึกตึงเครียด และสร้างบรรยากาศให้สนุกสนานเกิดขึ้นภายในจิตใจ ทั้งยังได้เรียนรู้วิธีที่จะสื่ออารมณ์ในทางบวกผ่านทางเสียงหัวเราะ ทำให้ฮอร์โมนโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ความสุข การเคลื่อนไหวและความจำหลั่งออกมา ส่งผลให้เด็กมีความสุขและต่อต้านกับความเครียด จนทำให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ในร่างกายลดลงและเจริญเติบโตได้ตามปกติ
จะว่าไป ฮอร์โมนคอร์ติซอลก็ไม่ได้เป็นผู้ร้ายที่ต้องกำจัดออกไปจากร่างกายหรอกเพระาถ้ามีในระดับที่พอดีก็จะเป็นแรงเสริมให้เด็กๆ มุ่นมั่นทำสิ่งต่างๆ จนประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ถ้ามีมากเกินก็ส่งผลร้ายต่อร่างกายได้ เพราะจะทำให้เกิดอาการเครียด การเจริญเติบโตไม่ดี โดยเฉพาะสมอง และอาจทำให้เกิดโรคได้ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มะเร็ง กระเพาะอาหาร เป็นต้น ซึ่งวิธีลดระดับคอร์ติซอลนั้นง่ายมาก เพียงหาหนทางให้ลูกหัวเราะ ให้ฮอร์โมนโดพามีนจะได้หลั่งออกมาไงคะ
พอนึกออกแล้วนะคะ ว่าถ้าวันหนึ่งๆ ลูกไม่หัวเราะหรือมีอารมณ์ขันเลย จะเกิดอะไรขึ้น ที่ชัดเจนคือ ลูกจะเครียด ไม่มีความสุข การเจริญเติบโตไม่ดี มองโลกในแง่ร้ายไม่ไว้ใจใคร ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และมีบุคลิกภาพที่ไม่ดีตามมาอีกด้วยค่ะ
เสียงหัวเราะสำคัญต่อลูกในท้อง
สำหรับคุณแม่ท้องจำเป็นที่ต้องสร้างเสียงหัวเราะอย่างยิ่ง หรือทำให้ตัวเองอารมณ์ดี เพราะนั่นหมายึงลูกน้อยจะได้รับอานิสงส์จากเสียงหัวเราะของคุณไปด้วย เพราะถ้าแม่ท้องมีอารมณ์ขันหรือหัวเราะอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของระบบทางเดินหายใจทั้งต่อตัวแม่และลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งเด็กที่อยู่ในท้องของคุณแม่อารมณ์ดีเมื่อคลอดออกมาจะเติบโตดี และเป็นจุดเริ่มต้นของความสามารถในการเรียนรู้ทั้งหมด ที่สำคัญช่วง 0-6 ปี สมองของลูกเจริญเติบโตได้ดีที่สุด จงต้องต่อยอดการเรียนรู้ด้วยการเสริมกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ลูกมีอารมณ์ที่ดี เพราะเมื่อลูกสนุกและอารมณ์ดีแล้วทุกอย่างรอบตัวก็น่าสนุกและน่าเรียนรู้ไปหมด แม้ในยามที่เจอปัญหาก็กลายเป็นเรื่องท้าทายให้หาทางออกและใช้ความคิดสร้างสรรค์ค่ะ
กลยุทธ์จุดอารมณ์ขัน
เบบี้ 0-1 ปี
วัยนี้ลูกสามารถสร้างเสียงหัวเราะและอารมณ์ขันได้ง่ายมาก ไม่ต้องไปสรรหาวิธีการอะไรให้ยุ่งยาก เพียงแค่เราเอาใจใส่และทำทุกช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันให้มีแต่ความสุขเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วยให้เขาได้เรียนรู้โลกกว้าง ร่างกายแข็งแรง มีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่ดีและสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้
กิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างเสียงคิกคักให้เจ้าตัวเล็กได้นั้นมีมากมายค่ะขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกหยิบจับอะไรมาเล่นกัน ลองมาดูกันนะคะ
1. จ๊ะเอ๋…เบบี้ เป็นกิจกรรมยอดฮิตครองแชมป์โลกก็ว่าได้ เพราะพ่อแม่ทุกคนต้องเล่นกับลูกแน่นอนค่ะ สามารถเรียกความสนใจเจ้าตัวเล็กให้รู้จักมักคุ้นกับใบหน้าของคนรอบๆ ตัว อาจจะใช้ผ้าอ้อมของลูก ตุ๊กตา หรทอมือของคุณเองก็สามารถสร้างเสียงหัวเราะให้ลูกได้แล้วค่ะ
2. เล่นปูไต่ วิธีนี้ก็สนุกไม่เบา ใช้ปลายนิ้วของแม่หรือพ่อสัมผัสที่ท้องลูกเบาๆ ลูกจะรับรู้ถึงสัมผัสนั้นได้ แค่นี้ก็ทำให้ลูกรู้สึกจั๊กจี๋และส่งเสียงหัวเราะได้แล้ว
3. เอื้อมให้ไกลไปให้ถึง เพียงแค่คุณเอาของเล่นที่ลูกชอบ ชอบวางให้ห่างจากมือลูกสักนิด เจ้าตัวเล็กจะคืบคลานทีละนิดๆ เพื่อเอื้อมหยิบของเล่นชิ้นนั้น วิธีนี้สร้างทั้งเสียงหัวเราะและฝึกให้เขาได้บริหารกล้ามเนื้อแขน ขา และนิ้วมือด้วย
4. ยิ้มให้กระจก ลองหากระจกที่มีลวดลายสีสันสดใสให้ลูกส่องดูตัวเองสิคะ แล้วทำท่าทางต่างๆ ให้ลูกทำตาม แค่เขาเห็นตัวเองในกระจกก็ยิ้มไม่หุบแล้วค่ะ และถ้ามีท่าตลกๆ ให้เขาเห็นหรือทำตาม เขาจะหัวเราะร่าเลยเชียว
5. ไล่จับหนู การเล่นไล่จับกับลูกก็สร้างเสียงหัวเราะได้ ลูกอยู่ในวัยคลาน คุณก็คลานไล่ตามลูก เจ้าตัวเล็กจะรีบคลานหนีไปพร้อมๆ กับส่งเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊าก วิธีนี้ทำให้กล้ามเนื้อแขน ขา และมือแข็งแรงขึ้นด้วยค่ะ
6. เป่าพุงป่อง เล่นแบบนี้ก็สนุกไม่แพ้กัน เพราะสร้างทั้งเสียงหัวเราะและเสียงดังจากการเป่า เสร็จแล้วก็แกล้งทำสะดุ้งตกใจเมื่อมีเสียงดัง หรืออาจทำท่าทางแปลกๆ ให้เขาดูก็ได้ค่ะ
7. บินเหมือนนก เป็นการเล่นอีกแบบหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับลูกได้ไม่แพ้วิธีอื่นๆ เพียงคุณอุ้มลูกให้นอนคว่ำ มือข้างหนึ่งจับที่หน้าอกและมืออีกข้างหนึ่งจับที่ช่วงขา แล้วพาเขาบินไปพร้อมๆ กัน เท่านี้เจ้าตัวเล็กก็ยิ้มร่าแล้วค่ะ
8. ขี่ม้าชมเมือง ชื่อนี้คุณอาจไม่คุ้นเคย แต่ถ้าบอกวิธีการแล้วคุณต้องร้องอ๋อ…วิธีก็มีอยู่ว่า เวลาที่คุณจะเล่นกับลูกต้องนอนหงายก่อน จากนั้นก็ให้ชันเข่าขึ้นตั้งตรงเข่าชิดกัน อุ้มเจ้าตัวเล็กไปวางไว้ที่หลังเท้าให้ตัวลูกแนบกับเข่า แล้วคุณก็ยกเท้าขึ้นลงๆ คุณอาจกางแขนลูกออกทั้ง 2 ข้าง พร้อมกับยกขาขึ้นค่ะ รับรองสนุกแน่
9. ตุ๊กตาหนูหายไปไหน นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ฮิตไม่เบาเช่นกัน เพียงเอาของที่ลูกโปรดปรานไปแอบไว้สักพัก จากนั้นก็ค่อยๆ เอาออกมาแล้วทำท่าตกใจให้เขาเห็น
10. โมบายกรุ๊งกริ๊ง เด็กเล็กบางคนแค่เห็นโมบายแกว่งไปมาก็อารมณ์ดีนอนยิ้มกริ่มแล้ว ยิ่งปล่อยให้เขาเอื้อมคว้าจับด้วย ก็จะยิ่งชอบใจค่ะ
11. แย่งของเล่น อันนี้ก็ใช้ของเล่นชิ้นโปรดของลูกเช่นกัน แต่คุณต้องแย่งของเล่นจากลูกด้วยการแกล้งดึงออกจากมือลูกแล้วก็ปล่อย…อย่าแย่งจริงล่ะ เดี๋ยวได้เสียงร้องไห้โฮโฮมาแทนเสียงหัวเราะฮ่าฮ่า จะหาว่าไม่บอกกันก่อน
12. ขี่คอบิน เพียงคุณอุ้มเจ้าตัวเล็กขึ้นขี่คอ กางแขนของลูกออกแล้วพาบินไปด้วยกัน แต่ต้องระวังความปลอดภัยให้ลูกด้วยนะคะ
13. เหินฟ้า ใช้มือ 2 ข้างจับตัวลูกชูขึ้น-ลง ทำอย่างนี้ซ้ำ 2-3 ครั้ง ครั้งแรกเขาอาจจะตกใจ แต่เมื่อทำอีกคราวนี้ลูกจะสนุกและหัวเราะร่วนเลยล่ะค่ะ
14. เสื้อผ้าแสนสนุก หลังอาบน้ำเสร็จขณะที่คุณจะแต่งตัวให้เขา คุณก็นำเสื้อผ้าเหล่านั้นมาสร้างเสียงหัวเราะให้ลูก ด้วยการนำเสื้อผ้ามาสวมที่มือคุณแล้วเต้นไปตามจังหวะเพลงที่คุณร้อง หรืออาจจะแต่งเป็นนิทานสักเรื่องหนึ่งก็ได้ หรืออาจใช้เสื้อผ้าไปจั๊กจี๋ลูกแทนมือก็ได้อีกเช่นกัน
15. ตีได้ตีดี ไม่ได้ให้ตีลูกนะตัวเอง หมายถึงให้หาเครื่องดนตรีสำหรับเด็กๆ ที่สามารถตีหรือเคาะให้เกิดเสียงได้ จากนั้นก็ลองสาธิตให้เจ้าตัวเล็กดู แค่เจ้าตัวเล็กได้ยินเสียงก็จะรีบคว้าของจากมือคุณแล้วล่ะค่ะ
เตาะแตะ 1-3 ปี
อารมณ์ขันของวัยเตาะแตะนั้น สร้างได้ดังนี้ค่ะ
1. เล่นโยนบอล เอาลูกบอลที่ลูกชอบเล่นมาโยนส่งกับลูก พอบอลตกถึงพื้นก็แกล้งร้องและทำท่าตกใจ ลูกจะหัวเราะชอบใจแล้วโยนใหม่เล่นอีกครั้ง
2. นิทานแสนสนุก เล่านิทานให้ลูกฟังค่ะ โดยทำเสียงประกอบให้ดูเหมือนตัวละครในนิทานจริงๆ หรืออาจลองให้ลูกเล่านิทานให้เราฟังดูบ้าง ก็จะได้ความแปลกใหม่และสร้างเรื่องขำๆ ให้กับครอบครัวได้เช่นกัน
3. ร้องรำทำเพลง เปิดเพลงสนุกที่ลูกชอบหรือเพลงที่เหมาะกับลูก แล้ววาดลวดลายเต้นไปมาให้ลูกทำตาม หรือทำท่ารำ “น้อย นอย นอย…ก็ได้ค่ะ ไม่สงวนสิทธิ์
4. ปั่น ปั่น ปั่น รับรองว่ากิจกรรมปั่นจักรยานจะสามารถเรียกได้ทั้งเสียงหัวเราะและความตื่นเต้นเลยล่ะค่ะ แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องระวังอุบัติเหตุให้เขาด้วยนะคะ
5. ฟุตบอลพาเพลิน การเล่นแบบนี้ทำให้ลูกออกกำลังกายไปในตัว อีกทั้งยังสร้างเสียงหัวเราะให้ทั้งคุณและลูกได้เป็นอย่างดี เตะกันไปกันมา ผลัดกันเป็นคนรักษาประตูก็สนุกดีค่ะ
จอมซน 3-6 ปี
สำหรับวิธีสร้างอารมณ์ขันของเด็กที่โตขึ้นมาสักหน่อยดูจะมีเรื่องราวมากกว่าอารมณ์ขันของเด็กวัยอื่นแต่ต้องเสริมการเรียนรู้ให้ลูกด้วยค่ะ
1.. ละเลงสี กิจกรรมนี้สนุกแน่นอน เพราะเจ้าตัวเล็กได้ฝึกทั้งลากด้วยเส้นสี การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ และใช้จินตนาการควบคู่กันไปด้วย แค่นี้…เสียงหัวเราะก็อยู่แค่ปลายนิ้วค่ะ
2. ทำกับข้าว เมนูวันนี้คุณลูกขอทำเอง คุณแม่คุณพ่อจะกินได้หรือเปล่านั้นไม่รู้ค่ะแต่สิ่งที่รู้คือเจ้าตัวเล็กสนุกที่ได้รู้จักผัก ผลไม้หรือของใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นแน่นอน
3. ยิ่งต่อยิ่งสนุก เด็กวัยนี้สามารถต่อบล็อกได้หลากหลายรูปแบบตามจินตนาการแล้วบางคนอาจจะง่ายๆ แต่บางคนคิดซับซ้อนมากขึ้น ยิ่งต่อก็ยิ่งสนุกค่ะ
4. เพลงโปรด ถ้าอยากได้ยินเสียงเอิ๊กอ๊ากของลูกวัยนี้ การร่วมร้องเพลงสุดโปรดไปกับใช้ได้เลยค่ะ บางครั้งลองแกล้งร้องเนื้อผิดหรือร้องเสียงหลงดูสิคะ ลูกจะขำและแก้ไขให้คุณร้องได้ถูกต้องทันทีเลยล่ะ
5. เกมต่อคำ ลองชวนลูกๆ มาเล่นเกมต่อสัมผัสเสียงดูสิคะ เช่น คุณพ่ออาจจะเริ่มด้วย คำว่า ดอกไม้ คุณแม่ต่อด้วยคำว่า ใบหญ้า แล้วก็ให้ลูกๆ ต่อคำซึ่งขึ้นต้นด้วยสระอา เช่น ปาท่องโก๋ ซาลาเปา กาน้ำ ฯลฯ …เล่นต่อคำกันไปจนกว่าใครคนใดคนหนึ่งจะจนแต้มคิดคำไม่ออก (หรือคุณอาจจะแกล้งนึกคำไม่ออกก็ได้นา)
6. “พ่อแม่เปลี๋ยนไป” หน้าตาที่แปลกไปของพ่อแม่ก็เรียกเสียงฮาให้ลูกได้เหมือนกันไม่ว่าคุณจะแกล้งทำตาเหล่ ปากเบี้ยว ปากจู๋ หรือจะดันจมูกขึ้น ดึงหางตาลง ลองทำดูแล้วสังเกตว่าหน้าไหน ทำให้เจ้าหนูขำกลิ้งได้มากกว่ากัน
7. ปั้นแป้งโด แค่คุณแม่มีแป้งโดให้ลูกแล้วปล่อยให้เขาปั้น จะปั้นอะไรก็ได้ตามใจเขา ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่ได้สร้างเสียงหัวเราะเพียงอย่างเดียวนะ แต่ยังช่วยเสริมจินตนาการให้กับเจ้าตัวเล็กได้อีกด้วย
8. แกล้งอำลูก เช่น ลูกบอกว่า “ขอน้ำเย็นกินหน่อยครับ” ลองตอบลูกไปว่า “น้ำเย็นไม่มี มีแต่น้ำมืดแล้ว” รับรองว่าเรียกเสียงหัวเราะได้ตลอดเลยล่ะค่ะ
9. ผลุบๆ โผล่ๆ เกมนี้เด็กๆ ชอบมาก เช่น คุณพ่อกำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ลูกก็แกล้งมาโผล่ใต้โต๊ะที่พ่อนั่ง พ่อทำท่าตกใจ…ลูกจะหัวเราะชอบใจทุกครั้งเลยค่ะ
เสียงหัวเราะ และอารมณ์ขันเป็นเพียงเสียงธรรมดาที่ใครๆ ก็สร้างได้ จะหัวเราะเมื่อไหร่ก็ได้ แต่แปลกที่คนเรากลับหัวเราะน้อยลงทุกวัน ถึงเวลาแล้วค่ะ ที่เราต้องสร้างเสียงหัวเราะแห่งความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัวโดยเฉพาะกับลูกน้อย ถ้าไม่อยากให้เขาเป็นเด็กที่ไม่มีความสุข พัฒนาการและการเจริญเติบโตมีปัญหา

