วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างไรลูกเป็นอย่างนั้น

ความหมายของคำว่า “ลูก” มิใช่เป็นเพียงแค่ผู้สืบสายเลือดหรือดวงใจอันเป็นที่รักยิ่งของพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังเป็นผลิตผลทางจิตวิญญาณของพ่อแม่ด้วย และการที่ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคมได้หรือไม่ เป็นที่ยอมรับกันว่าขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูตั้งแต่เกิดจนเข้าสู่วัยรุ่นว่า ได้รับการเลี้ยงดูมาแบบใดสังคมยุคใหม่พ่อแม่มีทัศนคติ ค่านิยม และความคิดความอ่านเปลี่ยนไปจากเดิมและมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ทำให้พ่อแม่ในสังคมยุคใหม่มีรูปแบบและแนวทางในการเลี้ยงดูลูกที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปเรามักจะพบเห็นรูปแบบการเลี้ยงลูก 4 แบบ คือ การเลี้ยงแบบให้ความรักมากเกินไป โดยไม่มีขอบเขต การเลี้ยงแบบไม่ให้ความรักความเอาใจใส่เท่าที่ควร การเลี้ยงแบบประคบประหงม และแบบสุดท้ายคือ การเลี้ยงลูกแบบเจ้าระเบียบ และบังคับเด็กจนเกินไป

รักหนูมากไป...หนูจะเป็นแบบไหนนะการเลี้ยงลูกแบบรักลูกมากไป ตามใจจนไร้ขอบเขตเป็นวิธีที่พบมากในปัจจุบันที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก เมื่อมีเวลาใกล้ชิดก็อยากจะมอบความรักความอบอุ่นให้โดยการยอมตามที่ลูกขอแทบทุกครั้งไป
การทำอย่างนี้นอกจากจะขัดขวางไม่ให้ลูกเป็นตัวของตัวเองแล้วยังส่งผลให้ลูกมีนิสัยเห็นแก่ตัว รอคอยไม่เป็น อารมณ์ไม่มั่นคง ก้าวร้าว ไม่เห็นใจคนอื่นที่ต่ำกว่า เก็บกด ปรับตัวได้ไม่ดีต้องพึ่งผู้อื่นโดยเฉพาะพ่อแม่ตลอด ในกรณีที่รุนแรงลูกจะขาดคุณลักษณะที่สำคัญต่อการเรียนรู้และการทำงานในอนาคต ทำให้ในระยะยาวมีผลการเรียนที่ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง เนื่องจากขาดความเป็นตัวของตัวเอง ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการแข่งขันกับตัวเอง ขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ความอดทนและความรับผิดชอบ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะหงุดหงิด มีปัญหาทางอารมณ์ในระยะยาว

ประคบประหงมแบบนี้...ความรักหรือยาขมกันนะการเลี้ยงลูกแบบประคบประหงม วิตกกังวลหวาดกลัวไปต่างๆ นานา ว่าลูกจะป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโรค หรืออุบัติเหตุต่างๆ มักเกิดกับพ่อแม่ที่มีประสบการณ์ที่ไม่ดีในชีวิต โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกคนเดียว มีลูกยาก ไม่สามารถมีลูกได้อีกเนื่องจากการถูกตัดมดลูกหรือพ่อแม่ที่เคยสูญเสียลูกไปแล้วคนหนึ่งและไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงเฝ้าประคบประหงมไม่ให้ลูกผจญต่ออะไรมากนัก คอยติดตามและปกป้องอันตรายให้ลูกตอลดเวลา ไม่ให้ช่วยทำงานบ้าน ไม่มีการฝึกวินัย การทำแบบนี้มีผลดีบ้างตรงที่ลูกได้รับความรักความอบอุ่นเหมือนแบบแรก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำร้ายลูกอย่างไม่รู้ตัว เนื่องจากจะทำให้ลูกไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเอง ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เนื่องจากถูกปิดกั้นด้วยความรักของพ่อแม่ พ่อแม่ควรปรับความคิดใหม่คิดให้เหมือนเด็ก นึกถึงตอนที่เราเป็นเด็กว่าในวัยนี้เราต้องการอะไรจากพ่อแม่บ้าง และอย่าจมกับอดีต อย่าวิตกกังวลมากไป ให้ความมั่นใจกับตัวลูกว่าเขาสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ จะเป็นผลดีต่อการปูพื้นฐานการเรียนรู้ของลูกในอนาคต

