วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

น้ำหนัก ส่วนสูง และพัฒนาการของทารกอายุ 9-12 เดือน

เด็กวัยนี้เริ่มหัดเดิน หัดก้าว แต่ยังไม่มั่นคง เด็กเคลื่อนไหวมากขึ้น และสำรวจภายในบ้านมากขึ้น บางคนอาจมีน้องใหม่ ซึ่งจะต้องเตรียมตัวให้เด็กรู้จักเรื่องการมีน้อง เมื่อน้องเกิดจะได้ไม่มีปัญหาด้านอารมณ์

น้ำหนักและความยาวโดยประมาณ

อายุ 9 เดือน น้ำหนัก 8 กิโลกรัม ความยาวตัว 72 เซนติเมตร
อายุ 10 เดือน น้ำหนัก 8.5 กิโลกรัม ความยาวตัว 73 เซนติเมตร
อายุ 11 เดือน น้ำหนัก 8.8 กิโลกรัม ความยาวตัว 74 เซนติเมตร
อายุ 12 เดือน น้ำหนัก 9 กิโลกรัม ความยาวตัว 75 เซนติเมตร

พัฒนาการ
การทรงตัวและเคลื่อนไหว
เด็กสามารถนั่งได้มั่นคง คลาน เกาะยืน หัดตั้งไข่ ยืนเองได้-ชั่วครู่ เมื่ออายุ 12 เดือน จูงมือเดินได้ บางคนเดินได้เองอย่างมั่นคง

การใช้ตาและมือ
เด็กใช้นิ้วหยิบของได้ เริ่มหยิบของเล็กโดยใช้ นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ได้ มองตามของที่ตกจากมือ เปิดหาของที่ซ้อนไว้ได้

การสื่อความหมายและภาษา
เด็กฟังรู้ภาษาและเข้าใจสีหน้าท่าทางได้ ให้ของเวลาพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงขอ เปล่งเสียงเลียนแบบพยัญชนะ แต่ไม่มีความหมาย

อารมณ์และสังคม
วัยนี้จะเล่นจ๊ะเอ๋ได้ ตามไปเก็บของที่ตก รู้จักแปลกหน้า และร้องตามแม่ เมื่อแม่จะออกไปจากห้อง ใช้มือหยิบอาหารกินได้

*การเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการของเด็กแต่ละคนอาจเร็ว ช้าแตกต่างกันได้บ้าง หากสงสัยควรถามแพทย์

พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ในเรื่องต่อไปนี้
- ให้อาหารเพิ่มเป็น 3 มื้อ และบดอาหารให้หยาบขึ้นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่อ่อนนุ่ม เพื่อให้เด็กหัดเคี้ยว
- เริ่มให้เด็กถือช้อนเล็กที่ปลายมน หัดตักของข้น ๆ บ้างและให้หัดดื่มจากถ้วย
- ให้หยิบจับเล่นสิ่งของในบ้านที่ไม่มีอันตราย
- พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูควรเล่นกับเด็กบ่อย ๆ พูดคุยด้วย และทำท่าทางเล่นกับเด็ก เช่น จ๊ะเอ๋ จับปูดำ แมงมุม จ้ำจี้ ตบมือ
- ให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมครอบครัว เช่น มีเก้าอี้นั่งร่วมโต๊ะอาหารและให้โอกาสเด็กเล่นเองบ้าง แต่ต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา
- ระวังอุบัติเหตุในบ้าน เช่น พลัดตกจากบันได ปลั๊กไฟ การสำลักเม็ดผลไม้ ถั่ว และเม็ดยา
- พ่อแม่ควรสอนเด็กให้รู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ โดยบอกหรือทำท่าทางให้เด็กรู้ เช่น เมื่อเด็กทำสิ่งที่ไม่สมควรควรจับตัวไว้ มองหน้าและห้าม แต่เมื่อเด็กทำสิ่งที่ดีควรจะยิ้มกล่าวชมหรือกอดตบมือ
- ควรเว้นช่วงการมีลูกคนต่อไปประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้แม่มีสุขภาพดีและลูกแต่ละคนได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างเต็มที่
- บันทึกน้ำหนักความยาว และพัฒนาการของเด็กลงในสมุดสุขภาพ และนำติดตัวไป เมื่อพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพทุกครั้ง

กิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกให้ลูกวัยนี้
- หัดเคี้ยวอาหารที่หยาบขึ้น
- หัดดื่มน้ำ ดื่มน้ำผลไม้จากถ้วย
- หัดระเบียบ วินัย
- หัดให้เล่นกับพี่ ๆ

อ้างอิง...http://www.geocities.com/tooktaktai/w9.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น