[เขียนโดย มนต์ชยา ที่มา..นิตยสารรักลูก ปีที่ 24 ฉบับที่ 286 พฤศจิกายน2549 ]

วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ชีวิตนี้ผ่านจุดคุ้มทุนแล้วหรือยัง

ชีวิตนี้ผ่านจุดคุ้มทุนแล้วหรือยัง

กว่าคนหนึ่งคนเติบโตและมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้นั้น โลกนี้ต้องลงทุนกับชีวิตคนแต่ละคนสูงมาก เช่น

  • พ่อแม่ลงทุนประคบประหงมเลี้ยงดูมาจนเติบใหญ่และติดตามดูแลไปตลอดชีวิต
  •  
  • ญาติพี่น้องลงทุนสร้างความสัมพันธ์ให้ความอบอุ่นให้โอกาสได้เป็นญาติพี่น้องกัน คอยช่วยเหลือเจือจุนกัน
  •  
  • ครูบาอาจารย์ลงทุนทั้งกายและสติปัญญาในการอบรมสั่งสอนให้คนมีวิชาความรู้ติดตัว
  •  
  • หัวหน้าในที่ทำงานลงทุนลงแรงในการให้ความรู้ สั่งสอน สนับสนุน ส่งเสริม คอยตักเตือนเพื่อให้คนมีอนาคตในการทำงานที่ดี
  •  
  • เพื่อนร่วมงานลงทุนเอาชีวิตมาเสี่ยงกับชีวิตเรา ลงทุนจิตใจมารองรับอารมณ์ของเรา
  •  
  • คู่สมรสลงทุนทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตมาผูกติดกับชีวิตเราแบบหมดตัวหมดใจ
  •  
  • ลูกลงทุนมาสร้างความรักความผูกพันให้กับพ่อแม่ ลงทุนมาเป็นความหวังความภูมิใจให้กับพ่อแม่
  •  
  • สัตว์และพืชลงทุนสละชีพเพื่อเป็นอาหารให้กับคนเราได้ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ต่อไป
  •  
  • ศาสนาได้ลงทุนเผยแพร่คำสั่งสอนให้คนทุกคนเป็นคนดีโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

แล้วคนเราเคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่าทุกวันนี้เราได้ดำเนินชีวิตโดยการชดใช้ทุนจากแหล่งต่างๆบ้างหรือยัง เราเคยให้ผลตอบแทนอะไรแก่แหล่งทุนในชีวิตของเราบ้างหรือยัง ถ้าใครอยากจะทราบว่าชีวิตของเราผ่านจุดคุ้มทุนมาแล้วหรือยัง ลองประเมินชีวิตตัวเองจากหัวข้อดังต่อไปนี้
 

  • พ่อแม่
  •  เราเคยทดแทนบุญคุณพ่อแม่บ้างหรือยัง เช่น บวชแทนคุณ เลี้ยงดูท่าน ทำให้ท่านภูมิใจ ดูแลท่านเมื่อยามเจ็บป่วย พาท่านไปเที่ยวทำบุญ
  •  
  • คู่สมรส
  • เราเคยให้อะไรกับคนที่เรารักและรักเราบ้างหรือยัง เช่น ให้เวลา ให้ความรู้สึกที่ดีต่อกัน ให้ทรัพย์สินเงินทอง ให้เกียรติ ให้ความรักความเข้าใจแบบที่เขาเป็น ให้เขาได้มีความสุขจากความประพฤติดีของเรา
  •  
  • ญาติพี่น้อง
  • เราเคยให้อะไรตอบแทนแก่ญาติพี่น้องของเราบ้างหรือยัง เช่น ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล ให้โอกาส เขาไม่คุยโม้โอ้อวดจากความภาคภูมิใจที่เขาเห็นเราประสบความสำเร็จ
  •  
  • ครูบาอาจารย์และสถาบันการศึกษา
  •  เราเคยให้อะไรตอบแทนกลับไปยังผู้ให้ความรู้เราบ้างหรือยัง เช่น ให้ชื่อเสียงแก่สถาบันจากความสำเร็จของเรา ให้ความช่วยเหลือแก่รุ่นน้องๆ ทั้งเรื่องการถ่ายทอดวิชาความรู้ประสบการณ์หรือการช่วยเหลือในด้านเงินทองแก่รุ่นน้อง
  •  
  • เพื่อนร่วมงาน
  • เพื่อนร่วมงานหมายรวมถึงตั้งแต่หัวหน้า เพื่อน และลูกน้อง เราสามารถให้ความหวังกับหัวหน้าได้โดยการทำงานดี ทุ่มเททำงาน สร้างความภูมิใจให้หัวหน้าเมื่อเขาเห็นเราประสบความสำเร็จ อย่างน้อยอดีตหัวหน้าเราจะได้บอกใครต่อใครได้ว่าเราเคยเป็นลูกน้องเขามาก่อน เราสามารถตอบแทนเพื่อนร่วมงานและลูกน้องได้โดยการให้เกียรติ ช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริมให้เพื่อนร่วมงานและลูกน้องทำงานให้ประสบความสำเร็จ
  •  
  • สังคม
  • ลองถามตัวเองดูว่าเราเกิดมาทั้งทีมีแต่การเป็นผู้รับสิ่งต่างๆจากสังคมมามากมาย เราเคยตอบแทนสังคมโดยการช่วยเหลือคนยากจน ทำบุญ ทำทาน ช่วยเหลือคนพิการ คนด้อยโอกาสในสังคมบ้างหรือยัง เราเคยนำเอาสิ่งที่เรามีอยู่ เช่น ความรู้ เวลา ทรัพย์สินเงินทอง แบ่งปันให้คนอื่นในสังคมบ้างหรือยัง มากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับสิ่งที่เราได้รับมาจากสังคมแล้วหรือยัง เช่น คิดง่ายๆว่าถ้าเราเคยได้รับการช่วยเหลือจากคนอื่นตอนที่รถเราเสียกลางทาง แล้วเราได้มีโอกาสช่วยเหลือคนที่เขารถเสียเหมือนเราบ้างหรือยัง ถ้าเราเคยได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมสังคมตอนที่เราเจ็บป่วย แล้วเราเคยช่วยเหลือคนป่วยที่ไม่ใช่ญาติเราบ้างหรือยัง

     

สรุป

       คนเราเกิดมาพร้อมกับหนี้ยิ่งมีชีวิตยืนยาว ก้าวหน้ามากเพียงใด เรายิ่งเป็นหนี้คนรอบข้างและสิ่งต่างๆในโลกนี้มากขึ้นเท่านั้น เพราะความก้าวหน้าของเราย่อมต้องใช้ทุนจากแหล่งต่างๆมากมาย เช่น คนที่ยิ่งจบการศึกษาสูงๆก็ยิ่งเป็น  หนี้พ่อแม่ครูบาอาจารย์มากขึ้น คนที่ร่ำรวยยิ่งเป็นหนี้คนทำงานหรือลูกค้า คู่ค้ามากยิ่งขึ้น ดังนั้น ขอให้คิดว่าเราเกิดมาเพื่อชดใช้หนี้ที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจก่อขึ้นให้ครบถ้วน       จึงจะได้ชื่อว่า ชีวิตนี้มีจุดคุ้มทุนแต่ถ้าใครสามารถตอบแทนคนอื่นและสิ่งรอบข้างนี้ได้มากกว่าที่เราได้รับมาก็ได้ชื่อว่าชีวิตนี้มีกำไรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าถึงแม้เราไม่รู้ว่าจะตอบแทนบุญคุณใครอย่างไรจึงจะเรียกว่าคุ้มทุน ก็ให้คิดเพียงง่ายๆว่าเราเคยได้รับอะไรจากใครบ้าง แล้วเราได้เคยตอบแทนอะไรให้แก่คนเหล่านั้นคืนไปบ้างหรือยัง ถ้าตอบว่าเคยก็น่าจะเพียงพอแล้วครับ


ที่มา FW Mail

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่ 10 - 14 พัฒนาการของทารกในครรภ์

เมื่อลูกในครรภ์อายุได้ 14 สัปดาห์ อวัยวะส่วนสำคัญทั้งหมดจะสร้าง เรียบร้อยแล้วทั้งสิ้น ลำไส้และอวัยวะส่วนต่างๆ เริ่มขยายขนาดและตบ แต่งให้สมบูรณ์ ส่วนหัวจะยาว 1 ใน ของความยาวลำตัว ส่วนลูกตาจะ สร้างสมบูรณ์ในขณะที่เปลือกตายังปิดและไม่ทำงาน หน้าตาสมบูรณ์ แล้ว ลำตัวเหยียดตรง เริ่มมีซี่โครงและกระดูก เริ่มมีเล็บมือ เล็บเท้า และขนบางส่วน อวัยวะเพศแยกได้ชัดเจน หัวใจเต้น 110 - 160 ครั้ง/ นาที ทารกเริ่มกลืนน้ำคร่ำและถ่ายปัสสาวะ อาจมีอาการสะอึกเป็นครั้ง คราว ลูกเริ่มดิ้นแล้ว แต่ไม่แรงพอที่จะทำให้คุณแม่รู้สึกได้ในช่วง สัปดาห์ที่ 14 นี้ ลูกในครรภ์จะมีความยาว 9 ซม. และหนัก 48 กรัม
อีกประมาณ 26 สัปดาห์เราก็จะเจอกันแล้วนะ ลูกพ่อ

วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

คออักเสบอาการอันตรายของเจ้าตัวเล็ก

คออักเสบอาการอันตรายของเจ้าตัวเล็ก....เมื่อวานกับวันนี้สงสารลูก(น้องแพรวา )มากครับอาการคออักเสบ ทานอาหารไม่ได้ต้องนอนให้น้ำเกลือที่ รพ.นวมินทร์ 9 เมื่อคืน ไข้สูงทุก ๆ 1.5 ชม. พ่อกับแม่ไม่ได้นอนกันทั้งคู่ วันนี้ค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาดูเพื่อป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก

เมื่อเจ้าตัวเล็กเกิดอาการเจ็บคอ ไอค่อกไอแค่ก ไม่สบายเป็นหวัด คุณพ่อคุณแม่จะนิ่งนอนใจไม่ได้นะครับ เพราะหากดูแลไม่ดีหรือไม่รีบรักษา อาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกน้อยได้ครับ เจ็บไข้วัยเด็กคราวนี้จึงชวน รศ.นพ.ครรชิตเทพ ตั่นเผ่าพงษ์ ภาควิชาโสต นาสิก ลาลิงซ์วิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี มาให้ความรู้เกี่ยวกับการอักเสบของคอและโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ
รู้เรื่องหู คอ จมูก ของหนูหน่อย
• บริเวณที่เชื่อมต่อกันของ หู คอ จมูก คือ ส่วนของโพรงหลังช่องจมูก ซึ่งเป็นส่วนที่อากาศไหลผ่านจมูกลงสู่คอและปอด จะเป็นบริเวณที่มีระบบน้ำเหลืองมีประสิทธิภาพมาก เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อโรคหรือสารที่ก่อการระคายเคือง
• การติดเชื้อที่คอทุกชนิดสามารถเชื่อมต่อไปยังหูได้ โดยผ่านทางท่อยูสเตเชี่ยน โดยเฉพาะการติดเชื้อของต่อมอะดีนอยด์

คอของหนูประกอบด้วยอะไรบ้าง
คอ ประกอบด้วยอวัยวะสำคัญมากมายและมีโครงสร้าง ที่สลับซับซ้อนทั้งภายในและภายนอกบริเวณลำคอ เช่น เยื่อบุช่องคอ ต่อมน้ำเหลือง กล้ามเนื้อน้อยใหญ่ หลอดเลือดใหญ่ กล่องเสียง หลอดลม หลอดอาหาร ซึ่งแต่ละส่วนล้วนเป็นแหล่งกำเนิดของอาการเจ็บคอได้ทั้งสิ้น หากเกิดความผิดปกติกับอวัยวะเหล่านี้ เช่น เกิดการอักเสบของเยื่อบุช่องคอ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ และในบรรดาอาการต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบหมอบ่อยที่สุดก็คือ อาการเจ็บคอ
อาการเจ็บคอ คือ อาการเจ็บบริเวณช่องคอทั้งหมด ตั้งแต่ฐานกะโหลกศีรษะลงมาจนถึงระดับไหปลาร้า โดยรวมไปถึงการเจ็บทั้งที่มีความสัมพันธ์และไม่มีความสัมพันธ์กับการกลืน และครอบคลุมการเจ็บทั้งภายในและภายนอกบริเวณลำคอ เพราะคอเป็นด่านแรกที่คอยควบคุมเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำและอาหาร การอักเสบติดเชื้อบริเวณนี้จึงเกิดได้บ่อยครับ

เจ็บคอมีกี่แบบ
อาการเจ็บบริเวณคอที่พบได้มี 2 ชนิด คือ
1. อาการเจ็บคอภายในช่องคอ
2. อาการเจ็บคอภายนอกช่องคอ
1. อาการเจ็บคอภายในช่องคอ
แบ่งเป็น เจ็บคอหอยส่วนเหนือต่อลิ้นไก่ หรือบริเวณช่องคอหลังโพรงจมูก เจ็บคอหอยส่วนต่ำกว่าลิ้นไก่ เจ็บคอหอยส่วนต่ำกว่าฝาผิดกล่องเสียง เจ็บบริเวณกล่องเสียง
การเจ็บภายในช่องคอมักมีสาเหตุเกิดจาก การอักเสบติดเชื้อของช่องคอหลังโพรงจมูก ต่อมอะดีนอยด์ เยื่อบุผนังช่องคอ ต่อมทอนซิล และเพดานอ่อน
อาการของโรค
เริ่มจากการเจ็บภายในช่องคอซึ่งมักเกิดขึ้นรวดเร็ว เมื่อเกิดการติดเชื้อเด็กจะมีอาการเจ็บคอ มีไข้หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อโรคชนิดไหน จะมีอาการของโรคคล้ายๆ กัน คือ กลืนน้ำลายลำบาก มีน้ำลายและเยื่อเมือกคั่งค้างภายในลำคอในผู้ป่วยเด็กบางรายจะไม่ยอมอ้าปาก และจะมีอาการของต่อมน้ำเหลืองที่คอโตและเจ็บได้ โดยเฉพาะในเด็กนั้น คอจะอักเสบและแดงมากบริเวณเยื่อบุผนังคอหอย ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิลในรายที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังมักพบร่วมกับวัณโรคปอด หรือซิฟิลิสครับ
อาการแทรกซ้อน
สาเหตุของโรคหรือการเจ็บในช่องคอ มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเกิดร่วมกับการอักเสบของช่องจมูก โพรงอากาศข้างจมูกหรือการอักเสบของหูชั้นกลาง ส่วนการเจ็บหรืออักเสบของช่องคอ ที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อโรคคอตีบพบลดลงครับ เนื่องจากมีวัคซีนป้องกันโรคนี้แล้ว
อาการแทรกซ้อนที่มีจากการเจ็บในช่องคอคือ การเกิดเป็นฝีหนองรอบๆ ต่อมทอนซิล การเกิดฝีหนองด้านหลังหรือข้างช่องคอ การเกิดการอักเสบของหูชั้นกลาง การอุดตันของทางเดินหายใจส่วนบนทำให้หายใจลำบาก