เจ้าระเบียบบีบบังคับมากไป...ก็ไม่ดีนะแม่การเลี้ยงลูกแบบนี้ พ่อแม่จะเฝ้าควบคุมลูกอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ บางครอบครัวควบคุมไปถึงเรื่องส่วนตัวของลูก ทั้งเรื่องการทานอาหาร การขับถ่าย การออกกำลังกาย เหมือนการเลี้ยงลูกแบบทารกที่คอยควบคุมช่วยเหลือการทำงาน ควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ต้องการได้ คอยชี้แนะว่ากล่าวตักเตือนสม่ำเสมอ คอยแก้ปัญหาให้เกือบทุกด้าน ซึ่งจะส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด เก็บกดมีพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกและอาจเป็นเด็กเจ้าเล่ห์ในอนาคตหรืออาจเป็นเด็กก้าวร้าว จากการสะสมอารมณ์เก็บกดนั้นๆ

เอายังไงแน่แม่...หนูงงแล้วนะการเลี้ยงลูกแบบไม่สม่ำเสมอ ไม่ให้ความรักความเอาใจใส่เท่าที่ควร บางครั้งเข้มมาก บางครั้งตามใจ บางครั้งปล่อยปละละเลย พ่อแม่สอนลูกคนละแบบหรือขัดแย้งกัน เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกบ่อยๆ จนลูกไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าถึงผลแห่งการกระทำของตัวเอง ส่วนมากเกิดกับพ่อแม่ที่มีความเป็นเด็กอยู่ พ่อแม่ที่มีความเครียดมากหรือไม่มีเวลาให้ลูก มักมีการสอนหรือให้ข้อมูลที่สับสน ตีความหมายได้หลากหลายแก่ลูก การเลี้ยงลูกในลักษณะนี้จะทำให้ลูกเกิดความสับสน ขาดวินัย รักสบาย และขาดความยับยั้งชั่งใจ เนื่องจากจะปรับตัวเองตามลักษณะอารมณ์ของพ่อแม่ โดยในระยะแรกลูกจะแสดงออกเพื่อให้เป็นที่พอใจของพ่อแม่ แต่พอนานวันเข้าก็จะกลายเป็นความเคยชิน เกิดการทำโดยอัตโนมัติและไม่รู้สึกเดือดร้อน
เด็กที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน รูปร่าง หน้าตา นิสัยใจคอต่างกัน การที่พี่น้องท้องเดียวกัน แม้แต่ฝาแฝดก็มีความแตกต่างกันเพราะได้รับการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน รวมถึงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันด้วย ส่งผลให้สุขภาพจิตแต่ละคนแตกต่างกัน การอบรมเลี้ยงดูที่แตกต่างส่งผลต่อพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่แต่ละคนส่วนใหญ่จะอาศัยประสบการณ์ที่ถูกเลี้ยงดูมา การเรียนจากตำรา หรือการเห็นคนอื่นเลี้ยงมาประยุกต์ใช้ในแบบที่ตัวเองคิดว่าเหมาะสม แต่บางครั้งเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของพ่อแม่แต่ละช่วงก็ส่งผลให้การเลี้ยงดูลูกแตกต่างกันออกไป เกิดการเลี้ยงดูหลายแบบในครอบครัวเดียวกัน เราไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า แบบไหนดีไม่ดี หรือแบบไหนถูกแบบไหนผิด พ่อแม่ควรเลือกและปรับวิธีการดูแลเลี้ยงดูลูกตามความเหมาะสม