2. อาการเจ็บภายนอกช่องคอ
แบ่งเป็นอาการเจ็บจากการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง อาการเจ็บจากการอักเสบของถุงน้ำที่มีมาแต่กำเนิด เจ็บต่อมน้ำลาย เจ็บต่อมไทรอยด์ พบได้บ่อยในเด็กเล็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ขวบ และมักเกิดขึ้นหลังจากอาการไข้หวัด หวัดลงคอ
อาการของโรค
เริ่มแรกที่เห็นได้ชัดในเด็กเล็กๆ คือ ไม่ยอมกินนม มีไข้สูง ชีพจรเต้นเร็ว และอาจมีเสียงเวลาหายใจเข้าออก เนื่องจากมีการอุดตันของทางเดินหายใจ ร้องกระวนกระวาย คอแข็งเกร็งเอียงไปทางด้านตรงข้ามกับด้านที่เกิดโรค และเมื่อตรวจดูในลำคอจะพบว่า ผนังของช่องคอด้านหลังมีลักษณะโป่งนูนมาก ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณนี้อักเสบ และอาจมีอาการไตของต่อมน้ำเหลืองปรากฏขึ้นมาด้วย
อาการแทรกซ้อน
ถ้าไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ อาจมีอันตรายจากอาการแทรกซ้อนคือ ต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น อาจแตกออกมาอยู่ในช่องหลังผนังคอหอย ซึ่งอยู่ข้างหน้าต่อกระดูกสันหลังส่วนลำคอ อาจเกิดอาการบาดเจ็บ เช่น การทะลุของผนังด้านหลังของช่องคอ ทำให้มีน้ำเหลืองมาคั่งอยู่ในช่องหลังของช่องคอ ซึ่งปัญหาแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุด คือ หนองจะแตกออกแล้วไหลเข้าไปในหลอดลมใหญ่ มีการสำลักลงปอด มีเลือดออก
สิ่งแปลกปลอมหรืออาการเหล่านี้ จะทำให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจส่วนล่าง ขาดอากาศหายใจ และติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งหากมีการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว จะทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น เกิดอาการไตวาย ตับวาย หรือการไหลเวียนของกระแสเลือดติดขัด และจะทำให้เสียชีวิตในที่สุดครับ
อาการแทรกซ้อนเหล่านี้ สามารถรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะครับ ในกรณีที่มีน้ำหนองไหลเข้าไปในปอด ก็จะมีการเคาะปอดเพื่อให้หนองไหลออกมาจากปอด หรือรักษาโดยวิธีเจาะหนองในกรณีที่เป็นฝีหนองในปอด หากมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง อาจต้องส่องกล้องตรวจดูหลอดลม และใส่ท่อเพื่อช่วยในการหายใจ

ดูแลหนูไม่ให้ติดเชื้อซ้ำซ้อน
เมื่อลูกติดเชื้อไม่สบาย สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำ นอกจากรีบรักษาอาการป่วยของลูกให้หายแล้ว ควรปฏิบัติดังนี้ครับ
1. เข้ารับการรักษาโรคตั้งแต่เกิดอาการเริ่มแรก ไม่ควรปล่อยให้อาการลุกลาม
2. เตรียมอาหารที่มีประโยชน์ให้ลูกรับประทานอย่างครบถ้วน งดอาหารที่จะทำให้อาการอักเสบเพิ่มมากขึ้น เช่น อาหารที่มีรสจัด หรืออาหารที่ไม่สะอาด ควรทานอาหารที่สุกใหม่
3. กรณีที่ได้รับยาปฏิชีวนะ ต้องดูแลและเคร่งครัดในการให้ลูกรับประทานยาครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง
4. ให้ลูกได้นอนหลับอย่างเพียงพอและออกกำลังกายให้พอเหมาะ
5. ระมัดระวังเรื่องสภาวะแวดล้อม และหลีกเลี่ยงจากผู้ป่วยอื่นๆ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้อีก

[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 8 ฉบับที่ 91 พฤษภาคม 2546 ]

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

พัฒนาการตัวอ่อน อายุครรภ์ 2 เดือน

อายุครรภ์ 2 เดือน ประมาณ 5-8 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 8 ตัวอ่อนจะมีความยาวประมาณ 2.5 - 3.0 เซ็นติเมตร หนักแค่ประมาณ 3 กรัม มีการสร้างกระโหลกศีรษะและขากรรไกร ใบหน้ามีลักษณะชัดเจนมากขึ้น มีส่วนของอวัยวะ ตา หู จมูก แขน และขา ชัดเจน นิ้วมือและนิ้วเท้าแยกออกจากกันได้ หัวใจมีการแบ่งห้องเรียบร้อย มีการแยกระบบทางเดินอาหารและลำไส้ ทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธ์ มีการแยกกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะออกจากทวารหนักจากเดิมที่อยู่ในท่อเดียวกัน เริ่มมีการสร้างอวัยวะสืบพันธ์ภายนอก แต่ยังแยกแพศไม่ได้ สายสะดือเจริญสมบูรณ์ขึ้น โดยมีระบบไหลเวียนเลือดผ่านสะดือ กระดูกยาวเริ่มมีการเจริญ กล้ามเนื้อมัดใหญ่เริ่มมีการหดตัว ทารกสามารถที่จะเคลื่อนไหวได้

ที่มา ภูมิปัญญาไทยกับการผดุงครรภ์ ชุดวิชา ธรรมานามัย สาขาวิทยาศาตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่ 7 ทิพย์ตั้งครรภ์ ลูกคนที่สอง

สัปดาห์ที่เจ็ด

หรือสัปดาห์ที่ห้าหลังจากไข่ผสมกับตัวอสุจิ ระยะนี้กระโหลกศีรษะ สมอง จมูก เลนส์ตา ลำไส้ ปอด พัฒนาอย่างรวดเร็ว แขนขาที่เริ่มเป็นแผ่นระยะนี้ตัวอ่อนจะยาว1/3-1/4 นิ้ว เริ่มมีการสร้างสายสะดือ umbilical cord เพื่อรับอาหารจากแม่ และขับของเสีย ในระยะนี้ต้องรับประทานอาหารที่ครบถ้วน ได้รับกรดโฟลิกและวิตามิน บี 12 ผู้ที่มีอาการต่อไปนี้ให้นึกถึงว่าท่านอาจจะตั้งครรภ์แฝด อาการดังกล่าวได้แก่

•น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
•เท้าบวมน้ำ
•อ่อนเพลียมากกว่าปกติ
•มีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายคุณแม่ ระยะนี้จะมีมูกมาปิดที่ปากมดลูกเพื่อป้องกันทารก

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

สัปดาห์ที่หก ของการตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2

สัปดาห์ที่หก

ระยะนี้ตัวอ่อนจะเจริญอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะสมอง ท่อ neural tube จะปิด หัวใจเด็กเริ่มเต้นสูบฉีดเลือด กระดูกใบหน้าเริ่มมีเกือบครบ แขนขาเริ่มเป็นตุ่ม ระบบหายใจและทางเดินอาหารเริ่มเกิด เด็กจะมีขนาด1/4-1/6 นิ้ว

แม่น้องแพรวา....มีน้อง

หลังจากที่แม่น้องแพรวามีอาการเหมือนคนตั้งครรภ์มาประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อวานตอนเช้าก็เลยตรวจเบื้องต้น ผลปรากฎว่าเป็นบวก 2 ขีด ตอนเย็นก็เลยพาไปพบคุณหมอที่ รพ.นวมินทร์ 9 ผลการตรวจของคุณหมอ ทิพย์ตั้งครรภ์ลูกคนที่สองได้ 6 สัปดาห์แล้ว กำหนดคลอดวันที่ 15 พ.ค. 2555 ครับ อาการเบื้องต้นแพ้เล็กน้อย หมอให้ยาแก้วิงเวียนและโฟเลตมาทาน แนะนำให้คุณแม่พักผ่อนให้เยอะ แต่ด้วยภาระหน้าที่การงาน แต่ยังไงเพื่อลูกที่กำลังจะเกิดมาครับ ส่วนคุณพ่อเองก็จะแบ่งเบาภาระงานบ้าน และทำเรื่องส่วนตัวเรื่องเรียนที่ลงทะเบียนไว้ ให้สำเร็จโดยเร็ว ...เพื่อลูกและสิ่งที่เราสองคนตั้งใจไว้ครับ

คุณหมอที่ฝากครรภ์ ด้วยชื่อ คุณหมอชัยวัฒน์ หมอสูติ จากแพทย์ มข. คุยถูกคอกันมาก คุณหมออารมณ์ดี
รายชื่อแพทย์ รพ.นวมินทร์ 9

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมื่อลูกไม่ยอมนอน

การดูแลทารกนับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพ่อ-แม่ทุกคน และการที่ลูกไม่ยอมนอนก็เป็น "เรื่องใหญ่" ของการดูแลทารก แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีทารก หรือเด็กคนไหนที่จะผ่านวัยเด็ก มาโดยไม่เคยมีปัญหาด้านการนอนไม่หลับ อย่างน้อยหลายๆ สาเหตุ ก็ทำให้เด็กตื่นขึ้นกลางดึก เช่น ฝันร้าย หิวนม ถ่ายปัสสาวะ เหนื่อยมากเกินไป เป็นต้น เป็นสาเหตุที่ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเด็ก

หลายท่านคงคาดไม่ถึงว่า ปัญหาการไม่ยอมนอนของลูก อาจทำลายความสัมพันธ์ที่ดีพ่อและแม่ได้ โดยเฉพาะ ถ้าลูกไม่ยอมนอนตอนกลางคืน เพราะการที่ลูกไม่ยอมนอน จะทำให้เด็กยิ่งเหนื่อยมาก และเมื่อยิ่งเหนื่อยมาก ก็ยิ่งหลับยากขึ้น แล้วร้องกวนงอแงมากขึ้น ขณะที่เวลากลางคืนเป็นเวลาพักผ่อนนอนหลับ ของพ่อและแม่ เมื่อลูกร้องท่านก็ต้องผลัดกันตื่นมาดูแลลูก จนที่สุดทั้งพ่อและแม่ก็พลอยไม่ได้หลับไปด้วย การไม่ได้หลับของผู้ใหญ่ ก็ทำให้เพลียได้ไม่ต่างกับเด็ก จนที่สุดกลายเป็นความหงุดหงิดอารมณ์เสีย และพานทะเลาะกันง่ายกลายเป็นปัญหาครอบครัว ที่ลูกเป็นสิ่งบั่นทอนชีวิตคู่ไปในที่สุด

ถ้าท่านหาสาเหตุการไม่ยอมนอนของลูกพบก็แก้ไขได้โดยไม่ยาก นอกจากสาเหตุที่ท่านมักจะมองข้าม จนไม่สามารถแก้ไขการไม่ยอมนอนของลูก ได้สำเร็จ คือ ปัญหาเด็กขาดความรักและความอบอุ่น ความรู้สึกที่ว่า พ่อและแม่ไม่รักตน ทำให้เด็กรู้สึกกังวลไม่ปลอดภัย ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ หวั่นไหวง่ายและขี้แง เกิดปัญหาในการนอนตามมา เพราะเด็กจะรู้สึกว่า การที่พ่อ-แม่รัก เป็นสิทธิที่ลูกควรได้รับ ดังนั้นการแสดงออก ที่เป็นการใช้อำนาจของพ่อและแม่ จะยิ่งเสริมความรู้สึกขาดความสุข ของลูกที่ขาดความมอบอุ่นยิ่งขึ้น จนถึงขั้น "เก็บกด" และลูก จะดำเนินการโต้ตอบด้วยความโกรธ เรียกร้องความสนใจทั้งกลางวันและกลางคืน ด้วยการไม่ยอมนอนนั่นเอง

ในบทความนี้จะกล่าวถึงพื้นฐานการนอนหลับ ตั้งแต่แรกเกิดของทารก เริ่มตั้งแต่หลังคลอด เมื่อทารกกลับมาจากโรงพยาบาลที่หนูน้อยเกิดขึ้นมานั่นเอง ทารกจะหลับหลังจากดูดนมอิ่มแล้วทุกครั้ง บางทีก็จะหลับ โดยไม่ได้ตื่นขึ้นมาดูดนมในเวลากลางคืนอีก ช่วงนี้คนที่นอนไม่หลับ กลายเป็นคุณพ่อคุณแม่มากกว่า เพราะเกิดความกังวลกลัวลูกจะตื่นขึ้นมา แล้วตนไม่รู้ตัว ก็เกร็งนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ดังนั้นในช่วง 2 เดือนแรก พ่อและแม่ควรสร้างความคุ้นเคยกับทารกให้มากที่สุด แล้วทารกก็เรียนรู้ที่จะผ่อนคลายและหลับลงได้โดยง่ายด้วย ช่วง 2 เดือนแรกนี้ ลักษณะการนอนของเด็กจะขึ้นอยู่กับว่า ทารกได้รับอาหารและความรักเพียงพอหรือไม่ เด็กจะรู้สึกสบาย และนอนหลับต่อไปได้ แม่ต้องใจเย็นๆ ให้นมจนลูกอิ่มอย่างช้าๆ ทะนุถนอม และไม่เร่งรีบ สังเกตดูจะพบว่า ทารกต้องการต่างกัน บางคน ต้องการให้แม่กอดรัดตลอดเวลาที่ให้นม บางคน ต้องการให้กอดตอนก่อนนอนจนหลับไป

ในช่วงเดือนแรก


ทารกสามารถรับทราบความรักจากการสัมผัสของพ่อและแม่ พร้อมๆ กับเริ่มเรียนรู้ที่จะฟังเสียงของพ่อแม่ สิ่งที่จะทำให้ทารก ผ่อนคลายจนนอนหลับได้ นอกเหนือจากการกอดสัมผัสของพ่อแม่แล้ว ยังมีวิธีการโยก หรือไกวเปลกล่อมเบาๆ ตบก้นเบาๆ ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน บางท่านอาจพูดคุยกับลูก หรือร้องเพลงกล่อมขณะให้นมลูกก็เป็นวิธีที่ได้ผลดี ในช่วงอายุนี้ทารกจะหลับประมาณวันละ 16 ชั่วโมง และหิวนมทุกๆ 3-4 ชั่วโมง

เมื่อย่างเข้าสู่วัย 2-4 เดือน


ทารกก็ยังต้องการนอนหลับมากๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน เด็กจะต้องการนมในระยะห่างจากช่วง 2 เดือนแรก บางคนต้องการนมทุก 5-6 ชั่วโมง แต่บางคนจะนอนครั้งละ 7-8 ชั่วโมง จึงจะตื่นมารับประทานนม บางคนจะตื่นจะดูดนมเพียงคืนละครั้ง ขณะที่บางคนยังตื่นขึ้นมาคืนละ 2 ครั้ง แต่ตอนกลางวันจะตื่นบ่อยกว่ากลางคืน

เป็นที่น่าสังเกตว่า เด็กวัยนี้จะไม่ค่อยโมโหหิว คือ มักจะตื่นขึ้นมาเล่นสักพักจึงจะร้องดูดนม ดังนั้นแม่อาจปล่อยให้ลูกเล่นไป จนร้องแล้วค่อยเข้าไปป้อนนมก็ได้ เพราะลูกเล่นจนเหนื่อย เมื่อดูดนมจะหลับต่อได้ง่ายขึ้น การร้องเพลงกล่อมให้ลูกผ่อนคลาย ช่วยปลอบทารกให้สงบลง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวัยนี้ท่านไม่ควรนำเด็กเดินทางไปไหนๆ เพราะจะทำให้เด็กตื่นบ่อยๆ ตามจังหวะที่รถเคลื่อนที่ทำให้เด็ก ต่อต้านการนอนและจงใจตื่น ในที่สุดเมื่อนอนไม่หลับ เด็กก็จะเหนื่อยเกินไปและงอแงนอนไม่ได้ ท่านควรรีบแก้ไขทันที อย่าปล่อยให้เวลาผ่านเนิ่นนานไป ทำให้เด็กมีนิสัยขี้หงุดหงิดเลี้ยงไม่ค่อยโต เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอตามมา

สิ่งที่น่ารู้อีกอย่างสำหรับเด็กวัย 2 เดือนก็คือ "ความหิว" จะไม่ปลุกให้เด็กตื่นในตอนกลางคืน กับการที่เด็กดูดนมมากๆ ก่อนนอน ก็ไม่ได้มีผลต่อการนอนอย่างชัดเจน และเรื่องความฝันก็ไม่ได้ทำให้เด็ก ตื่นขึ้นมาได้เพียงแต่ค่อนข้างแน่ชัดว่าเด็กวัยนี้เริ่ม "ฝัน" แล้วหากเป็นฝันดีจะยิ้มและหัวเราะ ถ้าฝันร้ายเด็กจะดิ้นหรือร้องไห้แล้วหลับต่อ
มีเด็กอีกหลาย ๆ คนที่ไม่ยอมนอนตอนกลางคืนและเอาแต่ร้องไห้ สาเหตุหลักส่วนใหญ่เกี่ยวกับ การเกิดอาการจุกเสียดในเวลาเย็น ซึ่งเป็นผลมาจากการร้องไห้มากเกินไป ความเหน็ดเหนื่อยที่สะสมมาตลอดวัน แม่เร่งให้ลูกดูดนมในตอนเย็นให้เสร็จเร็ว ๆ ทำให้ทารกหิวในช่วงดึก เป็นต้น

แต่จะว่าไปแล้ว อาการจุกเสียดมีความสัมพันธ์กับการร้องไห้เหนื่อยเกินไป หิวหรือตึงเครียด ปัญหาที่เกี่ยวกับพ่อแม่ทำให้เด็กอารมณ์เสียไม่ผ่อนคลาย จึงแสดงออกมาทำให้ท้อง ระบบย่อยอาหารทำงานหนักเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญคือ เด็กเล็กพูดไม่ได้ ไม่สามารถบอกอาการอะไรได้ ทำได้แต่เพียงร้องไห้ ยิ่งร้องไห้ก็ยิ่งเป็น เมื่อรู้สึกไม่สบายในท้อง เด็กจะไม่ยอมกินอะไร บ่องครั้งจะร้องคราง ซูบซีดลง บางครั้งอาจมีเหงื่อท่วมตัว บางคนอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าลูกมีอาการทางกายมากควรรีบปรึกษากุมารแพทย์ แต่ถ้าอาการแสดงออกเป็นเพียงเรื่องของการไม่ยอมนอน ท่านต้องให้ความอบอุ่นและเข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกของท่าน ผ่อนคลายที่สุดก็จะหลับได้

ถึงช่วงอายุได้ 4-8 เดือน


ทารกหลายรายเคยที่เคยกรีดร้องก็จะสงบลงได้บ้าง ทารกจะ "รู้ความ" มากขึ้น จะขี้เล่น สนุกสนานร่าเริง เริ่มแสดงนิสัย อันเป็นบุคลิกภาพส่วนตัวออกมา แต่อาจจะมีบางคนยังเป็นเด็ก ที่เอาใจยากเหมือนเดิม ส่วนทารกที่เคยหลับเก่งก็เริ่มจะหลับน้อยลง ตอนกลางคืนจะดูดนมน้อยครั้งลงเหลือเพียงครั้งเดียว หรือบางคนให้นมก่อนนอนเด็กจะหลับยาวจนถึงเช้า เด็กบางคน ที่งีบหลับเป็นช่วงสั้นๆ ในตอนกลางวันวันละหลายๆ ครั้งอาจง่วง และอารมณ์เสียในตอนกลางคืนจึงร้องโยเยบ้างก่อนจะนอน แล้วจะหลับยาวตลอดคืน

ถ้าเช่นนั้นปัญหาในวัย 4-8 เดือน เกี่ยวกับการนอนคืออะไร

คำตอบก็ยังเป็นเช่นเดียวกับแรกเกิดถึง 4 เดือน คือ กรณีที่เด็กตื่นมารับประทานคืนละหลายครั้ง อาจเกิดเนื่องจาก ได้รับอาหารเสริมหรือนอนไม่เพียงพอจึงหิวอีก หรือเกิดเพราะทารก ไม่ได้รับการผ่อนคลาย ขาดความรักและความอบอุ่น หรือเป็นเพราะไม่สบาย ส่วนกรณีที่นอนไปแล้วตื่นขึ้นมาร้อง อาจเป็นเพราะฝันร้าย หรือความไม่สบายในการนอน เพราะเด็กทารกในวัยนี้ ต้องการความสบายในการนอนมากกว่าช่วงแรก ต้องไม่ร้อนเกินไป ไม่เย็นเกินไป และมักจะไม่ชอบให้ห่อตัวนานๆ หรือรัดแน่นเกินไป บางรายไม่ยอมนอน เพราะในห้องมีแสงสว่าง วิธีแก้ก็คือ การทำให้ในห้องนอนมืด

เมื่อเด็กอายุได้ 8 เดือน ถึงขวบครึ่ง


ทารกจะเริ่มหัดเดิน คลานเตาะแตะเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวและไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้นอนของพ่อและแม่ เริ่มรู้ที่จะดูแลตนเองในยามกลางคืน รู้จักที่นอนของตนเอง เด็กจะเริ่มซุกซนทำเสียงอึกทึก และห่วงเล่นไม่ยอมนอน ช่วงกลางวันเด็กในวัยนี้จะหลับสั้น ๆ แต่หลับหลายรอบ ส่วนตอนกลางคืนอาจหลับยาว 10-12 ชั่วโมง มีบางคน ยังตื่นมารับประทานนมอยู่ 1-2 ครั้ง

การที่ทารกเคลื่อนไหวไปมาได้มาก ทำให้เหนื่อยขึ้น ยิ่งถ้าเล่นมากยิ่งหลับยาก บางคนจะเริ่มก่อกวนตอนเที่ยงคืน เพราะหลับสบายมาก่อนหน้านี้หลายชั่วโมง บางกรณีที่เด็กไม่ยอมนอน เป็นเพราะเมื่อตอนเล็กกว่านี้ได้นอนกับพ่อแม่ เมื่อโตขึ้นกับถูกใส่เปล ให้นอนคนเดียวเด็กจะรู้สึกขาดความอบอุ่นทำให้ไม่ยอมนอน ท่านต้องปลอบโยนเล่านิทานให้ฟังจนเด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัยก็จะหลับไปได้

เมื่อเด็กโตขึ้นอีกจนถึงอายุ 3 ขวบ


พบว่า "ความฝัน" มักเป็นตัวปัญหาในการนอนของเด็กในวัยนี้ พฤติกรรมปกติของเด็กจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่พ่อ-แม่ พบว่า เด็กจะนอนกลางวันเพียงครั้งเดียว และกลางคืนมักจะนอนยาว เว้นแต่จะปวดฉี่จึงจะตื่น

สุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ เด็กที่อายุ 3 ขวบขึ้นไป ท่านจะยิ่งสบายขึ้น ปัญหาด้านการนอนของเด็กจะน้อยลงไป เด็กส่วนใหญ่จะหลับตอนกลางคืน นอกจากจะปวดฉี่ หรือฝันร้าย หรือเดินละเมอ สำหรับเด็กที่อายุ 3-6 ขวบ ยังคงต้องการนอนกลางวันอยู่ และตอนกลางคืนต้องการเวลานอนวันละ 10 ชั่วโมง จึงจะเพียงพอเมื่อโตกว่า 10 ขวบแล้วใช้เวลานอนเพียงวันละ 8 ชั่วโมงต่อคืน

เทคนิคและขั้นตอนที่จะทำให้ลูกของท่านนอนหลับได้อย่างเป็นสุข เมื่อลูกไม่ได้ลุกขึ้นมาร้องกวนตอนกลางคืน

เริ่มตั้งแต่ทารกแรกเกิด ท่านมีวิธีง่ายๆ ที่จะสอนให้ลูกนอนได้แก่ การทำให้ลูกอิ่มแต่พอควร ไม่อิ่มเกินไปจนท้องอืดนอนไม่หลับ ต้องแน่ใจว่าลูกได้ผ่อนคลาย เช่น ใช้เสียงกล่อม โยกเปลกล่อม ให้ดูดจุกนมหลอก กอดลูกไว้ในอ้อมแขน ตบหัวลูกเบาๆ ร้องเพลงกล่อมลูก วางทารกไว้ที่สบายที่สุด เช่น เปล เตียงนอน เป็นต้น

สิ่งสำคัญและควรทำเป็นกิจวัตรก็คือ การสร้างกิจกรรมขึ้นมาสักอย่าง ให้เด็กเรียนรู้ไม่ว่า เมื่อเริ่มกิจกรรมนี้แล้วจะต้องจบลงด้วยการนอนหลับของลูก และหมั่นรักษากิจกรรมนี้ไว้ตราบเท่าที่ยังใช้ได้ผล โดยตัวของท่าน จะต้องตั้งใจทำกิจกรรมนี้ ไม่ใช่มัวแต่ห่วงงานอื่น ทำให้พะว้าพะวัง ทำๆ หยุดๆ จนไม่ได้ผล กิจกรรมนี้อาจเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วคือ การร้องเพลงกล่อม ไกวเปล ให้ดูดจุกนมหลอก ฯลฯ ทุกอย่างที่ทำ เพื่อให้ทารกรู้สึกง่วงเพราะ ถ้าไม่ง่วง ไม่อิ่ม ไม่ผ่อนคลายเด็กจะไม่ยอมนอน เด็กบางคนชอบให้อาบน้ำก่อนนอน การอาบน้ำจะช่วยหยุดนิสัย กรีดร้องตอนกลางคืนของเด็กได้ และช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้นแต่ถ้าเด็กกรีดร้องมาก ท่านอย่าเพิ่งอารมณ์เสีย ควรวางทารกในท่านอนคว่ำ สัก 10-15 นาที พร้อมๆ กับตัวท่านควรสงบสติอารมณ์ แล้วจึงปลอบโยนทารกใหม่ หากยังไม่ได้ผล ให้กอดลูกให้แน่นๆ เด็กอาจจะเลิกร้องและยอมนอน เว้นเสียแต่ เด็กจะไม่สบายจริงๆ

เมื่อลูกโตขึ้นมาอีก 2-3 เดือน เด็กจะมีความรู้สึกที่ไวขึ้น ต่อการสัมผัสและอุณหภูมิ ดังนั้นเมื่อคุณกล่อมจนลูกหลับแล้ว ไม่เป็นการแปลกเลยที่เมื่อคุณวางเด็กลงบนที่นอนแล้ว เด็กจะสะดุ้งตื่นขึ้นมาอีก นั้นเป็นเพราะการย้ายลูกจากอ้อมกอดที่อุ่นๆ ของท่านไปวางบนที่นอนที่เย็นกว่า จะปลุกให้ลูกตื่น วิธีแก้ไขก็คือให้ท่านตบก้นลูกเบาๆ ให้เกิดความรู้สึกที่เป็นจังหวะ และสัมผัสที่ต่อเนื่อง ถ้ายังไม่หลับให้ตบก้นเบาๆ แต่ถี่ขึ้นกว่าเดิม หรืออุ้มขึ้นมากล่อมใหม่ให้หลับแล้วจึงวางเด็กลงไปใหม่

การเปลี่ยนที่นอนของลูกบ่อยๆ เช่น เดี๋ยวก็วางในเปล เดี๋ยวก็วางในตระกร้า หรือบางทีก็ให้นอนบนที่นอนของท่าน จะทำให้ทารกหลับยาก ท่านควรเอาใจใส่ให้เด็กหลับให้เป็นที่เป็นทาง ให้เด็กเรียนรู้ที่จะนอนหลับที่นั่น เด็กจะเรียนรู้ที่จะนอนในที่ที่คุณต้องการ เป็นการฝึกนิสัยการนอนที่ถูกต้องให้กับเด็ก

เมื่อทารกตัวใหญ่ขึ้นก็ไม่เหมาะที่จะนอนในตระกร้าอีกต่อไป ควรให้ลูกนอนในเปลหรือนอนบนเตียง หากบางท่านจะแยกให้ลูก นอนห้องส่วนตัว ท่านสามารถทำได้ตั้งแต่ลูกท่านอายุ 4 เดือน แต่ต้องแน่ใจว่าห้องของลูกจะต้องอยู่ไม่ไกลเกินกว่าที่ท่าน จะฟังเสียงร้องเรียกของลูกได้
ใครควรเป็นผู้พาลูกเข้านอน ?


ทารกมักจะคุ้นเคยกับการให้คนพาเข้านอน คนที่คุ้นเคยส่วนใหญ่ จะเป็นพ่อและแม่ เด็กมักจะชินกับคนที่พาเข้านอนทุกๆ วัน และจะรู้ว่า จะหลับได้อย่างสบายใจ อบอุ่นและมั่นคง ถ้าเปลี่ยนคนพาเข้านอน ระยะแรกเด็กอาจจะไม่คุ้นเคย ทำให้นอนไม่หลับ งอแง แต่ถ้าเวลาผ่านไปเด็กจะยอมรับสถานการณ์นั้นได้ สิ่งสำคัญก็คือ ควรใช้วิธีการเดียวกันในการพาลูกเข้านอน ไม่ว่าผู้ที่พาเข้านอน จะเป็นพ่อ-แม่, พี่เลี้ยง, คุณปู่-คุณย่า, คุณตา-คุณยาย ควรทำให้เด็กคุ้นเคย กับวิธีการมากกว่าตัวบุคคล เด็กจะหลับได้เป็นเวลาและมีแบบแผน
ควรให้ลูกนอนที่ไหน ?


สถานที่นอนมักจะไม่เป็นปัญหา สำหรับเด็กที่นอนง่ายหลับง่าย แต่จะเป็นปัญหามากในเด็กที่หลับยาก กรณีหลังนี้ ท่านต้องเอาใจใส่การสอนให้ลูกหลับในที่ใดที่หนึ่งให้ได้ โดยให้ลูกเรียนรู้ที่หลับที่นั่นแล้วเมื่อถึงเวลานอน ลูกจะนอนหลับได้ ตามที่คุณต้องการ

ในวัย 1-2 เดือน ท่านอาจให้ลูกนอนในตระกร้าหรือบนที่นอน เล็กๆ เมื่อโตขึ้นหน่อยควรให้นอนในเปล เพราะทารกจะตื่นไวขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น การไกวเปลจะช่วยให้ลูกนอนหลับต่อได้
ทารกบางคนขี้ตกใจ การจับให้นอนคว่ำ จะช่วยให้หลับตื่นได้ดีขึ้น และยังช่วยขจัดปัญหาเรื่องท้องอืด เพราะท่านอนคว่ำช่วยให้ขับลมออกมาได้

ส่วนการแยกห้องนอนของลูกเป็นสัดส่วน ท่านสามารถทำได้โดยเริ่มตั้งแต่ลูกเริ่มอดนมตอนกลางคืน คือ เมื่อลูกหลับยาวตลอดคืนโดยไม่ลุกขึ้นมารับประทานนมอีก
อุณหภูมิภายในห้องนอนของลูก ควรเป็นอุณหภูมิปกติ ไม่เย็นหรืออุ่นเกินไป เพราะอากาศที่เย็นเกินไปหรืออุ่นเกินไป จะทำให้อากาศแห้งเกินไป จนทำให้ทารกไอ, เป็นหวัดได้ง่าย

ส่วนเรื่องรบกวนในเวลานอน ปรากฏว่า เด็กไม่ต้องการความเงียบ มากเกินไป การที่ครอบครัวส่งเสียงดังบ้าง เด็กอาจจะชิน และรู้สึกว่ามีคนอยู่ใกล้ๆ ในทางตรงกันข้ามเสียงที่อึกทึกมากเกินไป เด็กก็ไม่ชอบ การเปิดเพลงเบาๆ ให้เด็กฟังเวลานอน ช่วยให้เด็กเคลิ้มและหลับง่ายขึ้น
ถ้าลูกตื่นขึ้นมาร้องไห้ตอนกลางคืนท่านจะแก้ไขอย่างไรดี ?