พ่อแม่มืออาชีพ...ต้องแบบนี้สิการอบรมเลี้ยงดูลูกที่ดีนั้น ไม่มีรูปแบบตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ และลูกจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับพ่อแม่ว่าวางกฎเกณฑ์หรือคุณค่าในเรื่องต่างๆ สูงแค่ไหน เช่น การลงโทษลูก การควบคุมเรื่องต่างๆ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นของลูกมีมากน้อยแค่ไหน รูปแบบการเลี้ยงลูกควรพิจารณาจาก

ความเท่าเทียมกันทางสังคมคุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักว่าลูกเรามีสิทธิ์ที่จะคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง อย่าเพิ่งตัดสินว่าลูกวัยนี้อายุยังน้อยตัดสินใจอะไรหรือทำอะไรไม่ค่อยเป็น ปล่อยให้ลูกได้คิด ได้ทำและตัดสินใจในสิ่งที่เขาสนใจ แม้ว่าลูกจะไม่ฉลาด ไม่มีประสบการณ์ ไม่แข็งแรงหรือไม่มีความรู้เท่าพ่อแม่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกรู้สึกภูมิใจและมั่นใจในตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ควรให้เกียรติในความคิดของลูก ไม่บังคับให้ทำตามความคิด ความเชื่อของพ่อแม่ ส่งเสริมลูกด้วยการจัดหาแนวทางและชี้นำเรื่องต่างๆ แก่ลูกอย่างเหมาะสม

ความรับผิดชอบร่วมกันเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว การร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำและตัดสินใจ หรือการทำข้อตกลงรับผิดชอบร่วมกัน บ้านที่มีความเป็นประชาธิปไตยควรมีทั้งอิสระ ขอบเขตและฝึกให้ลูกเรียนรู้ถึงความรับผิดชอบ เช่น การเก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จ การรับประทานอาหารที่ตรงเวลา การให้ลูกได้รับประสบการณ์จากผลการกระทำของเขาเป็นเทคนิคการฝึกที่มีพลังมาก ลูกมีอิสระที่จะเลือกและได้รับประสบการณ์จากผลของการกระทำของตัวเอง เช่น ลูกไม่ยอมรับประทานอาหารจะรู้สึกหิว หรือเล่นมากไปจนกลับมาไม่ทันมื้ออาหารเย็น เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ลูกจะเรียนรู้ถึงพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำเพราะรางวัลหรือถูกลงโทษ แต่จะทำเพราะว่าได้รับรู้ถึงผลเสียของการกระทำนั้นๆ และในขณะที่พยายามพัฒนาความรับผิดชอบของลูก พ่อแม่ต้องไม่พยายามเข้าไปช่วยลูกโดยไม่จำเป็นจริงๆ เพราะจะทำให้ลูกมีความรู้สึกรับผิดชอบลดลง

ความร่วมแรงร่วมใจกันครอบครัวที่มีการแข่งขันกันทำให้เกิดความแตกต่างของลูกแต่ละคนอย่างเห็นได้ชัด อาจทำให้ลูกคนที่สู้คนอื่นไม่ได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อรั้น ไม่ยอมร่วมกิจกรรมในบ้าน ไม่มีเพื่อน สุดท้ายจะพบความล้มเหลวด้านการเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนทัศนคติทั้งตัวเอง และลูกจากการแข่งขันเป็นร่วมมือช่วยเหลือกัน สอนลูกให้มีความเมตตา มีน้ำใจช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า จะช่วยให้คนๆ นั้นมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตในอนาคต

ความมีวินัยในตัวเอง พ่อแม่ที่มักสอนให้เรามีความรับผิดชอบโดยการให้รางวัลและการลงโทษ จะส่งผลให้ลูกเรียนรู้ว่าพ่อแม่และคนอื่นมีผลต่อพฤติกรรมของเขา เมื่อใดที่ไม่มีคนอื่นอยู่ด้วยลูกจะมีพฤติกรรมที่ไม่ดี เพราะไม่มีคนคอยดูหรือคอยสอนให้ทำดี ถ้าพ่อแม่ต้องการให้ลูกทำดี โดยสมัครใจด้วยแรงกระตุ้นภายในตัวเด็กเอง ไม่ใช่จากการถูกลงโทษหรือให้รางวัลได้ พ่อแม่ควรฝึกให้แรงกระตุ้นและแรงเสริมเป็นอย่างอื่น เช่น การชมเชย การกอดลูก เมื่อลูกเกิดความรับผิดชอบโดยสมัครใจ รู้สึกอยากทำสิ่งต่างๆ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้อควบคุม นั่นคือพ่อแม่สามารถสร้างบทบาทของการมีวินัยในตนเองให้ลูกได้สำเร็จ