ท่านมีทางเลือกอยู่ 3 ทาง ที่พอจะทำได้ คือ

ทางเลือกที่ 1 ปล่อยให้ลูกร้องต่อไปสักพัก

โดยปกติลูกจะตื่นขึ้นมาร้องไห้ภายหลังจากที่ได้นอนไปแล้ว 4 ชั่วโมง และจะร้องดังขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงไม่มาโอ๋เสียที เมื่อร้องจนเหนื่อยแล้วเด็กจะหลับไปเอง สิ่งที่ต้องทำใจให้ได้ก็คือ ต้องอดทนที่จะฟังเสียงกรีดร้องของลูกใน 2-3 วันแรก เมื่อลูกรู้ว่าวิธีกรีดร้องนี้ไม่ได้ผลแกก็จะไม่ร้องไห้อีกต่อไป วิธีนี้อาจจะดูแรงไปสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ดังนั้นขอแนะนำ ให้ใช้กับลูกอายุเกิน 1 ขวบไปแล้ว

ทางเลือกที่ 2 เข้าไปปลอบลูกตั้งแต่เริ่มร้อง

หลายๆ ท่านอาจทนฟังเสียงลูกกรีดร้องไม่ได้ จึงใช้วิธีการให้ความเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ เข้าไปหาลูก เมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ ตบก้นหรือพูดคุยปลอบโยนลูกเบาๆ หากจำเป็นก็อาจจะอุ้มขึ้นมากล่อมจนลูกเริ่มหลับแล้วจึงวางนอนใหม่ โดยพยายามเอาใจใส่ตามความจำเป็นเท่านั้น ไม่โอ๋จนเกินเหตุ แล้วเพิ่มช่วงห่างในการเข้าไปปลอบขึ้นเรื่อย ๆ วิธีนี้จะใช้ได้ผลมาก เมื่อทารกตื่นขึ้นตอนกลางคืนภายหลังจากที่หายป่วยใหม่ ๆ หรือฟันเริ่มขึ้น และวิธีนี้ใช้ได้กับเด็กทุกช่วงอายุ แต่ท่านจะต้องเหนื่อย และใช้ความอดทนมากกว่าวิธีแรก

ทางเลือกที่ 3 ปล่อยเลยตามเลย

วิธีนี้ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายก่อนจะปล่อยเลยตามเลย ท่านควรพาลูกไปตรวจสุขภาพก่อน ถ้ามีสิ่งผิดปกติ เกี่ยวกับร่างกายของลูกก็ควรแก้ไขเสีย เด็กอาจจะหยุดร้องไห้กลางคืนได้ หากยังร้องอยู่ท่านอาจใช้ทั้ง 2 ทางเลือกข้างต้นสลับทุกๆ 6-8 สัปดาห์ เมื่อท่านเข้มแข็งขึ้นลูกจะเชื่อฟังท่านมากขึ้น
ส่วนกรณีที่ลูกของท่านชอบตื่นมาตอนเช้าๆ (เช้ากว่าเวลาปกติที่คุณตื่น) ถ้าลูกโตพอที่จะเอานมใส่ปากได้เอง ท่านควรเตรียมนมไว้ให้เด็กดูดเองสัก 60 ซีซี เด็กจะหลับต่อได้จนเช้า แต่ถ้าเด็กไม่หิว ท่านอาจจะเข้าไปตบก้นเด็กเบาๆ จนลูกหลับไป หรือนำเด็กมานอนบนเตียงกับท่านกอดเขาไว้จนหลับไปก็ได้
อะไรบ้างเป็นสาเหตุให้ลูกนอนไม่หลับ ?


สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ลูกของท่านไม่ยอมนอน ได้แก่ ความกระวนกระวาย ความตื่นเต้น ความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บไข้ได้ป่วย และสาเหตุที่พบบ่อยๆ ก็คือ "ฝันร้าย" เริ่มตั้งแต่ลูกอายุได้ 2 ขวบ จิตนาการของเด็กที่เกิดขึ้นในช่วงกลางวัน อาจจะถูกนำไปใช้ ในเวลากลางคืนด้วย ถ้าเด็กร้องไห้หรือกรีดร้อง ทั้งที่ยังหลับอยู่ เมื่อท่านเข้าไปหาลูกแต่ลูกยังหลับอยู่แสดงว่าลูกกำลังฝันร้าย ท่านควรปลุกให้ลูกตื่นแล้วปลอบโยนแกเบาๆ แต่ถ้าลูกฝันร้ายทุกคืน ควรตรวจดูว่ามีเหตุผลอะไรที่ทำให้ฝันร้าย เช่น น้อยใจพ่อแม่ อิจฉาพี่น้อง ดูทีวีรายการที่ไม่เหมาะสม หรือกลัวความมืด ฯลฯ ถ้าแก้ไขสาเหตุได้ เด็กจะหยุดฝันร้าย

บางทีเหตุการณ์พิเศษในช่วงที่เด็กจดจำได้ ก็มีผลรบกวน การนอนของเด็ก เช่น พ่อและแม่ทะเลาะกันรุนแรง การเจ็บป่วย ขนาดที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ถูกฉีดยา หรือถูกทำให้เจ็บปวดก็ ทำให้ลูกนอนไม่หลับ

ท้ายที่สุดผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านมีกิจวัตรในการเข้านอน สร้างขึ้นมาให้เด็กเข้าใจความหมายว่า เมื่อเริ่มกิจวัตรนี้ก็จะได้เวลานอนแล้ว เช่น ในวัยแรกเกิด คือ การกอด การไกวเปล การวางลงนอน การดูดนม เมื่อถึงวัย 1 1/2- 2 1/2ขวบ อาจสอนให้ลูกบอกลาก่อนนอน หรือไปเข้าห้องน้ำแล้วจึงพาเข้านอน เมื่ออายุเกิน 2 1/2ขวบ อาจใช้วิธี เล่านิทานก่อนนอนซึ่งควรเป็นเรื่องสั้นๆ วันละเรื่องก็เพียงพอ เมื่อลูกโตขึ้น จนดูทีวีได้คุณอาจปล่อยให้ลูกหลับหน้าทีวี แล้วอุ้มเข้านอน หรือสอนให้ลูกสวดมนต์ก่อนเข้านอน เพื่อฝึกสมาธิไปในตัวก็เป็นการดี

อย่าลืม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ให้ความรักความเข้าใจแก่ลูก ให้เพียงพอ ทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายให้มากที่สุด ลูกจะได้ไม่มีปัญหา ในการนอนอีกเลย ลองทำดูซิคะ


ภ.ญ.ยุวดี หงส์รัตนาวรกิจ


ขอบคุณนิตยสารแม่และเด็ก ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

Growth Hormone มีผลต่อพัฒนาการเด็ก พ่อ แม่ ต้องใส่ใจ

ครั้งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ของเด็กชายนนท์พาลูกชายไปหาหมอ ในใจของพวกเขาคิดแต่เพียงว่าลูกชายมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ เนื่องจากเหนื่อยง่ายและตัวค่อนข้างเล็ก แต่เมื่อคุณหมอโรคหัวใจตรวจเด็กชายนนท์อย่างละเอียด ก็ต้องรีบส่งต่อให้คุณหมอแผนกต่อมไร้ท่อทันที เพราะผลการตรวจของแพทย์พบว่าน้องนนท์ซึ่งในบัตรประจำตัวระบุว่า 8 ขวบนั้น มีความสูงและขนาดของร่างกายเท่ากับเด็กอายุ 1 ปี!!! ด้านเด็กชายนทีมาพบแพทย์ในเวลาไล่เลี่ยกัน และในอายุที่เท่ากัน เด็กชายนทีกลับมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าทุกคนในห้องตรวจด้วยความสูงถึง 170 เซนติเมตร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขามีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ขณะที่เด็กวัยนี้ควรสูงประมาณแค่ 110 เซนติเมตรเท่านั้น ส่วนเด็กหญิงนันทานั้นตั้งแต่เล็กจนโตมีความสูงปกติมาตลอด เมื่อเข้าชั้น ป.1 นันทาเข้าแถวหน้าเสาธงอยู่ตรงกลางแถวแต่พอขึ้นชั้น ป.3 หนูน้อยกลับต้องมายืนตรงที่โหล่ปลายแถวเตี้ยสุดในชั้น ทั้งที่เพื่อนๆ หลายคนสูงล้ำหน้าไปหมดแล้ว จนพ่อแม่ต้องรีบพามาหาหมอ เพราะเหตุใดที่ทำให้เด็กทั้ง 3 เกิดภาวะเช่นนี้ โชคชะตา โรคร้าย หรือว่าพันธุกรรม สิ่งใดคือตัวกำหนดให้พวกเขามีการเติบโตถดถอยลงเรื่อยๆ ทั้งที่จุดเริ่มต้นแห่งการปฏิสนธิเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ
ชื่อที่ปรากฏอยู่ในบทความนี้เป็นชื่อสมมติทั้งหมด เติบใหญ่เป็นต้นกล้า หากเปรียบชีวิตคนกับต้นไม้ ทั้งสองสิ่งเหมือนกันตรงที่ว่าต้องการปุ๋ยมาช่วยเสริมการเจริญเติบโตให้เป็นไปโดยปกติตามมาตรฐานที่ทุกคนมีติดตัวมา โดยมีพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดให้คนๆ หนึ่งมีความสูง ความเตี้ย ความดำ ความขาว แตกต่างกันไป ขณะเดียวกันภายในสมองของคนเราก็ประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ เพื่อมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางสั่นร่างกายให้ขับเคลื่อนไป และมีต่อมใต้สมองทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพื่อใช้ในส่วนต่างๆ ในร่างกาย หนึ่งในนั้นเรียกว่า Growth Hormone มีบทบาทสำคัญในการสร้างการเจริญเติบโตให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถ้าฮอร์โมนตัวนี้ทำงานผิดปกติก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกอย่างมากมาย ขณะเดียวกันก็มีคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ฮอร์โมนตัวนี้สามารถเพิ่มความสูงให้กับลูกได้ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีก็จะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาลเช่นกัน

Parent Checklist
คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการสังเกตการเจริญเติบโตของลูกอย่างสม่ำเสมอเหราะหากลูกเจริญเติบโตช้าด้วยสาเหตุการขาดฮอร์โมนจะได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ถ้าลูกเจริญเติบโตช้ามาจากสาเหตุอื่นๆ ก็จะช่วยทำให้ดูแลลูกตามลักษณะอาการได้
…. ลูกตัวเล็กกว่ามาตรฐานมาโดยตลอด
…. ช่วงอายุ 4-9 ปี การเพิ่มของส่วนสูงน้อยมากกว่า 5 ซม./ปี
…. พล็อตกราฟความสูงแล้วความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ในช่วงอายุนั้นๆ
…. อัตราการเพิ่มส่วนสูงภายใน 4 ปีน้อยกว่าปีละ 5 ซม.
…. เมื่ออายุ 1 ปีครึ่งขึ้นไป ขนาดร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ และตอนคลอดมีภาวะคลอดยาก คลอดแล้วต้องให้ออกซอเจน
…. คลอดออกมาแล้วตัวเล็ก เช่น หนักน้อยกว่า 2.5 กก. ความยาวแรกเกิดต่ำกว่า 50 ซม.
…. 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเปลี่ยนไซส์รองเท้าเลย
-เกณฑ์นี้ใช่ตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยรุ่น-
หากลูกของคุณแม่มีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้น แสดงว่ามีการเจริญเติบโตผิดปกติ แต่จะเกิดฮอร์โมนผิดปกติหรือไม่ ก็ต้องให้แพทย์เป็นคนวินิจฉัยในขั้นตอนต่อไป

สูงหรือเตี้ย เหล่านี้คือปัจจัย…
 พันธุกรรม
เด็กกลุ่มนี้มีขนาดร่างกายปกติเมื่อแรกเกิดและเติบโตขึ้นอย่างปกติเหมือนเด็กทั่วๆ ไป แต่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าระดับปกติที่ยอมรับได้เพียงเล็กน้อย เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงตามที่ควรจะเป็นตามกรรมพันธุ์
 อาหาร
เริ่มตั้งแต่ระยะที่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ การรับประทานอาหารครบห้าหมู่
 การเจ็บป่วยเรื้อรัง
บางโรค เช่น หอบ หืด หรือโรคที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกเดือน ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียง และระหว่างการป่วยต้องใช้พลังงานค่อนข้างสูงอาจทำให้เด็กเติบโตได้ไม่ดี
 ฮอร์โมน
ความผิดปกติของฮอร์โมนหลายชนิดที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กตัวเตี้ย ได้แก่ ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
 เชื้อชาติ
คนเชื้อชาติตะวันตกจะมีความสูงมากกว่าทางตะวันออก
 ความเครียด
มีผลทำให้การหลั่งของฮอร์โมนการเจริญเติบโตผิดปกติไป

ใครกำหนด Growth Hormone
Growth Hormone เป็น 1 ในฮอร์โมนหลายตัวที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อที่หลั่งมาจากต่อมใต้สมอง ซึ่งจะผลิตได้ดีหากลูกมีอาการนอนหลับพักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และจะทำงานอย่างผิดปกติ หากต่อมใต้สมองได้รับการกระทบกระเทือน เช่น การเกิดเนื้อร้าย ซีสต์ไปกดทับต่อมใต้สมอง หรือเกิดในระหว่างการคลอดถ้าคลอดยากหรือคลอดในท่าก้นอาจทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน เหล่านี้ส่งผลเสียต่อการทำงานของต่อมใต้สมองและจะยิ่งร้ายกว่านั้น หากเกิดปัญหาร่วมกับฮอร์โมนตัวอื่นที่ทำงานผิดปกติอีกด้วย
เมื่อ Growth Hormone ของลูกทำงานผิดปกติ นอกจากอัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่าค่าปกติแล้ว ลูกยังอาจมีอาการ เสียงเล็กแหลม รูปร่างเตี้ยแต่จ้ำม่ำ ในเพศชายอาจพบว่ามีอวัยวะเพศเล็กกว่าเด็กทั่วๆ ไป บางรายที่ขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตชนิดรุนแรงจะพบว่ามีน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจเป็นเหตุให้เด็กชักจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อีกด้วย