แบบนี้เรียกว่า...พ่อแม่รังแกหนู ในขณะที่พ่อแม่พยายามเลี้ยงลูกให้พร้อมที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ ในสังคม เป็นการวางรากฐานให้ลูกออกสู่โลกกว้าง เมื่อโตขึ้นได้อย่างเหมาะสมด้วยประสบการณ์ของตัวลูกเอง บางครั้งพ่อแม่อาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่ไม่เอาไหน หรือด้วยสำนึกของความเป็นพ่อแม่ จึงพยายามเข้าไปช่วยลูก เช่น ช่วยแต่งตัว ช่วยทำการบ้าน ช่วยป้อนข้าว การทำอย่างนี้ไม่เหมาะสมนะคะ เพราะแทนที่ลูกจะพัฒนาตัวเองกลับมีพฤติกรรมถดถอยได้ ซึ่งการอบรมเลี้ยงดูลูกที่ไม่เหมาะสมมีหลายปัจจัยด้วยกัน
• การอบรมสั่งสอนลูก ไม่ ควรเป็นการเทศนา เพราะลูกวัยนี้ไม่สามารถเข้าใจทุกอย่างที่พ่อแม่สอนได้ในเวลาเดียวกัน และจะทำให้ลูกเบื่อหน่ายไม่สนใจฟัง ทำให้เกิดผลเสียทั้ง 2 ฝ่าย พ่อแม่อารมณ์เสียและลูกเกิดความเครียด เก็บกด เพราะไม่สามารถแสดงความโกรธออกมา ดังนั้น พ่อแม่ควรสอนลูกด้วยเหตุผลที่สั้น ชัดเจนและเข้าใจง่าย และไม่ควรหลอกหรือหยอกล้อลูกในทางที่ไม่ควร เพราะจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกกลัวโดยไร้เหตุผล อีกทั้งเป็นการขัดขวางความอยากรู้อยากเห็นของลูก ทำให้ลูกขาดความน่าเชื่อถือและไว้วางใจในตัวพ่อแม่ด้วย
• การดุด่าและการขู่ลูก เป็นอีกพฤติกรรมที่ไม่ควรนำมาใช้ โดยเฉพาะการดุด่ากลางที่สาธารณะ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากลูกจะเกิดความอาย เครียดและอาจเกลียดพ่อแม่ได้ รวมถึงการพูดจาเสียดสี เหน็บแนมหรือถากถางลูกโดยหวังผลให้ลูกปรับปรุงพฤติกรรม อย่าใช้กับลูกเด็ดขาด โดยเฉพาะลูกวัยนี้เขาไม่เข้าใจความหมายแฝงของคำเหล่านั้นหรอกค่ะ รังแต่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่า ตัวเองทำถูกอีกทั้งลูกอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องถูกต้องและนำสิ่งที่ได้เห็นจากพ่อแม่ไปใช้กับคนอื่นด้วย
• การติดสินบนลูก นิยมมากในกลุ่มพ่อแม่ที่ไม่ต้องการความยุ่งยากในการสอน หรือต้องการหยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการในตัวลูก พ่อแม่ควรเปลี่ยนความคิดและมุมมองใหม่ดีกว่าค่ะ เพราะการทำแบบนี้จะทำให้ลูกทำความดีได้เพียงชั่วครู่เท่านั้น แต่ไม่สามารถติดตัวจนกลายเป็นนิสัยได้ ในทางตรงข้ามอาจเป็นการบ่มเพาะนิสัยที่ไม่ดีให้ลูกทำดีเพื่อหวังผลตอบแทนเท่านั้น