คลินิกเพิ่มความสูงเปิดทำการ
เมื่อพบว่าลูกโตช้าผิดปกติกว่าเด็กอื่น คุณแม่ควรพาเด็กมาหาหมอโดยเร็ว การรักษาตั้งแต่เล็กจะยิ่งได้ผลดี โดยคุณหมอจะติดตามดูการเจริญเติบโตไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อตรวจดูให้แน่ใจและค้นหาปัญหาแฝง โดยมีการเทียบสัดส่วนจากตารางการเจริญเติบโตมาตรฐานหรือที่เรียกว่า Growth Charts และนำส่วนสูงและประวัติการเจริญเติบโตของพ่อแม่และพี่น้องในครอบครัวมาคำนวณด้วย
สำรวจอายุกระดูก หากลูกมีสีดส่วนความสูงที่ผิดปกติ คุณหมอจะตรวจดูว่ามีสาเหตุมาจากฮอร์โมนผิดปกติหรือไม่ ด้วยการกระตุ้นด้วยยาบางชนิด และตรวจเลือด ซึ่งต้องใช้การทดสอบอย่างละเอียดอย่างน้อย 2 ครั้ง ร่วมกับการมีเอกซเรย์กระดูกบริเวณข้อมือของลูกว่ากระดูกปิดแล้วหรือยัง เพราะหากคุณหมอพบว่ารอยต่อต่างๆ ยังมีเงาสีดำอยู่แสดงว่าอายุกระดูกยังไม่ปิด เด็กสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่ถ้ากระดูกเชื่อมต่อกันหมด ไม่มีเงาดำแสดงว่าอายุกระดูกปิดแล้ว ไม่ว่าวิธีใดก็ไม่สามารถช่วยได้ เข็มสู่เข็ม เทศกาลฉีดฮอร์โมน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วว่า ลูกเติบโตช้าเนื่องจากความบกพร่องของฮอร์โมนเจริญเติบโต แพทย์ก็จะฉีดฮอร์โมนเจริญเติบโตให้ลูก ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้มีวิธีการสังเคราะห์ที่ซับซ้อน และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การรักษาโดยใช้ Growth Hormone จึงมีราคาค่อนข้างสูง ค่าใช้จ่ายในการใช้ฮอร์โมนเจริญเติบโตค่อนข้างสูงราคาประมาณ 500 บาทต่อยูนิต แต่ละวันจะฉีด 1 หน่วย ต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กก. เช่น ถ้าเด็กหนัก 14-15 กก. ก็ต้องฉีด 1.4-1.5 ยูนิตทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ในเวลาตอนเย็นหรือก่อนนอน ตรงบริเวณใต้ผิวหนัง ใน 1 เดือนจึงต้องใช้ค่าใช้จ่ายหลายหมื่นบาท การประเมินผลการรักษา เด็กที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนแพทย์จะให้ Growth Hormone ติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าอายุกระดูกจะปิด หรือสามารถเติบโตไปในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เพราะถ้าหยุดฉีดก่อนเวลาที่เหมาะสม อาจทำให้ฮอร์โมนพร่องลงมาอีกได้ อย่างไรก็ดี พ่อแม่หลายคนคาดหวังว่า ลูกจะสูงเร็ว เท่ากับเด็กวัยเดียวกันที่มีความสูงตามเกณฑ์ปกตินั้น แต่ต้องทำความเข้าใจว่าการรักษาจะไม่ได้ผลขนาดนั้น เพียงช่วยให้เด็กมีความสูงใกล้เคียงกับเกณฑ์ปกติมากที่สุด ทั้งนี้ ปัจจัยการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาเร็ว-ช้าที่คุณแม่พาลูกมาพบแพทย์ด้วย

ฉุกคิด หากจะฉีด Growth Hormone เพิ่มความสูง
Growth Hormone เป็นความหวังของพ่อแม่ที่ลูกมีปัญหาเรื่องความสูง ว่าฉีกแล้วสามารถเพิ่มความสูงให้แก่เด็กได้ แต่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพราะถ้าเด็กไม่ได้ขาดฮอร์โมนตัวนี้ฉีดแล้วจะเป็นอันตรายยิ่งกว่า นอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้วยังสิ้นเปลือง และส่งผลในทางลบ คือ ไม่สูงแต่จะออกทางด้านกว้าง เช่น คางจะห่างออก มือ นิ้วจะอ้วนกว้าง น้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ในการใช้จึงจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

Concern Tips for Good Growthing
Parent Concern
Newborn
• ใส่ใจการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงของลูกตั้งแต่หลังคลอดจนกระทั่งเจริญเติบโตผ่านวัยเตาะแตะ วัยเรียน จนถึงวัยรุ่น
• พาลูกไปฉีดวัคซีนให้ครบเพื่อป้องกันโรคต่างๆ
• ระวังอย่าให้ลูกเจ็บป่วยเรื้อรัง และอย่าให้ลูกได้รับความกระทบกระเทือนบริเวณศรีษะอย่างแรง เช่น หกล้ม ศรีษะกระแทกพื้น เป็นต้น
baby - Kids
• ในช่วงที่ลูกกำลังเจริญเติบโตควรเลือกสรรอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ รวมทั้งเสริมอาหารบางตัว เช่น วิตามินและแคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงและมีผลต่อพัฒนาการเจริญเติบโตของลูกด้วย
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนหลับสนิทเป็นช่วงที่ Growth Hormone จะหลั่งได้ดี ขอย้ำว่าต้องหลับสนิทจริงๆ เท่านั้น และห้ามนอนดึกเด็ดขาด
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะร่างกายจะหลั่ง Growth Hormone ด้วยเช่นกัน
• อย่าละเลยสมุดบันทึกสุขภาพ ทุกครั้งที่พาลูกไปหาหมอให้บันทึกน้ำหนักตัวและส่วนสูงของลูกไว้ในสมุดบันทึกสุขภาพของลูก เพราะข้อมูลที่เราบันทึกไว้อย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์ต่อกุมารแพทย์ที่ดูแลปัญหาด้านการเจริญเติบโตของเด็กอย่างยิ่ง
Preteen
• ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีปัญหากังวลใจเกี่ยวกับความสูงของลูกต้องรีบพามาปรึกษากุมารแพทย์ก่อนที่ลูกจะเข้าสู่วัยรุ่น
• มีเด็กลุ่มหนึ่งที่เข้าสู่ภาวะกลุ่มเป็นหนุ่มเป็นสาวช้าหรือเรียกว่าม้าตีนปลาย จะมีอายุกระดูกน้อยกว่าอายุจริงมากกว่า 1 ปี มักมีประวัติว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นสาวช้า เช่น มีประจำเดือนช้า เสียงแตกช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน กลุ่มนี้ไม่ต้องตรวจฮอร์โมน

Pregnancy Concern
• แม่ท้องควรงดเว้นการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกตัวเล็ก สมองก็จะเล็กจำนวนเซลล์ในสมองก็เล็กตามไปอีกด้วย
• ระมัดระวังการกินยาบางชนิด เช่น ยากันชัก
• แม่ควรไปรับวัคซีนป้องกันให้มีภูมิต้านทานโรคต่างๆ ก่อนตั้งครรภ์ให้ครบถ้วน เช่น หัดเยอรมัน
• ดูแลร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ ปลอดภัยจากโรคต่างๆ เช่น เชื้อซิฟิลิส รกเกาะต่ำ โรคเบาหวาน คลอดก่อนกำหนด ที่อาจทำให้ลูกน้ำหนักน้อย ตัวสั้น เล็กไปหมด
• หากรูปร่างของทั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยสูงนัก แต่อยากให้ลูกมีความสูงอย่างน้อยก็อยู่ในเกณฑ์ที่เรายอมรับได้ก็ควรบำรุงสุขภาพของคุณแม่ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1-2 ปี แต่ไม่ใช่บำรุงจนอ้วนนะคะ

[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Vol.12 No.137 March 2007]

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สธ.โชว์สรรพคุณ “หมามุ่ย” บำรุงสมอง-เพิ่มสเปิร์มในงานมหกรรมสมุนไพรไทย


กรุงเทพฯ 22 ส.ค.- สธ.จัดงานมหกรรมสมุนไพรไทย ระหว่าง 31 ส.ค.-4 ก.ย.นี้ ภายใต้แนวคิด “ยาไทย เด็กใช้ได้ ผู้ใหญ่ใช้ดี” หนุนการใช้ยาสมุนไพรในประเทศ สมุนไพรเด่นในงาน เน้นการเพิ่มกำลัง บำรุง เช่น หมามุ่ย ประยุกต์เป็นชา กาแฟ ใช้ดื่มรับประทาน บำรุงสมอง เพิ่มความจำ เพิ่มสเปิร์มในเพศชาย

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “ยาไทย เด็กใช้ได้ ผู้ใหญ่ใช้ดี ”ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 4 กันยายน 2554 ที่ อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาไทย นำไปต่อยอดพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งยา เครื่องสำอาง เกิดการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรไทยในประเทศ และยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีกปี 4 หรือปี 2558 เพื่อส่งเสริมให้สมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับ และเป็นผู้นำด้านแพทย์ดั้งเดิมของอาเซียน

สำหรับปี 2554 นี้ได้มีการส่งเสริมให้มีการบรรจุยาสมุนไพรเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 71 รายการ จากเดิม 19 รายการซึ่งในการจัดการครั้งนี้จะมีการแบ่งโซนกิจกรรมที่น่าสนใจ 6 โซน ประกอบด้วย 1.ยาไทยสู้โรค 2.8 ทศวรรษยาไทยคู่คนไทย เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา .. ในหลวงของเรา 3.อัศจรรย์ 10 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมดีเด่นบนวิถีสมุนไพรไทย 4.สมุนไพรไทย ขจรไกลทั่วโลก 5. ผลงานของศูนย์พัฒนายาไทยและสมุนไพรไทย และ 6.ผลงานนวัตกรรมสมุนไพรจาก 6 สถาบันชั้นนำ ซึ่งสมุนไพรไทยที่นำมาจัดแสดงจะเน้นเรื่องของการชูกำลัง ทั้งกาแฟหมามุ่ย เพิ่มพลัง สมรรถภาพทางเพศ เพิ่มสเปิร์ม บำรุงสมองเพิ่มความจำ

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ในอดีตความรู้จากประเทศอินเดีย พบว่าหมามุ่ยมีสรรพคุณในการช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย เพิ่มจำนวนของสเปิร์มเพิ่มมากขึ้น และทำให้ยืดเวลาร่วมรักในนานขึ้น และยังช่วยในเรื่องของการเพิ่มความจำ รักษาโรคพาร์กินสัน อัมพาต โดยการใช้จะเป็นการนำส่วนของเม็ดหมามุ่ยมาคั่วให้สุก จากนั้นบดให้ละเอียด ชงรับประทานร่วมกับชาหรือกาแฟได้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยนิยมนำเม็ดหมามุ่ยมานึ่งรับประทานกับข้าวเหนียว ทั้งนี้ การรับประทานเม็ดหมามุ่ยนิยมรับประทานที่คั่วสุก เพราะมิเช่นนั้นอาจได้รับอันตรายได้

นอกจากนี้ ในงานมหกรรมสมุนไพรยังมีพืชสมุนไพรไทยอีกหลายชนิดที่นิยมนำมาพัฒนาดัดแปลง สร้างมูลค่าและประโยชน์ เช่น คุกกี้ใบบัวบก น้ำสมุนไพรแม่ก่ำ หรือไดฟูกุเท้ายายเม่า มีสรรพคุณเย็นช่วยลดไข้ และยังเป็นขนมน่ารับประทาน อีกทั้งยังมีนวัตกรรมสมุนไพรไทยที่มาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ครีม เคอร์มิน ยกกระชับอกขององค์การเภสัชกรรม (อภ.).- สำนักข่าวไทย