สอนลูกสร้างทางเดินอย่างเหมาะสม
ไม่ว่าจะเลี้ยงลูกแบบใด ล้วนมีผลต่อความคิดความอ่าน และพฤติกรรมของเด็กทั้งสิ้น การที่ลูกจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการสั่งสมประสบการณ์ การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่มาตั้งแต่เล็กจนถึงวัยรุ่น พ่อแม่ที่เลี้ยงดู อบรม สั่งสอนลูกด้วยความรัก ความอบอุ่น ให้กำลังใจ ให้ความยุติธรรม ยอมรับในความสามารถของลูกและพร้อมที่จะให้การสนับสนุน และส่งเสริมความสามารถพิเศษที่มีในตัวของลูก ลูกจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีมานะ อดทน เข้าใจชีวิต มีความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข หากพ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างขาดความรัก ความเข้าใจ มุ่งแต่ใช้การตำหนิติเตียน เมื่อลูกโตขึ้นมักจะเป็นคนล้มเหลวในชีวิต การเลี้ยงลูกด้วยความก้าวร้าว มักจะพบว่าเมื่อลูกเติบโตจะกลายเป็นคนที่มีนิสัยแข็งกร้าว หยาบกระด้าง ในการแก้ปัญหามักจะใช้กำลังมากกว่าเหตุผล พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยคำเย้ยหยันให้ลูกเกิดความอับอาย นำลูกไปเปรียบเทียบกับเด็กอื่นที่ประสบความสำเร็จ เมื่อโตขึ้นลูกจะเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออกและหวาดระแวง
การเลี้ยงลูกด้วยทางสายกลางเป็นวิธีที่ควรทำมากที่สุด คือ การให้ความรัก ความอบอุ่น ความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด การยอมรับลูกเป็นสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง มีความสม่ำเสมอในการอบรมเรื่องต่างๆ รวมถึงการสร้างระเบียบวินัยที่ไม่ย่อหย่อนหรือเคร่งครัดจนเกินไป ให้ความยุติธรรมต่อลูกทุกคนด้วยความเสมอภาคกัน สิ่งนี้จะเป็นเครื่องหล่อหลอมเด็กให้เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และเติบโตไปเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศ

[ ที่มา... นิตยสารบันทึกคุณแม่ ปีที่ 11 พฤศจิกายน 2547 ]