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

30 วิธีแสนง่ายในการเลี้ยงลูกให้ฉลาด

30 วิธีแสนง่ายในการเลี้ยงลูกให้ฉลาด

30 วิธีง่ายๆ ต่อไปนี้อาจช่วยขยายไอเดียของคุณ ๆ ได้ หากลูกคุณยังไม่ได้ดั่งใจ แต่อย่างใดก็ตามเด็กก็คือเด็ก เป็นผ้าขาวของสังคม เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเขา ก่อนที่จะไปเปลี่ยนแปลงให้เขาเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เป็น วิธีต่างๆ เหล่านี้ผ่านการวิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง และสรุปผลมาแล้วจากนักวิชาการว่าใช้ได้ผลดีมาแล้วทั่วโลก
1.ตามองตา
เมื่อลูกลืมตาตื่นขึ้น ให้เรามองหน้าสบสายตาหนูน้อยสักครู่ หนูน้อยแรกเกิดจดจำใบหน้าของคนได้เป็นสิ่งแรกเสมอ และใบหน้าของพ่อแม่คือใบหน้าแรกที่ลูกอยากจะจดจำ ซึ่งแต่ละครั้งที่หนูน้อยจ้องมองใบหน้าของเรา สมองก็จะบันทึกความทรงจำไว้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
2.พูดต่อสิลูก
เวลาพูดกับลูก เว้นช่องว่างในช่วงคำง่าย ๆ ที่ลูกจะสามารถพูดต่อได้ เช่น พยางค์สุดท้ายของคำ หรือคำสุดท้ายของประโยค ในช่วงแรก ๆ ลูกอาจจะเงียบและทำหน้างง แต่ในที่สุดถ้าทำอย่างนี้บ่อย ๆ ในประโยคซ้ำ ๆ ลูกจะค่อย ๆ จับจังหวะ จับคำพูดบางคำได้ และเริ่มพูดต่อในช่วงว่างที่พ่อแม่หยุดไว้ให้
3.ฉลาดเพราะนมแม่
ให้นมแม่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผลการศึกษาในเด็กวัยเรียนพบว่า เด็กที่กินนมแม่ตอนที่เป็นทารกมักจะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ นอกจากนี้การให้นมลูกยังเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อย
4. ทำตลกใส่ลูก
แม้กระทั่งเด็กน้อยอายุเพียงแค่ 2 วัน ก็มีความสามารถเลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้าอย่างง่าย ๆ ของพ่อแม่ได้ ไม่เชื่อลองแลบลิ้นหรือทำหน้าตาตลก ๆ ใส่ ลูกคุณจะทำตามแน่ ๆ
5.กระจกเงาวิเศษ
ทารกน้อยเกือบทุกคนชอบส่องกระจก เขาจะสนุกที่ได้เห็นเงาของตัวเองในกระจกโบกมือหรือยิ้มแย้มหัวเราะตอบออกมาทุกครั้ง
6.จั๊กจี้ จั๊กจี้
การหัวเราะเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านอารมณ์ขัน การเล่นปูไต่ทำให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการคาดเดาเหตุการณ์ด้วยว่า ถ้าพ่อแม่เล่นอย่างนี้แสดงว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ปูจะไต่จากไหนไปถึงไหนเป็นต้น
7.สองภาพที่แตกต่าง
ถือรูปภาพ 2 รูป ที่คล้ายกันให้ลูกมอง โดยวางให้ห่างจากใบหน้าของลูกประมาณ 8-12 นิ้ว เช่น ภาพรูปบ้านที่เหมือนกันทั้งสองรูป แต่อีกรูปหนึ่งมีต้นไม้ต้นใหญ่อยู่ข้างบ้าน แม้ยังเป็นเด็กทารกแต่เขาสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างนี้ได้ เป็นการสร้างความจำที่จะเป็นพื้นฐานในการจดจำตัวอักษรและการอ่านสำหรับลูกต่อไป
8.ชมวิวด้วยกัน
พาลูกออกไปเดินเล่นนอกบ้าน และบรรยายสิ่งที่เห็นให้ลูกฟัง เช่น โอ้โหต้นไม้ต้นนี้มีนกเกาะอยู่เต็มเลย ดูสิลูกบนนั้นมีนกด้วย การบรรยายสิ่งแวดล้อมให้ลูกฟังสร้างโอกาสการเรียนรู้คำศัพท์ให้กับลูก
9.เสียงประหลาด
ทำเสียงเป็นสัตว์ประหลาด คุ๊กคู ๆ หรือทำเสียงสูง ๆ เลียนแบบเสียงเวลาที่เด็ก ๆ พูด ทารกน้อยจะพยายามปรับการรับฟังเสียงให้เข้ากับเสียงต่าง ๆ จากพ่อแม่
10.ร้องเพลงแสนหรรษา
สร้างเสียงและจังหวะส่วนตัวระหว่างเราและลูกน้อยขึ้นมา เช่น เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก ก็ร้องเพลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก อาจจะเป็นกลอนสั้น ๆ แล้วใส่เสียงสูงต่ำแบบการร้องเพลงเข้าไป หรืออีกทางคือเปิดเพลงชนิดต่าง ๆ ให้ลูกฟังบ้าง เช่น บางวันอาจจะเป็นลูกทุ่ง บางวันเป็นเพลงบรรเลง หรือเพลงป๊อปยอดฮิตทั่วไป มีนักวิจัยค้นพบว่า จังหวะดนตรีเกี่ยวพันกับการเรียนรู้คณิศาสตร์ของลูก
11.มีค่ามากกว่าแค่อาบน้ำ
เวลาในการอาบน้ำสอวนให้ลูกรู้จักส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการอาบน้ำ การบรรยายให้ลูกฟังไปด้วยว่ากำลังทำอะไรและจะทำอะไรต่อไปเท่ากับเป็นการสอนคำศัพท์ และช่วยให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันไปในตัว
12.อุทิศตัวเป็นของเล่น
ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องเล่นราคาแพงไว้ให้ลูกบริหารร่างกาย เพียงแค่คุณพ่อหรือคุณแม่นอนราบลงไปบนพื้น และปล่อยให้หนูพยายามคลานข้ามตัวไป แค่นี้ร่างกายของคุณพ่อคุณแม่ก็จะกลายเป็นสนามเด็กเล่นที่ราคาถูกที่สุด และสนุกที่สุดสำหรับหนูน้อยได้พัฒนากล้ามเนื้อให้ทำงานสัมพันธ์ และเรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหาไปพร้อมกัน
13.พาลูกไปช็อปปิ้ง
นาน ๆ ครั้งพาลูกน้อยไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาเก็ตด้วยก็ไม่เสียหาย ใบหน้าผู้คนอันหลากหลาย รวมถึงแสง สี เสียง ในห้างสรรพสินค้า คือ สิ่งบันเทิงใจสำหรับหนูน้อยเชียวล่ะ
14.ให้ลูกมีส่วนร่วม
พยายามให้ลูกได้มีส่วนร่วมในกิจวัตรต่าง ๆ เช่น ถ้ากำลังจะปิดไฟก็อาจจะบอกลูกว่า แม่กำลังจะปิดแล้วนะ เสร็จแล้วจึงกดปิดสวิชต์ไฟ นี่จะเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุและผล ลูกน้อยจะเรียนรู้ว่าเมื่อคุณแม่กดสวิชต์ หลอดไฟจะปิดเป็นต้น
15.เสียงและสัมผัสจากลมหายใจ
ช่วยให้ลูกน้อยกระปรี้กระเปร่าขึ้นด้วยการเป่าลมเบา ๆ ไปตาม ใบหน้า มือ แขน หรือท้องของลูก หาจังหวะในการเป่าของตัวเอง เช่น เป่าเร็ว ๆ สลับกับช้า หรือเป่าแล้วตามด้วยเสียงต่าง ๆ ตามแต่จินตนาการของคุณพ่อคุณแม่ แล้วรอดูปฏิกริยาตอบสนองจากลูก
16.ทิชชู่หรรษา
ถ้าลูกชอบดึงกระดาษทิชชู่ออกจากม้วน ปล่อยเขาค่ะ อย่าห้าม แต่อาจใช้กระดาษทิชชู่ม้วนที่เราใช้ไปพอสมควรแล้ว จนเหลือกระดาษอยู่เพียงเล็กน้อย เพราะการที่เด็กน้อยได้ขยำหรือขยี้กระดาษให้ยับย่น หรือพับให้เรียบนั้นเป็นการฝึกประสาทสัมผัสและการใช้มือของลูกเป็นอย่างดี
17.อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
การอ่านหนังสือช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องภาษาได้จริง ๆ มีผลการวิจัยออกมาว่า แม้กระทั่งเด็กอายุ 8 เดือน สามารถเรียนรู้จดจำการเรียงลำดับคำในประโยคที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังซ้ำ 2-3 ครั้งได้ ดังนั้น ควรจัดเวลาในแต่ละวันอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ
18.เล่นซ่อนหาจ๊ะเอ๋
การเล่นจ๊ะเอ๋นี้นอกจากจะทำให้ลูกหัวเราะแล้ว ยังช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่าเมื่อสิ่งของหายไปแล้วสามารถกลับคืนมาได้อีก
19.สัมผัสที่แตกต่าง
หาสิ่งของที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน เช่น ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ไม้ หรือผ้าฝ้าย ค่อย ๆ นำพื้นผิวแต่ละอย่างไปสัมผัสแก้ม เท้า หรือท้องลูกเบา ๆ ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่ก็บรรยายให้ลูกฟังไปด้วยว่าความรู้สึกเมื่อถูกสัมผัสเป็นอย่างไร เช่น นี่จั๊กจี้นะลูก ส่วนอันนี้นุ๊ม นุ่ม ใช่ไหม เป็นต้น
20.ให้ลูกผ่อนคลายและอยู่กับตัวเองบ้าง
ให้เวลาประมาณ 5-10 นาที ในแต่ละวัน นั่งเงียบ ๆ สบาย ๆ กับลูกน้อยบนพื้นบ้าน ไม่ต้องเปิดเพลง เปิดไฟ หรือเล่นอะไรกัน ปล่อยให้ลูกได้สำรวจสิ่งต่าง ๆ ตามใจชอบ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องไปยุ่งกับลูกเลยและรอดูว่าใช้เวลาสักเท่าไรหนูน้อยจึงจะคลานมาขอเล่นกับคุณพ่อคุณแม่อีกครั้ง นี่เป็นการฝึกความเป็นตัวของตัวเองให้ลูกขั้นแรก
21.ทำอัลบั้มรูปครอบครัว
นำรูปภาพของญาติ ๆ มาใส่ไว้ในอัลบั้มเดียวกัน และนำออกมาให้ลูกดูบ่อย ๆ เพื่อให้จดจำชื่อญาติแต่ละคน แล้วเวลาที่คุณปู่ หรือคุณย่าโทรศัพท์มา ก็นำรูปท่านออกมาให้ลูกดูพร้อมกับที่ให้ลูกฟังเสียงของท่านจากโทรศัพท์ไปด้วย
22.มื้ออาหารแสนสนุก
เมื่อถึงเวลาที่ลูกสามารถกินอาหารเสริมที่หลากหลายมากขึ้นได้แล้ว อย่าลืมจัดอาหารของลูกให้มีชนิด ขนาดและพื้นผิวที่หลากหลาย เช่น มีทั้งผลไม้ชิ้นเล็ก เส้นพาสต้า มักกะโรนี หรือซีเรียล ปล่อยให้ลูกน้อยใช้มือจับอาหารถ้าลูกอยากทำ เป็นการฝึกใช้นิ้ว และฝึกใช้ประสาทสัมผัสเมื่อได้สัมผัสกับอาหารที่มีลักษณะแตกต่างกัน
23.เด็กชอบทิ้งของ
บางครั้งดูเหมือนเด็กชอบทิ้งของลงพื้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า พฤติกรรมนี้เกิดจากเด็กทดสอบเรื่องแรงโน้มถ่วงว่าจะตกลงสู่พื้นทุกครั้งหรือไม่
24.กล่องมายากล
หากล่องหรือตลับที่เหมือนกันมาสักสามอัน แล้วซ่อนของเล่นชิ้นโปรดของลูกไว้ในกล่องใบหนึ่ง สลับกล่องจนลูกจำไม่ได้ แล้วให้ลูกค้นหาของเล่นชิ้นนั้นจนเจอ นี่เป็นเกมฝึกสมองอย่างง่ายสำหรับเด็ก
25.สร้างอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ
กระตุ้นทักษะการทำงานของกล้ามเนื้อให้ลูก โดยนำเบาะ โซฟา หมอน กล่อง หรือของเล่นวางขวางไว้บนพื้น แล้วพ่อแม่ก็แสดงวิธีคลานข้าม ลอด หรือคลานรอบ ๆ สิ่งกีดขวางเหล่านี้ได้อย่างไร
26.เลียนแบบลูกบ้าง
เด็กชอบให้พ่อแม่ทำอะไรตามเขาในบางครั้ง เช่น เลียนแบบท่าหาวของลูก แกล้งดูดขวดนมของลูก ทำเสียงเลียนแบบเวลาที่ลูกส่งเสียงอ้อแอ้ หรือคลานในแบบที่ลูกคลาน การทำอย่างนี้กระตุ้นให้ลูกแสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ ออกมา เพราะอยากเห็นปฏิกิริยาตอบสนองของพ่อแม่ นี่คือก้าวแรกของลูกสู่การมีความคิดสร้างสรรค์
27.จับใบหน้าที่แปลกไป
ลองทำหน้าตาแปลก ๆ เช่น ขมวดคิ้ว แยกเขี้ยว แลบลิ้นให้ลูกดู เวลาลูกเห็นพ่อแม่ทำหน้าตาตลก หนูน้อยจะอยากลองจับ ปล่อยให้ลูกได้ลองจับต้องใบหน้าของพ่อแม่ แล้วสร้างเงื่อนไขบางอย่างขึ้นมา เช่น ถ้าลูกจับจมูกจะทำเสียงแบบนี้ ถ้าจับแก้มจะทำเสียงอีกแบบหนึ่ง ทำแบบนี้ 3-4 รอบ แล้วจึงเปลี่ยนเงื่อนไขไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกแปลกใจ
28.วางแผนคลานตามกัน
ลองคลานเล่นไปกับลูกให้ทั่วบ้าน คลานช้าบ้าง เร็วบ้างและหยุดหรือพ่อแม่อาจจะวางของเล่นที่น่าสนใจ หรือจัดบ้านในบางมุมให้แปลกไปก่อนที่จะมาคลานเล่นกับลูกเพื่อไปสำรวจตามจุดต่าง ๆ ที่จัดไว้ตามแผน
29.เส้นทางแห่งความรู้สึก
อุ้มลูกน้อยเดินไปทั่วบ้านในวันฝนตก จับมือลูกไปสัมผัสหน้าต่างที่เย็นชื้น หยดน้ำที่เกาะบนใบไม้ ต้นไม้ หรือสิ่งของอื่น ๆ ในบ้านที่จับต้องได้อย่างปลอดภัย เป็นการเปิดประสาทสัมผัสของลูกสู่ความรู้สึกต่าง ๆ เมื่อได้แตะต้องสิ่งของเย็น เปียก หรือความลื่น
30.เล่าเรื่องของลูก
เลือกนิทานเรื่องโปรดของลูก แต่แทนที่จะเล่าอย่างที่เคยเล่า ลองใส่ชื่อของลูกลงไปแทนที่ชื่อตัวละครตัวสำคัญของเรื่อง เพื่อให้หนูน้อยรู้สึกแปลกใจและสนุกสนานไปกับชื่อของตัวเองในนิทาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสาร at office issue 55 August 2008 p.30-34
โดย เป๊กกี้

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

น้ำหนัก ส่วนสูง และพัฒนาการของทารกอายุ 9-12 เดือน

เด็กวัยนี้เริ่มหัดเดิน หัดก้าว แต่ยังไม่มั่นคง เด็กเคลื่อนไหวมากขึ้น และสำรวจภายในบ้านมากขึ้น บางคนอาจมีน้องใหม่ ซึ่งจะต้องเตรียมตัวให้เด็กรู้จักเรื่องการมีน้อง เมื่อน้องเกิดจะได้ไม่มีปัญหาด้านอารมณ์

น้ำหนักและความยาวโดยประมาณ

อายุ 9 เดือน น้ำหนัก 8 กิโลกรัม ความยาวตัว 72 เซนติเมตร
อายุ 10 เดือน น้ำหนัก 8.5 กิโลกรัม ความยาวตัว 73 เซนติเมตร
อายุ 11 เดือน น้ำหนัก 8.8 กิโลกรัม ความยาวตัว 74 เซนติเมตร
อายุ 12 เดือน น้ำหนัก 9 กิโลกรัม ความยาวตัว 75 เซนติเมตร

พัฒนาการ
การทรงตัวและเคลื่อนไหว
เด็กสามารถนั่งได้มั่นคง คลาน เกาะยืน หัดตั้งไข่ ยืนเองได้-ชั่วครู่ เมื่ออายุ 12 เดือน จูงมือเดินได้ บางคนเดินได้เองอย่างมั่นคง

การใช้ตาและมือ
เด็กใช้นิ้วหยิบของได้ เริ่มหยิบของเล็กโดยใช้ นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ได้ มองตามของที่ตกจากมือ เปิดหาของที่ซ้อนไว้ได้

การสื่อความหมายและภาษา
เด็กฟังรู้ภาษาและเข้าใจสีหน้าท่าทางได้ ให้ของเวลาพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงขอ เปล่งเสียงเลียนแบบพยัญชนะ แต่ไม่มีความหมาย

อารมณ์และสังคม
วัยนี้จะเล่นจ๊ะเอ๋ได้ ตามไปเก็บของที่ตก รู้จักแปลกหน้า และร้องตามแม่ เมื่อแม่จะออกไปจากห้อง ใช้มือหยิบอาหารกินได้

*การเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการของเด็กแต่ละคนอาจเร็ว ช้าแตกต่างกันได้บ้าง หากสงสัยควรถามแพทย์

พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ในเรื่องต่อไปนี้
- ให้อาหารเพิ่มเป็น 3 มื้อ และบดอาหารให้หยาบขึ้นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่อ่อนนุ่ม เพื่อให้เด็กหัดเคี้ยว
- เริ่มให้เด็กถือช้อนเล็กที่ปลายมน หัดตักของข้น ๆ บ้างและให้หัดดื่มจากถ้วย
- ให้หยิบจับเล่นสิ่งของในบ้านที่ไม่มีอันตราย
- พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูควรเล่นกับเด็กบ่อย ๆ พูดคุยด้วย และทำท่าทางเล่นกับเด็ก เช่น จ๊ะเอ๋ จับปูดำ แมงมุม จ้ำจี้ ตบมือ
- ให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมครอบครัว เช่น มีเก้าอี้นั่งร่วมโต๊ะอาหารและให้โอกาสเด็กเล่นเองบ้าง แต่ต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา
- ระวังอุบัติเหตุในบ้าน เช่น พลัดตกจากบันได ปลั๊กไฟ การสำลักเม็ดผลไม้ ถั่ว และเม็ดยา
- พ่อแม่ควรสอนเด็กให้รู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ โดยบอกหรือทำท่าทางให้เด็กรู้ เช่น เมื่อเด็กทำสิ่งที่ไม่สมควรควรจับตัวไว้ มองหน้าและห้าม แต่เมื่อเด็กทำสิ่งที่ดีควรจะยิ้มกล่าวชมหรือกอดตบมือ
- ควรเว้นช่วงการมีลูกคนต่อไปประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้แม่มีสุขภาพดีและลูกแต่ละคนได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างเต็มที่
- บันทึกน้ำหนักความยาว และพัฒนาการของเด็กลงในสมุดสุขภาพ และนำติดตัวไป เมื่อพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพทุกครั้ง

กิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกให้ลูกวัยนี้
- หัดเคี้ยวอาหารที่หยาบขึ้น
- หัดดื่มน้ำ ดื่มน้ำผลไม้จากถ้วย
- หัดระเบียบ วินัย
- หัดให้เล่นกับพี่ ๆ

อ้างอิง...http://www.geocities.com/tooktaktai/w9.htm

พัฒนาการปกติ เดือนที่ 9 “เตรียมความพร้อม”

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ลูกได้สะสมทักษะ เตรียมความพร้อมในการใช้มือ การใช้สายตา และการเข้าสังคม และตื่นเต้นกับสิ่งที่ดูเหมือนง่ายๆ สำหรับผู้ใหญ่ แต่เป็นก้าวที่สำคัญ สำหรับการพัฒนาการของเขาต่อไป ในเดือนนี้เขาจะใช้เวลา ในการฝึกฝนขั้นตอนการพัฒนาการต่างๆเหล่านี้ ให้ดียิ่งขึ้น และยังกระหายที่จะเรียนรู้ สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา