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สร้างศักยภาพสมองให้ลูก

ทารกรับรู้กลิ่นและรสได้อย่างไรนะเป็นข้อสงสัยที่นำไปสู่การศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบชองบรรดานักวิทยาศาสตร์ค่ะ โดยเขาเห็นว่าการรับรู้เรื่องกลิ่นและรสของทารกนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าประสาทสัมผัสด้านรับรู้กลิ่นของทารกนั้นจะพัฒนาอย่างรวดเร็วหลังคลอดค่ะ โดยเฉพาะในสัปดาห์แรกของชีวิต ทารกสามารถจดจำกลิ่นของแม่ตนเองได้อย่างแม่นยำทีเดียว ซึ่งการศึกษาชิ้นหนึ่งบอกว่าทารกอายุ 5 วัน สามารถแยกแยะที่ซับน้ำนมแม่กับนมชนิดอื่นได้ด้วย ผลดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์สรุปกันว่าสำหรับทารกน้อยนั้น ประสาทสัมผัสด้านการรับรู้เรื่องกลิ่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ของทารกค่ะ
ส่วนการศึกษาด้านการรับรู้รสชาติของทารกน้อยนั้นเขาไปสังเกตปฏิกิริยาของทารกหลายคนๆ โดยการให้ดมกลิ่นที่แตกต่างกัน พบว่าทารกจำนวนมากเลยที่แสดงอาการชอบกลิ่นมะนาว นักวิทยาศาสตร์บอกว่าตั้งแต่เกิดทารกก็สามารถรับรู้รสชาติ 3 ใน 4 รสหลักแล้วนั่นคือ รสหวาน รสเปรี้ยว และรสขม แต่ดูเหมือนทารกจะชอบรสหวานมากที่สุด ส่วนรสเค็มนั้น ทารกยังแยกไม่ออกหรอกค่ะ เพราะเขาลองให้ทารกดูดน้ำเกลือ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทารกกินน้ำเกลือเหมือนกับกินน้ำเปล่าเลยล่ะนักวิทยาศาสตร์บอกว่าราวอายุ 4 เดือนค่ะ ประสาทสัมผัสการรับรู้รสเค็มที่ลิ้นของทารกถึงจะทำงาน ตอนนั้นทารกจึงจะสามารถแยกแยะรสเค็มได้
สำหรับพัฒนาการด้านประสาทสัมผัสรับรู้เรื่องกลิ่นและรสชาติของทารกนั้น จะพัฒนาไปตามการเลี้ยงดูและประสบการณ์ทารกได้รับค่ะถ้าเขามีโอกาสได้กินอาหารที่รสชาติหลากหลาย ลูกน้อยก็จะเติบโตเป็นคนที่ไม่ติดในรสชาติหลากหลาย ลูกน้อยก็จะเติบโตเป็นคนที่ไม่ติดในรสชาติใดรสชาติหนึ่งเพียงรสเดียว และจะทำให้เป็นคนกินง่าย
อย่างไรก็ตามอาหารที่คุณแม่กินเข้าไปนั้น สามารถทำให้รสชาติน้ำนมแม่เปลี่ยนไปได้ ดังนั้นจงควรสังเกตปฏิกิริยาการดูดของลูกน้อยด้วยค่ะ หากลูกไม่อยากดูดนมแม่ สาเหตุหนึ่งอาจอยู่ที่อาหารที่คุณแม่กินในช่วงนั้นก็เป็นได้
สอนลูกด้วยบัตรภาพ…บัตรคำ
รู้จักและเคยเห็นกันใช่ไหมคะ เจ้าบัตรคำบัตรภาพ ที่ว่านี่ เขาว่ากำลังเป็นเรื่องฮิตในหมู่คุณแม่ลูกเล็กชาวอเมริกันเลย โดยเขานำมาสอนลูกตั้งแต่ก่อนที่ลูกจะพูดได้เสียอีก ผลที่ได้น่ะหรือคะ ความสามารถในด้านการจำภาพของทารกจะพัฒนามาก พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อจะดี เพราะทารกใช้นิ้วและมือน้อยๆ นั้นพยายามหยิบบัตรคำ บัตรภาพขึ้นมาเพื่อสื่อสารแต่พัฒนาการด้านการพูดกลับน้อย แล้วก็ดูเหมือนว่าคุณแม่เหล่านี้จะไม่ค่อยสนใจค่ะ ด้วยเห็นว่าการชวนลูกดูบัตรคำ บัตรภาพจะช่วยให้ลูกหลานหยุดงอแง
คุณแม่ท่านหนึ่งซึ่งเริ่มสอนลูกบัตรคำบัตรภาพตั้งแต่ลูกแฝดอายุแค่ 2-3 เดือน บอกว่าลูกชายของเธอสนใจและสามารถเลือกสื่อสารโดยการหยิบบัตรคำบัตรภาพเหล่านั้น ที่สำคัญคือตัวพ่อแม่ต้องสามารถตอบสนองกับสิ่งที่ลูกสื่อสารผ่านบัตรเหล่านั้นให้ได้ ตอนนี้ลูกของเธออายุ 2 ขวบครึ่งแล้ว และใช้ทั้งบัตรคำบัตรภาพและการพูดเพื่อสื่อสารกับคนรอบตัว
นักวิชาการที่สนใจเรื่องการสื่อสารผ่านบัตรคำบัตรภาพบอกว่า “พ่อแม่ส่วนใหญ่จะเล่นตั้งคำถามกับลูกตั้งแต่วัยขวบสองขวบอยู่แล้ว ดังนั้นการใช้บัตรคำภาพนี้จึงเป็นเรื่องเสริมที่ช่วยให้พ่อแม่รู้ว่าลูกน้อยต้องการกล้วยไม่ใช่ขนมปังขณะที่ยังพูดได้แค่อูอาอา”
อย่างไรก็ตามมีการวัด IQ เด็กที่เรียนรู้เรื่องบัตรคำบัตรภาพไปพร้อมกับการพูด พบว่ามีคะแนน IQ สูงกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน แต่กระนั้นนักภาษาศาสตร์ต่างก็เป็นห่วงค่ะ เพราะการเน้นไปที่การสอนเรื่องบัตรคำบัตรภาพของพ่อแม่นั้น อาจทำให้พ่อแม่ไม่ทันสังเกตพัฒนาการด้านการพูดของลูกน้อยว่าดี เหมาะสมกับวัยหรือไม่และอาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการพูดตามมาในภายหลังได้
หยิบยกเรื่องนี้มาเล่าต่อ เพราะเป็นห่วงเหมือนกันค่ะ เนื่องจากเจ้าบัตรคำภาพนี้ ก็ฮิตฮอตในบ้านเราก็ไม่ใช่เล่น เอาเป็นว่าถ้าบ้านไหนจะใช้ก็ให้ใช้อย่างเหมาะสมนะคะ และสอดคล้องกับพัฒนาการในทุกด้านของลูกด้วยค่ะ
จริงหรือ… ที่ทารกเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเรียนรู้ทุกๆ ภาษาในโลก ?
จริง…เพราะสมองของทารกนั้นมีเซลล์ประสาทที่พร้อมเรียนรู้ภาษา เพราะเป็นความมหัศจรรย์ที่ทารกเกิดมาพร้อมความสามารถที่ไม่ใช่แค่เรียนรู้เพียงภาษาใดภาษาหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถเรียนรู้ทุกภาษาในโลก ในงานศึกษาวิจัยของแพทริเซีย คูฮ์ล แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ระบุไว้ว่า “ทารกนั้นเป็นประชากรของโลก เพราะสามารถเข้าใจเสียงและรูปแบบประโยค ของภาษาที่แตกต่างกันทั่วโลก" โดยเธอยกตัวอย่างว่า ตั้งแต่เกิดทารกญี่ปุ่นก็สามารถแยกแยะเสียงระหว่าง R และ L ได้แม้จะมีแต่เสียง R ที่ใช้กันอยู่ในญี่ปุ่นก็ตาม ซึ่งทารกจะสามารถแยกแยะเสียงดังกล่าวได้ไปจนถึงอายุ 6 เดือนค่ะ พออายุ 12 เดือน ก็จะไม่พบความสามารถดังกล่าวแล้ว เพราะแม้ตอนที่ทารกอายุยังอยู่ในครรภ์แม่นั้น ทารกก็พยายามหันหาเสียงแม่ยามแม่ร้องเพลงกล่อม นั่นแสดงว่าเซลล์สมองของทารกและลอกเลียนภาษาแล้ว เพราะทารกเรียนรู้ที่จะพูดด้วยการฟังภาษาและสื่อภาษาตรงจากการพูดคุย เพราะระหว่างอายุ 6-12 เดือน ทารกเริ่มค้นพบความสามารถในการเข้าใจเสียงพูดของภาษาพ่อแม่แล้วล่ะค่ะ
ยิ่งเรียนสูง สมองยิ่งกระฉับกระเฉงไม่ได้พูดเล่นๆ นะคะ มีงานวิจัยมายืนยันนั่งยันด้วย เรื่องนี้ดร. เชอริล แอลเกรดี จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ออนทาริโอ บอกว่าถ้าเราสังเกตคนที่มีการศึกษาสูงๆ เราจะเห็นลักษณะบางอย่างควบคู่ด้วยเสมอ เช่น การมีสุขภาพที่ดี มีงานอดิเรกทำมีเวลาว่างสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสภาพดังกล่าวนี่ล่ะที่มีผลต่อการเรียนรู้และการทำงานอย่างกระฉับกระเฉงของสมอง ดร. เกรดีและทีมงานได้ใช้เครื่อง MRI เพื่อสแกนดูการทำงานของสมองของกลุ่มหนุ่มสาว 14 คนอายุระหว่าง 18-30 ปี และกลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 19 คน เพื่อดูว่าอายุมีความสมพันธ์อย่างไรกับการศึกษาและการทำงานของสมอง ในกลุ่มคนสูงอายุ ซึ่งมีการศึกษาสูงนั้นจะพบการทำงานที่กระฉับกระเฉงของสมองส่วนฟรอนทัลโลบ ขณะที่กลุ่มคนสูงอายุแต่มีการศึกษาน้อย จะพบการทำงานของสมองส่วนอื่น ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวจะให้ผลตรงกันข้ามในกลุ่มคนหนุ่มสาว
ดร.เกรดีสรุปถึงผลการศึกษาที่ค้นพบนี้ว่า การทำงานของสมองส่วนต่างๆ ของคนเรานั้นสัมพันธ์กันระดับของการศึกษาและความสามารถในการจำตามระดับของอายุด้วย ทั้งยังเห็นว่าการทำงานของสมองของคนเราอย่างกระฉับกระเฉงนั้นสะท้อนในกลุ่มคนสูงอายุที่มีระดับการศึกษาสูงค่ะ
เอ้า… เพื่อให้สมองของเราดี ต้องขยันเรียนเข้าไว้ค่ะ ที่สำคัญอย่างที่เขาพูดกัน… ไม่มีใครแก่เกินเรียนหรอก… นะคะ

เขียนโดย มนต์ชยา

[ ที่มา..นิตยสารรักลูก ปีที่ 24 ฉบับที่ 282 กรกฎาคม 2549 ]

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

น้องสาวน้องแพรวา สัปดาห์ที่ 26 แล้วครับเลยครึ่งทางแล้ว

ทารกในครรภ์จะเคลื่อนไหวคล่องแคล่วมากขึ้น และมีการตอบสนองต่อ สัมผัสและเสียงดังๆ ภายนอก ถ้าได้ยินเสียงดังจากข้างนอก จะทำให้ ทารกเตะ หรือกระโดดได้ ทารกกลืนน้ำคร่ำและถ่ายปัสสาวะลงในน้ำ คร่ำประมาณวันละ 500 ซีซี บางครั้งทารกสะอึก และคุณแม่เองก็ สามารถรู้สึกถึงอาการสะอึกของลูกได้เช่นกัน ทารกเริ่มตื่นและหลับ เป็นเวลา และบ่อยครั้งทีเดียวที่แตกต่างไปจากเวลาของคุณแม่ เมื่อ คุณแม่จะเข้านอนในกลางคืนอาจเป็นเวลาที่ลูกตื่นและเริ่มเตะ ถีบ

การเต้นของหัวใจของทารกสามารถได้ยินผ่านเครื่องสเตรปโตสโคป แล้ว คุณพ่อเองถ้าเอาหูแนบท้องคุณแม่ดีๆ ก็จะได้ยินเสียงหัวใจของลูก เต้นเช่นกัน ในระยะนี้ผิวหนังของทารกจะถูกหุ้มด้วยไขสีขาวเรียกว่า "vernix" ซึ่งเชื่อว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องให้ผิวลูกอ่อนนุ่มขณะที่ยังลอย ตัวอยู่ในน้ำคร่ำ ไขสีขาวนี้จะจางหายไปก่อนที่ลูกจะคลอดออกมา

ในระยะสัปดาห์ที่ 24 ถ้าลูกคลอดตอนนี้ก็อาจมีโอกาสที่จะมีชีวิตรอดได้ ถ้าได้รับการดูแลเป็น พิเศษ เนื่องจากจะมีปัญหาเรื่องการหายใจ และอุณหภูมิร่างกายต่ำ ถ้า คลอดก่อนหน้านี้โอกาสที่ลูกจะมีชีวิตรอดเป็นได้ยากเพราะว่าปอดและ อวัยวะส่วนสำคัญๆ ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เพียงพอ

ในระยะสัปดาห์ที่ 26 เปลือกตาลูกจะเปิดเป็นครั้งแรก เท่ากับว่าลูกเริ่มลืมตาและมองเห็นได้ แล้ว ความยาวของลูกในช่วง 30 สัปดาห์จะประมาณ 24 ซม.