ลูกจะลุกขึ้นมานั่งเองได้ จากท่านอนบนพื้น และจะสามารถช่วยตนเองให้ขึ้นมา อยู่ในท่ายืนได้ (เกาะยืน) โดยอาจจะต้องอาศัยโซฟา เป็นที่เกาะ และเด็กบางคนจะเริ่ม”ตั้งไข่” ทำท่าเหมือนจะเดินได้ หนึ่งหรือสองก้าว แต่ก็ยังไม่กล้าเดินต่อ หรืออาจจะลงนั่งอีก ลูกจะคลานได้เก่ง และจะมีโอกาส เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น จะชอบขึ้นกระได แต่อาจจะพลัดตก หงายลงมาได้ หรือปีนป่ายโต๊ะ ดึงลิ้นชัก, ผ้าปูโต๊ะ จนหลุดออกมา หล่นใส่ตัวหรือเท้าได้ จึงควรล็อกลิ้นชัก และไม่ใช้ผ้าปูโต๊ะ ในบริเวณที่เด็กอยู่ประจำ แม้แต่ต้นไม้ที่ปลูกในกระถางในบ้าน ก็อาจถูกลูกเข้าไปรื้อ และโน้มให้หล่นทับตัวลูกได้


ลูกจะสามารถใช้มือได้ ตามขนาดของสิ่งของ ที่เขากำลังจับเล่นอยู่ และเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ของของต่างๆ เช่น จะสามารถเอาของชิ้นเล็ก ไปใส่ในของชิ้นใหญ่ (เล่นตระกร้าเก็บของ, เอาของชิ้นเล็กใส่ถ้วย ฯลฯ *** ต้องระวังถ้าของชิ้นเล็กมาก ลูกจะเอาใส่ปาก และเกิดอันตรายจากการสำลักได้) และจะสามารถ ต่อบล็อกชิ้นใหญ่ วางซ้อนกันได้ 2 ชั้น หรือเอาฝามาปิดปากถ้วยได้


ลูกสามารถเข้าใจดีขึ้น ถึงคอนเซปต์ของคน และสิ่งของว่า จะยังคงอยู่ แม้ว่าเขาจะมองไม่เห็น จากการเล่นเกมเมื่อเดือนก่อนๆ ที่ช่วยทำให้เขาเรียนรู้ว่า เมื่อคุณออกไปจากห้อง แม้ว่าเขาจะไม่เห็นคุณ แต่ก็รู้ว่าอีกสักครู่ คุณก็จะกลับมาอยู่กับเขาแน่


คุณพ่อคุณแม่หลายคน จะพยายามซื้อของเล่นที่พิเศษๆ ให้ลูก และพยายามสอนให้ลูก ได้เล่นอย่างถูกต้อง ตามชนิดของๆ เล่น แต่การพยายามด้วยความหวังดีของคุณนี้ อาจจะไปขัดขวาง การเรียนรู้ของเด็กในการหัดสังเกต และการฝึกฝนในการใช้มือ และสายตา ทางที่ดีแล้วควรให้โอกาสลูก ได้ลองเล่นอยากที่เขาอยากจะเล่นเอง แล้วเขาจะค่อยๆ เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ได้เองทีหลัง โดยคุณไม่ต้องกังวล คอยแก้ให้เขาเล่น ให้ถูกต้องอย่างผู้ใหญ่ และแม้ว่า ลูกดูเหมือนจะเล่นเอง หรืออยู่คนเดียวได้ แต่เขาก็ยังจะมองหา หรือต้องการให้แน่ใจว่า มีคุณอยู่ใกล้ๆในห้อง


อีกขั้นของการพัฒนาการ ที่คุณจะเริ่มฝึกให้ลูก ในอายุนี้ คือ การเลิกนมแม่ หรือนมขวด และเริ่มให้ดื่มจากถ้วยแทน แม้ว่าเขาจะยังไม่ยอมดื่มเองจากถ้วย โดยการเริ่มใช้ ”ถ้วยฝึกดื่ม” เลือกช่วงเวลาที่เขาไม่ค่อยสนใจดูดนมจากขวด เปลี่ยนมาให้เป็น “ถ้วยฝึกดื่ม” แทน โดยในช่วงแรกให้ฝึกดื่มน้ำก่อน และเปลี่ยนเป็นนม ในภายหลัง และอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน ก่อนที่ลูกจะยอมรับการดื่มจากถ้วย


การพูดของลูกในตอนนี้ จะยังไม่เป็นคำ ที่ฟังมีความหมายนัก แต่เขาก็จะเริ่มมีการออกเสียงที่พอฟังได้ ถ้าเราจะเข้าใจเขา เช่น การเรียก “มะมะ” อาจหมายถึง “หม่ำ” อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาถึงจะสามารถออกเสียง เรียกคำที่มีความหมายที่ถูกต้องได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ลูกจะเข้าใจ”ความหมาย” ในสิ่งที่คุณพูดกับเขา ได้มากขึ้น พยายามพูดกับลูกบ่อยๆ และเรียกคำศัพท์เฉพาะ สำหรับสิ่งของ และกริยาต่างๆ ที่คุณใช้อยู่เป็นประจำ เช่น “พ่อ” “แม่” “ตา” ยาย” “ส่งจูบ” “บ้าย บาย” ซึ่งลูกจะเข้าใจ และสามารถทำตามที่คุณบอกได้

บางครั้งที่เขาเริ่มซน และถูกคุณดุ จะทำให้เขาตกใจ หรือบางทีแสดงท่าเสียใจ ซึ่งคุณควรระวัง อย่าให้มีการห้าม หรือต้องดุกัน บ่อยๆ เพราะจะทำให้เขาเกิดความกลัว ไม่กล้าที่จะลอง หรือทำอะไรนัก แต่เช่นกัน คุณก็ควรระวังเรื่องอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นจากความไร้เดียงสาของเขา ในการลองทำสิ่งต่างๆ ดังนั้นการดูแลใกล้ชิด และคอยช่วยเหลือเขาบ้าง ในยามที่เขาต้องการ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาส ให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง จะเหมาะสมที่สุด


--------------------------------------------------------------------------------

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ clinicdek.com
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์

พัฒนาการเด็กอายุ 8-12 เดือน

พัฒนาการเด็กอายุ 8-12 เดือน และพัฒนาการที่ควรสงสัยว่าผิดปกติ ช่วงนี้ลูกจะเคลื่อนไหวมากขึ้นทุกวัน
คุณพ่อคุณแม่จะเห็นลูกพัฒนาขึ้น จนสุดจะปลาบปลื้มและท้าทาย ลูกจะเคลื่อนไหวจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เขาจะสนุกและภูมิใจที่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวตามที่อยากจะไปได้ตามใจ แต่ก็ยังอยากให้มีแม่อยู่ใกล้ และแม่ก็ยังจะต้องดูแลใกล้ชิด พร้อมที่จะช่วยเหลือประคับประคองให้ลูกปลอดภัย

พัฒนาการปกติการเคลื่อนไหว หรือ การเปลี่ยนท่า
- นั่งเองได้อย่างมั่นคง
- คลานไปข้างหน้าได้ หรือกระเถิบไปได้
- วางตัวในท่าคุกเข่า เอามือยันพื้นได้
- เปลี่ยนท่าจากท่านั่งเป็นท่าคลานได้
- เกาะยืนได้
- เดินโดยการเกาะจับได้
- เดิน 2-3 ก้าว ได้เอง

สงสัยพัฒนาการผิดปกติ มีอาการดังนี้
- ยังไม่คลาน
- ลากขาข้างใดข้างหนึ่งเวลาคลาน แสดงว่าขาข้างนั้นเคลื่อนไหวได้ไม่ดี
- ยังไม่ยอมยืน เมื่อจับให้ยืน
- ไม่ค้นหาของเล่นเมื่อนำไปซ่อน ในขณะที่เด็กเห็นแล้วว่าซ่อนที่ไหน
- ไม่เรียกพ่อแม่ เมื่ออายุ 1 ปี
- ไม่เรียนการทำท่าทาง เช่น โบกมือ บ๊ายบาย สั่นศีรษะ
- ไม่ชี้ที่รูป หรือสิ่งของ

พัฒนาการด้านอื่นๆที่ปกติมีดังนี้
การใช้มือและนิ้ว
- หยิบของโดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้
- เอาแท่งเหลี่ยมมาตีกระทบกันได้
- ใส่ของลงในกล่องได้
- เอาของออกจากกล่องได้
- ปล่อยของออกจากมือโดยสมัครใจ
- เอานิ้วชี้แหย่รูได้ (ซึ่งต้องระวังอย่าให้แหย่ปลั๊กไฟ)

ด้านภาษา
- สนใจฟังเวลาแม่พูด
- ตอบสนองต่อคำสั่งง่าย
- หยุดเมื่อบอกว่า “อย่า”
- สั่นศีรษะปฏิเสธได้เมื่อไม่ต้องการ
- ทำเสียงที่ยังไม่มีความหมาย
- เรียก พ่อ แม่ได้
- พยายามพูดตามบางคำ

ด้านความจำและการเรียนรู้
- ทดสอบของด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เขย่า โยน หรือปล่อยของให้หล่น
- ค้นหาของที่ซ่อนไว้ได้โดยง่าย
- มองหรือชี้รูปได้ถูกต้องเมื่อบอกชื่อ
- เริ่มใช้ของใช้ต่าง ๆ ได้ถูก เช่น แปรงใช้แปรงฟัน ถ้วยมีไว้สำหรับดื่มน้ำ
- ยกโทรศัพท์มาแนบที่หู

ด้านสังคมและอารมณ์
- ขี้อายหรือตื่นตระหนก เมื่อพบคนแปลกหน้า
- ร้องตาม พ่อ แม่
- แสดงให้เห็นว่า ติดคนเลี้ยงหรือชอบของเล่นเฉพาะ
- ทดสอบว่า พ่อแม่ จะตอบสนองอย่างไร ถ้าเขาไม่กินอาหาร หรือร้องตาม
- แสดงอาการติดแม่หรือร้องตามเสียง
- ทำเสียงหรือแสดงท่าทาง ให้พ่อแม่สนใจ
- ใช้นิ้วหยิบอาหารกินเอง
- ยืดแขน ขา เวลาแม่ใส่เสื้อกางเกงให้ ใส่เสื้อผ้า

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วัคซีนไข้หวัดใหญ่...เพื่อใคร เด็กหรือผู้ใหญ่

วันอาทิตย์ที่จะถึง คุณหมอเด็กแนะนำให้ลูกรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ ok มองว่าถ้าเป็นมาแล้วเด็กอาจจะเป็นปอดบวม และอาจจะลุกลามถึงหูชั้นกลางก็ได้ กันไว้ก่อน หาข้อมูลอ่านเจอ ตามหัวข้อเอามาให้อ่านกันเก็บไว้เป็นข้อมูลสำหรับคนเลี้ยงลูกอย่างเรา ครับ

โรคไข้หวัดใหญ่อาจก่อโรครุนแรงได้ในผู้ที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างสม่ำเสมอ แต่ยังเป็นข้อโต้แย้งกันว่าสำหรับเด็ก วัคซีนมีความจำเป็นเพียงใด ปัจจุบันแนะนำให้ใช้เฉพาะในเด็กที่มีโรคประจำตัว (เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคหอบหืด โรคเอดส์ เป็นต้น)

ส่วนการใช้วัคซีนสำหรับเด็กเล็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี อาจช่วยลดการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบและโรคปอดอักเสบได้ ควรศึกษาความคุ้มค่าในการนำมาใช้ในเด็กกลุ่มนี้


โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งจำแนกได้สามชนิดคือ ชนิดเอ บี และซี ชนิดเอทำให้เกิดโรคได้ในคนและสัตว์ ซึ่งทำให้การระบาดเกิดขึ้นได้บ่อย และมักเป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก สำหรับชนิดบีและซีก่อโรคเฉพาะในคนเท่านั้น การระบาดจึงอยู่ในวงจำกัดกว่า

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มักมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลียมาก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร และอาการหวัด บางคนอาจมีอาการรุนแรงต้องลางาน ขาดเรียน หรือต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาจจะมีอาการหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน โดยทั่วไปจะหายได้ในเวลา 5-7 วันหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็กเล็กอาจมีภาวะแทรกซ้อนของปอด สมอง และหัวใจได้

การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่พบได้เป็นประจำทุกปี เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้ตลอดเวลา เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของการระบาดในแต่ละครั้งจึงเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ช่วงเวลาของระบาดในแต่ละพื้นที่ยังมีไม่ตรงกันด้วยคือ ในแถบซีกโลกเหนือจะมีการระบาดในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-กันยายน) สำหรับประเทศไทยมักมีการระบาดเป็นสองช่วงคือ ช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และช่วงฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม)

ความน่ากลัวของไข้หวัดใหญ่คือ เคยเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกในปี พ.ศ. 2461 ซึ่งทำให้ผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 ล้านคน หลังจากนั้นมีการระบาดใหญ่เป็นระยะๆ ในปี พ.ศ.2500, 2511 และ 2520 เชื่อว่าอาจมีสาเหตุมาจากการกลับมาใหม่ของเชื้อในอดีตที่หลบซ่อนตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือจาการข้ามสายพันธุ์ของเชื้อในสัตว์มายังคน (เช่น ไข้หวัดนกที่ทำให้เกิดโรคในคน) หรือจากการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมของเชื้อระหว่างคนกับสัตว์ ซึ่งสร้างความวิตกกังวลว่าอาจเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรง และทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลกได้ในช่วงเวลาอันใกล้นี้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่


ปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีใช้กันมีสองชนิดคือ ชนิดฉีด และชนิดพ่นจมูก วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนเชื้อตายจำนวน 3 สายพันธุ์คือ ชนิดเอ 2 สายพันธุ์ และชนิดบี 1 สายพันธุ์ ในแต่ละปีวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะถูกผลิตขึ้นใหม่ โดยองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้พิจารณาคาดเดา และกำหนดว่าสายพันธุ์ใดน่าจะมีการระบาดในปีนั้น ๆ และแยกผลิตเป็นสองสูตร เพื่อประเทศในซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้ สำหรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกับเชื้อจากประเทศในซีกโลกใต้มากกว่า จึงแนะนำให้ใช้วัคซีนสูตรสำหรับประเทศในซีกโลกใต้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไปโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปีถ้าไม่เคยฉีดมาก่อน ในปีแรกให้ฉีด 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน หลังจากนั้นให้ฉีดเข็มเดียวในแต่ละปี สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ฉีดปีละครั้ง โดยทั่วไปวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 60-90 หรือหากเป็นโรค อาการของโรคมักไม่รุนแรง

แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ใช้ในกรณีพิเศษสำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ได้แก่ ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60-65 ปี) เด็กที่ต้องกินยาแอสไพรินเป็นเวลานาน ผู้ที่มีโรคประจำตัว (เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคเลือด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง) หญิงตั้งครรภ์ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่อาศัยในศูนย์เลี้ยงดูคนชรา หรือผู้ที่ทำงานเลี้ยงดูเด็กเล็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก ระยะหลังหลายประเทศได้แนะนำให้ใช้วัคซีนสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปีด้วย

หลังจากฉีดวัคซีนอาจมีอาการปวดบวมแดงร้อนเฉพาะที่ อาจมีไข้หรือปวดเมื่อยตามตัวได้นาน 1-2 วัน อาการข้างเคียงที่รุนแรงได้แก่ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งพบน้อยมากและในประเทศไทยยังไม่รายงานของอาการข้างเคียงนี้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกได้ แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้วัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคจากการดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับทำลายสัตว์ปีกที่สงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดนก โดยหวังป้องกันโอกาสที่โรคทั้งสองจะเกิดพร้อมกันในกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสทั้งสองชนิดมาผสมกันและเกิดการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม กลายเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่สามารถก่อโรครุนแรง และอาจแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลรอบข้าง


--------------------------------------------------------------------------------

จาก หนังสือ " วัคซีน....น่ารู้"
สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย